'อเมริกันสไตล์' ในยุค 'บิ๊กแดง' ถึงเวลายกเครื่องกองทัพบก


เพิ่มเพื่อน    

              ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยังดำรงตำแหน่ง  เลขาธิการสำนักงานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เลขาฯ คสช.) และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ทำให้ภารกิจของ ทหารต้องทำงาน “หลายหน้า” โดยเฉพาะในงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้ประชาชน

                เมื่อมีรัฐบาลใหม่ กองทัพบกจึงได้หันกลับมาเร่งเครื่องพัฒนา ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย สอดคล้องกับภัยคุกคามของสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป สานต่อจากช่วงที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสุขภาพร่างกาย ระเบียบวินัย และทักษะด้านภาษาอังกฤษ เพื่อเรียนรู้ปรับตัวในการทำงานกับกองทัพมิตรประเทศ 

ต่อจากนั้นเมื่อปลายปี 2561 ก็เป็นจังหวะที่ “บิ๊กแดง”  พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. มีอายุราชการอีก 2 ปี จึงมีแนวคิดในการพัฒนากองทัพตั้งแต่ระดับเริ่มต้น โดยมีดำริปรับหลักสูตรฯ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ ให้ทันสมัย สร้างความเข้าใจหลักนิยมทางทหารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกองทัพบกของไทยก็ยึดตามแบบของสหรัฐมาร่วม 30 ปี และสหรัฐเองก็ได้มีการปรับหลักนิยมของตัวเองมาถึง 3 ครั้ง โดยยึดจากประสบการณ์การรบในสมรภูมิต่างๆ ตั้งแต่สงครามอ่าวสงครามอิรัก  รวมไปถึงพื้นที่การสู้รบในตะวันออกกลาง

                แนวคิดดังกล่าวมาจากประสบการณ์ตรงของ พล.อ.อภิรัชต์เองที่เดินทางไปศึกษาระดับชั้นนายพัน ในสหรัฐและเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นต้นมา ยังมีความต่อเนื่องในการเดินทางไปศึกษา แลกเปลี่ยนดูงาน ในระดับของกองทัพภาคก็เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นรัฐบาลช่วง “รัฐประหาร” ก็ตาม

                จนเป็นที่รู้กันว่า “บิ๊กแดง” นั้นมีความใกล้ชิดด้านการทหารกับสหรัฐ แม้กระทั่งงานเลี้ยงเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐที่สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยจัดขึ้น พล.อ.อภิรัชต์ก็เดินทางไปร่วมงานตามคำเชิญด้วยตนเอง นอกจากนั้น ยังเคยให้สัมภาษณ์ชื่นชมบทบาทของสหรัฐ โดยระบุว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย ส่งหนังสือแสดงความยินดีกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา       

ทั้งนี้ การริเริ่มพัฒนากองทัพมีความชัดเจนเมื่อ พ.อ.หญิง ฉัตรรพี พรศรี รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย แถลงภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้รับทราบการปรับปรุงโครงสร้างและเสริมสร้างหน่วยกำลังรบของกองทัพบกเพื่อใช้เป็นหน่วยต้นแบบในอนาคตโดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างหน่วยกำลังรบระดับกรม ให้เป็นหน่วยที่มีความกะทัดรัดทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ได้พิจารณาเปรียบเทียบกับการจัดหน่วยแบบกองพลน้อยของสหรัฐ ออสเตรเลีย (Brigade Combat Team : BCT) โดยนำไปประยุกต์ให้มีความเหมาะสมกับกองทัพบก

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำอัตราการจัดและ ยุทโธปกรณ์ของหน่วยดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ควบคู่กับการพิจารณาจัดหายานเกราะที่เหมาะสม เข้าประจำการเพื่อให้กองทัพบกมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจการป้องกันประเทศรวมถึงภารกิจอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งกองพลทหารราบที่ 11 จะเป็นหน่วยต้นแบบในการจัด โดยมียานเกราะล้อยาง "สไตรเกอร์" จากประเทศสหรัฐเข้าประจำการจำนวนทั้งสิ้น 37 คัน และสหรัฐแถมให้ไทยอีก 23 คัน รวมเป็น 60 คัน โดยจะทยอยส่งให้กองทัพบกไทยในช่วงเดือนกันยายนนี้

