‘เตือนใจ-อังคณา’ไขก๊อก กสม.ป่วน!เร่งหาตัวแทน


เพิ่มเพื่อน    

 “เตือนใจ-อังคณา” ไขก๊อกพ้นเก้าอี้กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ อ้างบรรยากาศไม่เอื้อ หลัง “รัฐธรรมนูญ-พ.ร.ป.กสม.” ประกาศใช้ ทำเรื่องร้องเรียนหด “วัส” ร่อนหนังสือถึงประธานศาลเร่งหาตัวตายตัวแทน ลั่นไม่รวบอำนาจ

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นางอังคณา นีละไพจิตร พร้อมด้วยนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ได้แถลงถึงการยื่นหนังสือลาออกจากการเป็น กสม. โดยมีผลตั้งแต่ 09.30 น. ของวันที่ 31 ก.ค. โดยนางเตือนใจกล่าวว่า บรรยากาศและระบบการทำงานไม่เอื้ออำนวยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน แต่งานที่เราได้รับผิดชอบก็ได้จัดทำเสร็จเป็นส่วนใหญ่แล้ว และจริงๆ แล้ว กสม.ปัจจุบันถือว่าพ้นจากตำแหน่งแล้วนับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2560 มีผลบังคับใช้ แต่ที่อยู่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น  
“การลาออกไม่ได้ทำให้องค์กรเสียหาย เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 22 กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งคณะขึ้นมาทำหน้าที่แทนให้ครบองค์ประชุมได้ จนกว่า กสม.ชุดใหม่ที่กำลังสรรหา โดยจะมีการสัมภาษณ์ผู้สมัครในวันที่  2-3 ส.ค. หากคัดเลือกได้ครบ 4 คน จะเสนอวุฒิสภาให้พิจารณาได้ คาดว่าใช้เวลาอีกไม่นาน” นางเตือนใจกล่าว 
    นางเตือนใจยังอธิบายถึงบรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ ว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ประกาศใช้กำหนดให้ กสม.ตั้งอนุกรรมการได้เท่าที่จำเป็น ต่างจากในอดีตที่ กสม.ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหลากหลาย ทำให้การทำงานของ กสม.เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในทุกกลุ่ม ทุกภาค เมื่อมีการร้องเรียน ตรวจสอบ ลงพื้นที่ ก็จะมีบรรยากาศเป็นไปในเชิงสมานฉันท์ หลายครั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทีเมื่อลงพื้นที่ แต่เมื่อกำหนดตั้งเท่าที่จำเป็น กสม.จึงตีความว่าไม่ควรตั้งคณะอนุกรรมการเลย เพราะอาจขัดต่อกฎหมาย แล้วแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของ กสม.ให้เป็นผู้ตรวจสอบ ทำให้ความเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม และเครือข่ายวิชาการต่างๆ ลดลงต่อเนื่อง  เรื่องร้องเรียนก็ลดลง หลายเรื่องที่มีการร้องเรียน ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ก็ไม่รับเป็นคำร้องเสียมากกว่า 
“การทำงานของ กสม.ลอยจากฐานของประชาชนมากกว่าในช่วงก่อนการประกาศใช้กฎหมาย กสม.ฉบับใหม่ อีกทั้งการออกระเบียบต่างๆ ออกมารองรับ ก็ทำให้รู้สึกว่าการทำงานของเราไม่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังปลายปี 2561 ต่อเนื่องปี 2562 การทำงานของ กสม.ก็จะเงียบมาก สถิติเรื่องร้องเรียนก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการรับเป็นคำร้องก็น้อยลง ดังนั้นจึงคิดว่าแม้จะเหลือเวลาในหน้าที่อีกเพียง 2-3 เดือน แต่ลาออกก่อนก็จะทำให้เราได้ไปทำงานที่เราตั้งใจและไปเป็นประชาชนเต็มขั้น” นางเตือนใจกล่าว
    เมื่อถามว่า เป็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมายหรือการปฏิบัติประธาน กสม.ทำให้การทำงานเกิดปัญหา นางอังคณาตอบว่า กฎหมายขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจตีความกฎหมาย ซึ่งเมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ประกาศใช้  กสม.ก็มีการใช้ดุลพินิจออกระเบียบที่ค่อนข้างเคร่งครัด ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยาก อย่างใครมาร้องเรียน แม้มาด่าเราก็จะออกไปรับ แต่กฎหมายบัญญัติให้ทุกเรื่องต้องเป็นการตัดสินใจของกรรมการ อย่างการให้ข่าวซึ่งเป็นเสรีภาพของการแสดงความเห็นของกรรมการก็ถูกจำกัด ทำให้อึดอัด เพราะการให้ข่าวไม่ได้อยากเป็นข่าว แต่เป็นการให้ข่าวเพื่อเป็นการพูดแทนผู้เดือดร้อน  
    นางอังคณากล่าวต่อว่า เรา 2 คนไม่ใช่คนแรกที่ลาออกจาก กสม. ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน เม.ย.2560  นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ก็ได้ลาออกด้วยเหตุคล้ายคลึงกันคือ การบริหารงานไม่ได้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เอื้อต่อการปฏิบัติงาน และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานายชาติชาย สุทธิกลม ได้ลาออกไปดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) 
