ไทยพร้อมจัดประชุม สมัชชารัฐสภาอาเซียน


เพิ่มเพื่อน    

           เป็นที่ทราบกันดีว่าปีนี้ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของเราก็เพิ่งจัดการประชุม “สุดยอดผู้นำอาเซียน ASEAN Summit ครั้งที่ 34” ส่วนปลายเดือนหน้าเป็นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ จัดงาน “สมัชชารัฐสภาอาเซียน” หรือ “AIPA” (ASEAN lnter-Parliamentary Assembly : AIPA)

                โดย “อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” เลขานุการประธานรัฐสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และสารสนเทศการประชุม ในคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน ให้สัมภาษณ์ว่า งานดังกล่าวล้อกับอาเซียน ประเทศใดก็ตามที่เป็นประธานอาเซียน ประเทศนั้นจะเป็นประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน ซึ่งปีนี้เราเป็นประธานอาเซียน ฉะนั้นจึงเป็นประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียนด้วย

                “ไอป้า” มีกรอบการประชุมใหญ่ๆ อยู่ 3 กรอบ ประเทศใดเป็นประธานก็ต้องจัดการประชุม คือ 1.กรอบเรื่องยาเสพติด ซึ่งจัดไปแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่ 2.การนำผู้นำรัฐสภาอาเซียนเข้าพบผู้นำฝ่ายบริหารในประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศสมาชิก ซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา และ 3.การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ระหว่างวันที่ 25-30 ส.ค.นี้ ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาไทย จะเป็นประธานในการประชุม

                ดังนั้น กรอบที่ 3 จึงแตกต่างกับกรอบที่หนึ่งและกรอบที่สอง เพราะมีการเชิญประเทศผู้สังเกตการณ์ 11 ประเทศ และอีกหนึ่งองค์กร อีกทั้งยังมีแขกของรัฐสภาที่สนใจในกิจการและต้องการผูกสัมพันธ์กับอาเซียน เช่น นอร์เวย์ โมร็อกโก เป็นต้น ฉะนั้น ในงานที่จะถึงนี้จะมีคนเดินทางมา 300-400 คน

                “ถือเป็นงานใหญ่ที่สุดในรอบสิบปี สิบปีจะกลับมาที่ไทยครั้งหนึ่ง โดยรอบที่แล้ว คือ ปี 52 สมัยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นงานใหญ่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เดือนหน้าจึงเป็นอะไรที่ทุ่มเท นายชวน ในฐานะประธาน ให้ความสำคัญมาก จัดงานต้องสมเกียรติ สง่างาม อีกทั้งกำชับสำคัญที่สุดต้องไม่ลืมว่าเงินทุกบาทที่ใช้คือภาษีของประชาชน ต้องให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด โดยให้หลักการใช้เงินว่าต้องคำนึงถึงหลักต่างตอบแทนทางการทูต เวลาที่เขาทำอะไรให้เรา เวลาที่เขามา เราก็ต้องทำในระดับเดียวกัน”

                นายอิสระกล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายของงาน เพื่อให้กฎหมายของสมาชิกประเทศอาเซียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น สมมุติทำอย่างไรให้การสอบใบประกอบวิชาชีพวิศวกรทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ประเทศนี้มีมาตรฐาน 3 ข้อ อีกประเทศมี 9 ข้อ ถ้าเป็นเช่นนี้คนที่สอบวิศวกรได้ประเทศนี้อาจไม่ได้ทำงานในประเทศอื่นที่มีมาตรฐานมากกว่า

                เป้าหมายที่สอง คือ การที่เชิญประเทศผู้สังเกตการณ์และ 1 องค์กร ซึ่งนั่นคือสหภาพยุโรป จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าประเทศเหล่านี้ต้องการอะไร หรือคาดหวังอะไรกับประเทศสมาชิกอาเซียน

                นายอิสระเล่าอีกว่า สำหรับธีมจัดงานในปีนี้ คือ “นิติบัญญัติ ร่วมมือร่วมใจ ก้าวไกลเพื่อประชาคมที่ยั่งยืน” โดยประเทศสมาชิกต้องส่งร่างข้อมติข้อคิดเห็นของตัวเองมาว่าเรื่องอะไรบ้างที่ควรได้รับบรรจุ เพื่อเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ตาม กฎของอาเซียน คือ ข้อสรุปต่างๆ ที่ออกมาจากการประชุมประเทศสมาชิกต้องเห็นด้วยกันทุกประเทศ

                สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับ คือ สิ่งที่จะเป็นมติของการประชุม ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ เพราะจะต้องรอให้ประชุมเสียก่อน นอกจากนี้ ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ในตัวว่าเรามีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ทั่วโลกได้รู้จักอีกด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"