พลิกปูมสงครามระหว่างกลุ่ม 'สี่เสาเทเวศร์' กับ 'ซอยราชครู'


เพิ่มเพื่อน    

 "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" เริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองเมื่อคณะทหารภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พลโทผิน ชุณหะวัณ พันเอกเผ่า ศรียานนท์ และพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฯลฯ  ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกคนสำคัญอีกคนหนึ่งของคณะราษฎรในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งยังผลให้คณะราษฎรหมดอำนาจทางการเมืองตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ภายในคณะรัฐประหารหาได้มีความเป็นเอกภาพไม่ หากแต่มีความขัดแย้งแตกแยกภายในกันอย่างเด่นชัด โดยมูลเหตุของความขัดแย้งดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นสำคัญ ภายในคณะรัฐประหารมีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 2  กลุ่มอย่างชัดเจน นั่นคือ กลุ่มผิน ชุณหะวัณ-เผ่า ศรียานนท์ หรือ "กลุ่มซอยราชครู" และกลุ่มสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์”

ในระยะแรกภายหลังการรัฐประหาร คณะรัฐประหารยังไม่ได้เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นนายกรัฐมนตรีในทันที เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ได้รับการรับรองจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษซึ่งยังนิยมชมชอบต่อฝ่ายของปรีดี พนมยงค์อยู่มาก คณะรัฐประหารได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 และนำเอา "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)" หรือ "ฉบับใต้ตุ่ม" ออกมาใช้แทนเป็นการชั่วคราว จากนั้นก็เปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี 2491 ผลการเลือกตั้งก็คือ ควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี (21 กุมภาพันธ์ - 8 เมษายน 2491) แต่ในเวลาเพียงไม่นาน ควง อภัยวงศ์ ก็ถูกคณะรัฐประหาร "จี้" ออกจากตำแหน่งในวันที่ 6 เมษายน 2491 และเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 เมษายน 2491

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้โดยทางการแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และหัวหน้าคณะรัฐบาลสมัยนี้ แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็หาได้มีอำนาจและอิทธิพลอย่างที่เคยเป็นมาในยุคสมัยแรก (พ.ศ.2481-2487) ไม่ ฐานอำนาจในกองทัพของจอมพล ป.  พิบูลสงคราม ได้หลุดไปอยู่ที่จอมพล ผิน ชุณหะวัณ และนายทหารรุ่นใหม่ที่อ่อนอาวุโสกว่า เช่น สฤษดิ์  ธนะรัชต์ (ทางฝ่ายกองทัพบก) และ เผ่า ศรียานนท์ (บุตรเขยของผิน ชุณหะวัณ และอธิบดีกรมตำรวจ)  กลุ่มของทหารที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทใหม่นี้ ต่อไปจะแยกออกเป็น "กลุ่มซอยราชครู" (ผินและเผ่า) กับ  “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” (สฤษดิ์) เป็นกลุ่มทหารที่มีความเป็นอนุรักษนิยมมากกว่ากลุ่มทหารที่เข้ามาด้วยการปฏิวัติ 2475 มีความเป็น "ไทยเดิม" และเป็นผลิตผลของระบบการศึกษา "แบบไทยของโรงเรียนนายร้อยทหารบก จปร." มีความคุ้นเคยหรือมีประสบการณ์กับระบอบประชาธิปไตยและความเป็น "สากล" น้อยกว่า ฐานอำนาจของฝ่ายทหารได้ย้ายออกจากคนรุ่นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงไปสู่รุ่นที่อ่อนอาวุโสกว่าแล้ว ดังนั้น จอมพล ป. จึงต้องปรับบทบาทของตนใหม่ และในตอนปลายของสมัยคณะรัฐประหาร จอมพล ป. ก็ต้องพยายามสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจของทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ตนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้

