กอ.รมน.จวกแถลงการณ์ลวงโลก หาทหารละเมิดสิทธิมนุยชนชายแดนใต้


เพิ่มเพื่อน    

3  มี.ค.61- พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวถึงเครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางกองทัพภาคที่ 4 ทบทวบการปฏิบัติการณ์ทางทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงที่ผ่านมา พบมีการกระทำที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นการแถลงการณ์ลวงโลกพร้อมเรียกให้องค์กรดังกล่าว "ยุติหลอกลวงประชาชน" โดยมีถ้อยคำแถลงตามที่ได้ปรากฏข่าวกลุ่มเครือข่ายเฉพาะกิจ เพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยุติการคุกคามและปิดปากประชาชน ที่ได้เผยแพร่เมื่อ 2 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทำการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวแล้ว พบว่า เป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของระบบอำนาจรัฐ ดังนั้น จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจดังนี้

1. สถานการณ์ปัญหา จชต. ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา นอกจากความสูญเสียของพี่น้องประชาชนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีพฤติกรรมแบบสุดโต่งแล้ว ยังพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่แอบอ้างว่า เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่คอยเคลื่อนไหว บิดเบือนข้อเท็จจริงและทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐดังปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการละเมิดสิทธิและการซ้อมทรมาน ทั้งเรื่องการทำหนังสือร้องเรียนไปยังองค์กรต่างๆ การทำรายงานกล่าวหาเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิและย่ำยีศักดิ์ศรี  ความเป็นมนุษย์ โดยไม่ยินยอมให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต่อมาภายหลังเมื่อทำการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เป็นจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นความจงใจทำลายความน่าเชื่อถือและทำลายภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล

2.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้ความสำคัญและยึดมั่นในหลักการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความสงบสุขของประชาชนภายใต้หลักนิติรัฐ เป็นการปฏิบัติภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อผู้กระทำความผิดทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่สามารถละเว้นการปฏิบัติได้ ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมายด้วยความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ทุกกรณี แต่ทุกครั้งที่มีการบังคับใช้กฎหมาย กลับถูกต่อต้านและบิดเบือนใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานจากกลุ่มที่แอบอ้างว่า เป็นนักปกป้องสิทธิ ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยออกมาปกป้องสิทธิให้พี่น้องประชาชน ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนร้ายที่ใช้ความรุนแรง ทำให้สังคมเข้าใจว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและสนับสนุน ให้มีการใช้ความรุนแรง

3.การแจ้งความดำเนินคดีกับ บก. ผู้จัดการออนไลน์ และนายอิสมาแอเตะ เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายด้วยการจงใจเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐได้รับความเสียหาย ดังนั้นการขอพึ่งอำนาจของกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการคุกคาม หรือปิดปากประชาชนตามที่กล่าวอ้างและบิดเบือนแต่อย่างใด

4. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การเคารพในสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชนที่สามารถแสดงออกโดยไม่ละเมิดต่อกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้กลุ่มที่กำลังเคลื่อนไหว อย่านำปัญหาความมั่นคงในพื้นที่มาบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มหรือผลประโยชน์ทางการเมือง และให้ยุติหลอกลวงประชาชน ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่อาจทำให้สังคมเกิดความสับสน วุ่นวาย เพราะเป็นพฤติกรรมที่ล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย สำหรับองค์กรต่างๆ ที่มาร่วมเป็นเครือข่ายเฉพาะกิจ และสื่อมวลชนขอให้ใช้ดุลยพินิจในการแสดงออกและนำเสนอข้อมูลข่าวสารบนพื้นฐานของความจริง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มที่มีนัยยะแอบแฝงที่เข้ามาฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง ให้ขยายวงกว้าง ที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น

สำหรับแถลงการณ์ของ เครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ออกเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในห้วงสองสามปีที่ผ่านมาอาจทำให้รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงมั่นใจว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี แห่งนี้ดีขึ้นแล้ว แต่เราในนามของเครือข่ายเฉพาะกิจเพื่อปกป้องพลเรือนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและผู้ที่ร่วมลงชื่อข้างท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอย้ำเตือนว่าข้อสรุปดังกล่าวไม่ได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงแต่อย่างใด เพราะตราบใดที่รัฐบาลไทยและขบวนการต่อสู้ปาตานีไม่พยายามจัดการกับปัญหารากเหง้าซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเป็นประเด็นปัญหาในทางการเมือง อีกทั้งยังไม่มุ่งเน้นการลดเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ ตราบนั้นความขัดแย้งในพื้นที่จะยังไม่อาจคลี่คลายลงไปได้ ที่สำคัญ ประชาชนพลเรือนทุกชาติพันธุ์ศาสนาในพื้นที่แห่งนี้ก็ยังคงประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง

คำยืนยันข้างต้น สะท้อนจากสภาพความเป็นจริงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ (นับตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2560 เป็นต้นมา) ไม่เฉพาะเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนยังคงมีความต่อเนื่องอยู่เท่านั้น แต่ยังปรากฎเหตุการณ์ปิดล้อมหมู่บ้าน ตรวจค้น และจับกุมประชาชนจำนวนมากในคราวเดียวกันหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่องอีกด้วย แม้ปฏิบัติการเหล่านี้จะอ้างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ แต่ผลลัพธ์ก็คือยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัย อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่ายังส่งผลให้เกิดความรุนแรงระลอกใหม่ตามมาอีกด้วย