ซึ่งการจัดก็คงไม่เหมือนตามแบบของสหรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นการผสมผสานให้มีความใกล้เคียง และพึ่งพาเครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศเข้าผสมผสาน เพราะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ไม่สามารถที่จะทำได้ตามแบบประเทศมหาอำนาจได้ทั้งหมด  

ทางด้านสหรัฐเองเตรียมให้ทุน International Military Education (IMET) กับกองทัพอีกครั้งในเดือนกันยายนนี้  หลังจากที่ได้ระงับไปช่วงก่อนหน้านี้ โดยกองทัพบกอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสม และผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษจาก  คณะที่ปรึกษาทางด้านการทหารสหรัฐประจำประเทศไทย (จัสแมกไทย) ก่อนที่จะเดินทางไป ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยนำทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ 1-2 ปีไปทดสอบ ปรากฏว่าผ่านการทดสอบแค่ 1 ใน 5 เท่านั้น จึงมีแนวทางในการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษให้กำลังพลมากขึ้น ทั้งนี้ กองทัพบกจะจัดงบประมาณการศึกษาด้านการทหารไว้เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้บุคลากรที่เดินทางไปศึกษาต่างประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อบุคลากรที่เดินทางไปศึกษาเหล่านั้น กลับมาใช้ความรู้ต่อยอดแนวทางการพัฒนากองทัพที่ได้วางไว้ในยุคต่อๆ ไป

                สำหรับภารกิจด้านทหารที่ไม่ใช่สงคราม หรือที่เรียกว่า MOOT War (Military Operations Other Than War)  กองทัพบกกำลังจัดหน่วยงานให้เป็นสัดส่วนเพื่อเข้ามารับผิดชอบงานส่วนนี้ โดยจะโอนไปให้กองทัพน้อยทั้งหมดของ 4 กองทัพภาค สามารถสั่งการ ประสานงานหน่วยระดับมณฑลทหารบกได้โดยตรง ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่กองทัพจะเชื่อมโยงกับประชาชนด้วยภารกิจของการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา สนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานอื่น

                ขณะที่การเข้มงวดกวดขันต่อผู้บังคับหน่วยทุกระดับชั้น ในการดูแลเรื่องการปฏิบัติของกำลังพลในหน่วย การฝึกทหารใหม่ ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบ กฎเกณฑ์ ไม่ให้เกิดภาพความรุนแรง หรือมีการนำพฤติกรรมการฝึกที่ไม่เหมาะสมไปเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะถูกลงโทษไปถึงระดับผู้บังคับหน่วยขึ้นไปด้วย

                เลยไปถึงการดำรงตนของกำลังพลทุกชั้นยศ ไม่ว่าจะเป็นทหารสัญญาบัตร ประทวน ให้อยู่ในระเบียบ วินัย เครื่องแบบ ทรงผม การแสดงความเคารพ ต้อง เป๊ะ 

                การเปลี่ยนแปลงในยุค “บิ๊กแดง” ถือเป็นภารกิจโดยตรงของผู้ที่มาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ที่ควรต้องทำ เพราะสภาพการณ์ปัจจุบันทั้งการจัดหน่วยรูปแบบการฝึก ซ้ำเดิมทุกปีโดยเฉพาะตัวแบบของ "ข้าศึก” ภัยคุกคาม และพื้นที่การสู้รบ ในขณะเดียวกัน ภาพจำของคนส่วนใหญ่กองทัพบกผูกโยงกับอำนาจทางการเมือง มีความล้าหลัง เล่นพรรคเล่นพวก มีความเป็นอภิสิทธิ์ชน การกลับมา “รื้อถอนสิ่งเก่า” ซึ่งไม่จำเป็น และ “ริเริ่มเดินหน้า” ในเรื่องสิ่งใหม่ๆ   จึงเป็นแนวทางที่ควรจะเป็น

                ที่สำคัญเป็นยุค “บิ๊กแดง” มาเป็น ผบ.ทบ.พอดี ซึ่งมีความเป็น “อเมริกันสไตล์” สอดคล้องกับการกลับมาของสหรัฐในภูมิภาคนี้ ที่พร้อมสนับสนุนกองทัพบกไทยอย่างเต็มที่!!!. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"