ขณะที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายว่า ในระยะแรกตั้งแต่ปี 2493 มีบุคคลสำคัญ 2 คนที่ร่วมอยู่ในคณะรัฐประหาร 2490 นั่นคือ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศนั้นดูสงบราบคาบดีหลังการรัฐประหาร 2490 จนถึงรัฐประหาร 2494 ทั้งพลตำรวจเอกเผ่าและจอมพลสฤษดิ์ต่างมีโอกาสที่จะสร้างเสริมบารมีและอำนาจทางการเมืองของตน ทั้งนี้เพราะการให้ความช่วยเหลือที่หลั่งไหลมาจากสหรัฐอเมริกาตามที่จอมพล ป. ได้เริ่มไว้อย่างได้ผล ในขณะที่พลตำรวจเอกเผ่าเข้าควบคุมและปรับปรุงกรมตำรวจและกลไกทางการเมืองภายในประเทศหลังปี 2495 ของจอมพล ป. ดำเนินไปได้ด้วยดีอยู่นั้น จอมพลสฤษดิ์ได้รอโอกาสโดยการสร้างความมั่งคั่งและรวบรวมสมัครพรรคพวกขึ้นภายในกองทัพบกซึ่งตนจะเข้าควบคุมในภายหลังที่จอมพลผินพ้นจากราชการแล้ว 

จอมพลป. พิบูลสงคราม

ส่วนจอมพล ป.ซึ่งกำลังแสวงหาฐานอำนาจใหม่อยู่นั้น ก็ได้ใช้วิธีตีสนิทกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ส่งเสริมแนวความคิดดั้งเดิมที่เกี่ยวกับความชอบธรรม แสวงหาความนิยมโดยการสนับสนุนการเลือกตั้ง และโดยทั่วไปแล้วก็พยายามคานอำนาจระหว่างคู่แข่งขัน คือ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

คู่แข่งทางการเมืองของจอมพล ป.ทั้ง 2 คนนี้ มีรายได้ส่วนตัวมากมาย ถึงแม้ว่าทั้ง 2 คนจะมาจากภูมิหลังที่ธรรมดา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ มีบทบาทสำคัญในการค้าฝิ่นผิดกฎหมาย นอกเหนือจากบทบาทอื่นๆ (ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ) พลตำรวจเอกเผ่าอาจจะได้รับการสนับสนุนเรื่องนี้ จากการเข้าไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มชาวจีนที่มีอิทธิพลในการค้าฝิ่นในรัฐฉานในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้พลตำรวจเอกเผ่ามีรายได้พิเศษในอันที่จะเสริมฐานะทางการเมืองของตน สามารถมีสมัครพรรคพวกได้กว้างขวาง และมีการคาดคะเนกันว่า หากจอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พลตำรวจเอกเผ่าและ "กลุ่มซอยราชครู" ก็น่าจะได้เป็นทายาททางการเมืองต่อไป

พลตำรวจเอกเผ่าได้รับการยกย่องจากสหรัฐอเมริกาว่า "บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย" เขาเคยเป็นนายทหารมาก่อน เคยเป็นนายทหารคนสนิทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และที่สำคัญเขาเป็นบุตรเขยของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ทำให้เขามีบทบาทสำคัญในการควบคุมกำลังตำรวจภายหลังการรัฐประหาร 2490 ได้เป็นนายพลตำรวจตั้งแต่ปี 2495 และมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับสหรัฐอเมริกามาก กรมตำรวจสมัยนี้ได้รับการสร้างเสริมให้มีสมรรถภาพเกือบจะเท่าเทียมกับกองทัพบก ความช่วยเหลือจากองค์กรซีไอเอ (CIA) ผ่าน Sea Supply Corporation ทำให้กรมตำรวจสามารถมีรถถัง  ปืน เรือบิน เรือลาดตระเวน ในปี 2497 ตำรวจมีกำลังพลมากถึง 42,835 คน เป็นสัดส่วนตำรวจ 1  คน ต่อประชากร 407 คน นับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จนถึงกับทำให้ประเทศไทยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “รัฐตำรวจ” (Police State)