สถานการณ์อันอึมครึมเหล่านี้ ไม่น่าจะเป็นบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ดูเหมือนว่าจะยิ่งมีการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อมีความพยายามจะปิดกั้นและกีดกันการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ประชาชนปรารถนา ดังเช่นที่ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาคในภาคที่ 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งความดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับสื่อมวลชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่ามา ทั้งในกรณีรายงานข่าวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานของสื่อผู้จัดการออนไลน์และการเข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับคดีความของตนเองของนายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ในรายการ “นโยบาย by ประชาชน” ทางสถานี Thai PBS

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและกฎหมายอาญามิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และยังทำให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิในเสรีภาพของบุคคลและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายระหว่างประเทศทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ที่ระบุว่าบุคคลทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพทั้งทางร่างกายและการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งเป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อมิให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือที่เรียกว่าSLAPPs (Strategic Lawsuit against Public Participations)

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี จะไร้ความหมาย หากรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องชีวิตของพลเรือนและเสรีภาพที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อันเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการสร้างสันติภาพที่เคารพยอมรับ ให้เกียรติ และเปิดกว้างต่อการทำงานร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

  • 1.ขอเรียกร้องให้ กอ.รมน. ภาค 4 สน. และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องยุติการคุกคามประชาชนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาด้วยการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ไม่เป็นธรรม
  • 2.ขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหรือขบวนการต่อสู้ปาตานียุติการคุกคามและโจมตีพลเรือนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาโดยเด็ดขาด
  • 3.ขอเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยุติการคุกคามทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการแจ้งความดำเนินคดี (SLAPPs) ต่อประชาชน สื่อมวลชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
  • 4.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการทบทวนและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการดำเนินการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
  • 5.ขอเรียกร้องให้ “หุ้นส่วนสันติภาพ” ทั้งรัฐบาลไทย กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐหรือขบวนการต่อสู้ปาตานีทุกกลุ่ม กลุ่มประชาสังคมทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันติดตามและตรวจสอบกรณีการคุกคามข้างต้นอย่างใกล้ชิด ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการคลี่คลายปัญหาอย่างสร้างสรรค์ต่อรัฐบาลไทยและขบวนการต่อสู้ปาตานี
  • 6.ขอเรียกร้องให้เพื่อนมิตรกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ศาสนาผนึกกำลังกันเพื่อป้องกัน สกัด ขัดขวางไม่ให้ทุกฝ่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ก็เพื่อตอกย้ำหลักคิดที่ว่าสันติภาพนั้นไม่อาจปรากฎขึ้นได้ หากไร้ซึ่งความเป็นธรรม

องค์กรร่วมลงนาม 1.กลุ่มด้วยใจ  2.กลุ่มนักสาธารณสุขเพื่อสังคม (PHOS) 3.      กลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา (BRG) 4.กลุ่มสตรีพุทธเพื่อสังคม 5.คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) 6.เครือข่ายชาวปาตานีนอกมาตุภูมิ (PATANI iewers) 7. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P) 8. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) 9. เครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานี (INSouth) 10.เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PermaTamas) 11. เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP) 12.เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมุสลิม (SPAN) 13.เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 14.เครือข่ายเยาวชนลุ่มน้ำสายบุรี (JALEM) 15.ชมรมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม (PICSEB) 16.ปาตานีฟอรั่ม (Patani Forum) 17. มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Nusantara) 18. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) 19.มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ 20. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC)

21.  ศูนย์บูรณาการคนหนุ่มสาวเพื่อศักยภาพชุมนุมชน (YICE)22.  ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)23.  ศูนย์วัฒนธรรมมลายูปาตานี (BUMI)24.  ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS)25.  สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน (Media Selatan)26.  สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้27.  สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี28.  สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS)29.  สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR)30.  สำนักพิมพ์อาวัณบุ๊ค (Awan Book)31.  สำนักสื่อวารตานี (Wartani)32.  ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู33.  องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)34.  องค์กรผู้หญิงปาตานี (PERWANI)

ส่วนบุคคลลงนาม ประกอบด้วย 1.งามศุกร์ รัตนเสถียร    สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 2.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล 3.ฐิตินบ โกมลนิมิ 4.ณรรธราวุธ เมืองสุข   สื่อมวลชน 5.บดินทร์ สายแสง   สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล 6.บัณฑิต ไกรวิจิตร 7.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ   มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 8.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ  คณะพยาบาลศาสตร์ มอ.ปัตตานี 9.มูฮำหมัดอิลยาส หญ้าปรัง 

10.รอมฎอน ปันจอร์ 11.เรืองรวี พิชัยกุล 12.สุณัย ผาสุก  ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประเทศไทย 13.อันธิฌา แสงชัย 14.อับดุลสุโก ดินอะ    ศูนย์อัลกุรอานเเละภาษา QLCC 15.อาทิตย์ ทองอินทร์ 16.เอกราช ซาบูร์ 17.เอกรินทร์ ต่วนศิริ   คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"