“ได้คิดเรื่องนี้มานานแล้ว ไม่ใช่ว่างอนแล้วตัดสินใจปุ๊บปั๊บออก เราเข้ามาวันแรกก็มีความหวัง เพราะส่วนตัวก็ทำงานกับ กสม.ตั้งแต่ชุดแรก จนรู้สึกมุ่งหวังว่าจะต้องเป็น กสม.ในวันหนึ่ง แล้วจะทำโน้นนี่นั่น แต่เมื่อเข้ามาแล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิด และบรรยากาศการทำงานก็ไม่ได้สนับสนุนให้เราทำงานได้ จึงต้องตัดสินใจ แต่การทำงานที่ผ่านมาถือว่าดีใจและพอใจ ถือว่าได้ทำงานอย่างเต็มที่” นางอังคณากล่าว
ด้านนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. แถลงถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับหนังสือลาออกจากทั้งสองคนแล้ว และจะทำหนังสือด่วนที่สุดในวันที่ 31 ก.ค.ถึงประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครอง เพื่อให้คัดเลือก กสม.ขึ้นมาทำหน้าที่ชั่วคราวระหว่างรอการสรรหา กสม.ชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยเดิม กสม.มี 7 คน แต่ลาออกไปแล้ว 4 คน ทำให้ขณะนี้เหลือทำหน้าที่อยู่ 3 คน
    นายวัสยังชี้แจงถึงกระแสประธาน กสม.รวบอำนาจไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาต้องลงมติ ซึ่งหลายครั้งตนเองก็เป็นเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะการประชุม 2 ครั้งหลังสุด แต่ก็เคารพเสียงข้างมากในการตัดสินใจ ซึ่งการทำหน้าที่ของ กสม.มี 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.เรื่องการคุ้มครองสิทธิที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน แม้ไม่มีผู้ร้องเรียนก็หยิบยกขึ้นมาตรวจสอบเองได้ และ 2.ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็มีการจัดเวทีให้ความรู้ส่งเสริมประชาชนเข้าใจในเรื่องสิทธิ และส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่มี กสม.ชุดนี้เมื่อเดือน พ.ย. 2558 ทำงานมา 3 ปีเศษ มีเรื่องร้องเรียนที่ค้างอยู่ 90% แต่พอชุดนี้เข้ามาก็เร่งดำเนินการ หลังปรับระบบการทำงานทำให้เรื่องร้องเรียนเสร็จไปถึง 81% และเรื่องที่เหลืออยู่ในกระบวนการกลั่นกรอง
    “ตอนที่มี กสม.เหลืออยู่ 5 คนเราทำงานด้วยดีมาตลอด ความเห็นไม่ตรงกันก็ใช้วิธีการลงมติเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งรายงานการตรวจสอบที่ออกไปก็เป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ที่ประเทศต่างๆ ชูไทยเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะการที่จะมาดูงานด้านสิทธิมนุษยชน เช่น เนปาล ยอมรับว่าเสียดายกับสิ่งที่เกิดขึ้น การทำงานมีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ผลงานจะเป็นที่ยืนยัน ซึ่งรายงานที่ กสม.ออกไปมีข้อโต้แย้งน้อยมาก” นายวัสกล่าว
    ประธาน กสม.ยังระบุว่า ที่ผ่านมาในเรื่องของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.นั้น กรรมาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ส่งมาให้ กสม.พิจารณาเนื้อหา ซึ่งก็มี กสม. 2 คนเห็นด้วยกับประเด็นการเซตซีโร กสม.ชุดนี้ ทั้งที่อีก 4 คนไม่เห็นด้วย ฉะนั้น กสม.ที่เห็นด้วยกับการเซตซีโรชุดนี้ก็ต้องถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ และคิดว่าจะไม่เอาองค์กรตัวเองไว้แล้ว จึงไม่แน่ใจว่าการลาออกของ 2 กสม.ที่สุดเป็นการสานต่อปณิธานของเขาหรือไม่ 
    “ยืนยันว่าไม่ได้มีการห้ามให้ข่าว เพราะไม่มีอำนาจจะไปห้ามเป็นการส่วนตัว แต่การให้ข่าวขององค์กรกลุ่มต้องมีมาตรฐานและมีระเบียบ” นายวัสกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวของประธาน กสม.นี้ นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กสม. ได้มาร่วมฟังด้วย ขณะที่นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กสม.อีกรายติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ  โดยนางประกายรัตน์ยืนยันว่าจะไม่ลาออก จะอดทนทำหน้าที่ เพราะถือว่าอาสาเข้ามาทำหน้าที่นี้แล้วก็ต้องเดินหน้าสานต่อและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนต่อไป  แต่เข้าใจว่าการลาออกของทั้งนางอังคณาและนางเตือนใจ ว่าทั้งสองคนคุ้นเคยกับการทำงานแบบองค์กรเดี่ยว แต่เมื่อมาทำงานแบบองค์กรกลุ่มอาจอึดอัด.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"