ส่วน "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น กลุ่มนี้ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทภายหลังรัฐประหาร 2490 เช่นเดียวกับ "กลุ่มซอยราชครู" สฤษดิ์ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมภายหลังการรัฐประหารเงียบ 2494 ในขณะเดียวกันก็ได้สืบทอดตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกต่อจากจอมพลผิน ชุณหะวัณ ในปี 2497 (และดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี  2506) สฤษดิ์มีบทบาทค่อนข้างเงียบเมื่อเทียบกับ เผ่า ศรียานนท์ แห่ง "กลุ่มซอยราชครู" แต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่น้อย สฤษดิ์ได้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาสมัยของไอเซนฮาวร์ และในปี 2499 ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นจอมพล ทำให้มีฐานอำนาจที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งมีรายได้พิเศษจากการคุมรัฐวิสาหกิจในยุคนั้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคุมกองสลากกินแบ่งของรัฐบาล จึงทำให้ "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" กลายเป็นกลุ่มอำนาจหนึ่งที่สำคัญมากในการเมืองไทยสมัยนั้น

นอกเหนือจากการคุมกองสลากกินแบ่งของรัฐบาลแล้ว "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" ซึ่งประกอบด้วย สฤษดิ์  ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจร และ ประภาส จารุเสถียร ยังมีธุรกิจการค้าของตนเองอีกมากมาย ธุรกิจการค้าต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" ในระหว่างปี 2490-2500 ได้แก่ บริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ (2498) สหสามัคคีเดินเรือ (2499) สหพานิชย์สามัคคี (2499) การค้าสหสามัคคี (2500) ทหารอยุธยา (2494) เหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจ (2499) และธนาคารทหารไทย (2500) บรรดาบริษัท "สหสามัคคี" ทั้ง 4 แห่ง ล้วนแต่เป็นของประภาส จารุเสถียร ทั้งสิ้น 

สำหรับกิจการส่วนตัวของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แก่ ธนาคารเอเชีย บริษัทวิจิตรก่อสร้าง (รัชตก่อสร้าง, 2493) รัชตศิลา (2494) บางกอกเดินเรือและการค้า (รัชตการเดินเรือ, 2494) ทิพยประกันภัย  (รัชตประกันภัย, 2494) บางกอกสากลการค้า (รัชตสากลการค้า, 2495) ธนะการพิมพ์ (2496) ไทยเซฟวิ่งทรัสต์ (2500) และกรุงเทพไหมไทย (2503) ธุรกิจของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ประกอบด้วยภาคการเงิน  (เช่น ธนาคารเอเชีย) ภาคอุตสาหกรรม (เช่น บริษัทธนะการพิมพ์) และภาคพาณิชย์กรรม (เช่น บริษัททหารอยุธยา)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำทหารที่นิยมประกอบธุรกิจของตนเองค่อนข้างสูงเหมือนกับ จอมพลผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แต่ต่างกันตรงที่ "แบบแผนการดำเนินธุรกิจ" ของสฤษดิ์มักใช้ทุนต่ำ มีผลกำไรมาก ไม่มีเงินลงทุนที่แท้จริง ก่อตั้งขึ้นโดยไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้น สฤษดิ์ใช้อำนาจเบิกเงินบัญชีจากธนาคารมาเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบการค้า อิงกับระบบราชการ ประกอบธุรกิจการค้ากับทางราชการและองค์การของรัฐเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการบริหาร เนื่องจากไม่ต้องแข่งขันกับพ่อค้าอื่น และมีอภิสิทธิ์ จึงไม่มีการประชุมกรรมการของบริษัทแม้แต่ครั้งเดียว หลีกเลี่ยงภาษี ธุรกิจของสฤษดิ์เป็นธุรกิจอภิสิทธิ์ ดำเนินงานโดยใช้อิทธิพลทางการเมืองเข้าช่วยอย่างชัดเจน เป็นการเก็งกำไรระยะสั้น ไม่มีการสร้างเสถียรภาพในระยะยาว ประสบผลสำเร็จโดยใช้อำนาจทางการเมือง ไม่ใช่ประสิทธิภาพในการบริหารงาน

ในช่วงที่กำลังเรืองอำนาจ กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ได้ขยายอิทธิพลเข้าไปครอบคลุมบรรดานายทุนที่ประกอบธุรกิจทั้งด้านการเงิน อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม บรรดาพ่อค้าที่พึ่งพิงทหารกลุ่มนี้ ได้แก่  ธนาคารแหลมทอง ธนาคารไทยทนุ สหธนาคารกรุงเทพฯ บริษัทคลังสินค้าแม่น้ำประกันภัย บริษัทนครหลวงประกันภัย บริษัทถ่านและน้ำมันไทย บริษัทอู่ทองไทย บริษัทไทยแลนด์สตีล บริษัทสหขนส่งทางน้ำ บริษัทโลหะภาสพานิช และบริษัทธัญญะไทย เป็นต้น

วิธีการเข้าร่วมประกอบธุรกิจของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ คือการถูกเชิญเข้าไปถือ "หุ้นลม" ตัวอย่างเช่น บริษัทสหขนส่งทางน้ำ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้นปี 2497 โดยนายทุนชาวจีน ได้เชิญพลตรีประภาส จารุเสถียร  มาเป็นประธานกรรมการฯ ในฐานะผู้อุปถัมภ์ เพื่อแลกกับค่าคุ้มครองที่จ่ายเป็น "หุ้นลม" บริษัทไทยแลนด์สตีล จำกัด ก่อตั้งปี 2499 โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เชิญจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์   และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (จากกลุ่มซอยราชครู) มาเป็นที่ปรึกษาทั่วไป และเชิญนายทหารทั้งสองกลุ่มมาเป็นกรรมการ

แม้ว่านายทหารกลุ่มซอยราชครู กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ จะมีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน แต่นายทหารทั้งสองกลุ่มนี้ก็ยังมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ในธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ ธนาคารมณฑล บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ บริษัทไทยทำ บริษัทผดุงสินพาณิชย์ บริษัทแสนสุรัตน์ บริษัทข้าวไทย บริษัทไทยแลนด์สตีล และบริษัทชลประทานซีเมนต์ นายทหารทั้ง 2 กลุ่มจะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันโดยการมอบหุ้นลมให้แก่กันและกัน "เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน" ของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น จอมพลผิน มอบหุ้นของบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้จอมพลสฤษดิ์ จำนวน 6,250 หุ้น จอมพลสฤษดิ์ก็มอบหุ้นลมของบริษัทวิจิตรก่อสร้าง ให้ลูกเขยของจอมพลผิน 200 หุ้น

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นผลให้ความขัดแย้งของทหารทั้งสองกลุ่มนี้ขยายตัวออกไปเป็นลำดับ ก่อนปี 2500 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ใช้หนังสือพิมพ์ของตนคือ "เผ่าไทย" และ "2500" ขุดคุ้ยเรื่องการทุจริตของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในกองสลากกินแบ่งรัฐบาล 

ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์เองก็ออกหนังสือพิมพ์ "สารเสรี" และ "ไทรายวัน" เปิดโปงพลตำรวจเอกเผ่าเรื่องการค้าฝิ่น และการค้าทองคำเถื่อน ความขัดแย้งระหว่างทหารทั้งสองกลุ่มนี้ยุติลงเมื่อกลุ่มของจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารได้สำเร็จในปี 2500 และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งมวลตกไปอยู่กับทหารกลุ่มนี้เพียงกลุ่มเดียว 

การสิ้นสุดอำนาจของ "กลุ่มซอยราชครู" เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้บริษัทอภิสิทธิ์ต่างๆ ของ "กลุ่มซอยราชครู" ที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนหน้านี้พลอยหมดบทบาทตามไปด้วย นับแต่นั้นมาจักรวรรดิทางเศรษฐกิจและการเมืองของ "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ก็ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองเพียงกลุ่มเดียวเป็นเวลายาวนานถึง 16 ปี จวบจนกระทั่งถึงการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนในเดือนตุลาคม 2516.

พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์.
----------------
ข้อมูล: สถาบันพระปกเกล้า: ดร.ธิกานต์ ศรีนารา, รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"