'อังคณา นีละไพจิตร' ได้รางวัลรามอนแมกไซไซประจำปีนี้


เพิ่มเพื่อน    

มูลนิธิรามอนแมกไซไซประกาศรายชื่อผู้ได้รับมอบรางวัลรามอนแมกไซไซประจำปีนี้เมื่อวันศุกร์ นางอังคณา นีลไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็น 1 ใน 5 ผู้ได้รับรางวัลด้วย

นางอังคณา นีละไพจิตร / ไทยโพสต์

    สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า รางวัลรามอนแมกไซไซที่ได้รับการขนานนามว่ารางวัลโนเบลแห่งเอเชีย ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลประจำปี 2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม ประกอบด้วย คิม จองกี ชาวเกาหลีใต้, ราวิช กุมาร ชาวอินเดีย, โก สเว วิน ชาวเมียนมา, เรย์มุนโด คายับยับ ชาวฟิลิปปินส์ และนางอังคณา นีละไพจิตร ชาวไทย

    คิม จองกี อายุ 72 ปี เคยสูญเสียบุตรชายวัย 16 ปีจากการฆ่าตัวตายภายหลังโดนเพื่อนร่วมโรงเรียนรังแก เขาดำเนินการมูลนิธิป้องกันความรุนแรงในเยาวชนในเกาหลีใต้มายาวนาน 24 ปี โดยรณรงค์ต่อต้านการข่มเหงรังแก จัดตั้งโทรศัพท์สายตรงให้คำปรึกษาและเป็นสื่อกลางที่ปัจจุบันมีผู้ขอคำปรึกษาเฉลี่ย 50 ราย และยังวิ่งเต้นให้รัฐบาลออกนโยบายและกฎหมายใหม่ๆ เพื่อป้องกันการข่มเหงรังแกและความรุนแรง

    ราวิช กุมาร เป็นผู้สื่อข่าวชาวอินเดียวัย 47 ปี เป็นพิธีกรรายการ "ไพรม์ไทม์" ทางสถานีเอ็นดีทีวีของอินเดียทำหน้าที่สะท้อนปัญหาที่ถูกมองข้ามในสังคมอินเดีย ตัวเขามักโดนข่มขู่คุกคามและตามรังควานจากการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของอินเดียรับผิดชอบ

    โก สเว วิน วัย 41 ปี เป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวอิสระ "เมียนมานาว" ที่เผยแพร่บทความเชิงลึกที่ผ่านการค้นคว้ามาอย่างดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและประเด็นความยุติธรรมทางสังคมของเมียนมา มูลนิธิกล่าวว่า ความพยายามสร้างสื่อที่แข็งแกร่ง เป็นอิสระและมีความรับผิดชอบต่อสังคมทำให้เขาต้องดิ้นรนต่อสู้กับกฎหมายโหด การขาดความอดกลั้น การกดขี่และการดำเนินคดี สมัยหนุ่มๆ เขาเคยติดคุก 7 ปีจากการเข้าร่วมการประท้วงของนักศึกษาเพื่อต่อรัฐบาลทหาร

    คายับยับเป็นนักแต่งเพลงวัย 65 ปีที่ผลงานของเขาเป็นแรงบันดาลใจแก่แวดวงดนตรีป๊อปของฟิลิปปินส์หลายเจเนอเรชัน

    มูลนิธิได้กล่าวถึงนางอังคณาว่าเธอเป็นภรรยาหม้ายของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่โดนอุ้มฆ่าภายหลังกล่าวหากองทัพทารุณทรมานผู้ถูกควบคุมตัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย หลังการเสียชีวิตของสามี นางอังคณาได้สืบสานปณิธานของสามีและก่อตั้งมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ขัดแย้ง, ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่เหยื่อและกดดันรัฐบาลดำเนินการในคดีสิทธิมนุษยชนหลายคดี

    คำประกาศยกย่องอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนชาวไทยอายุ 63 ปี ว่าเธออุทิศตนทำงานอย่างเป็นระบบและไม่ย่อท้อเพื่อปฏิรูประบบกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมและบกพร่อง

    ผู้ได้รับรางวัลนี้จะได้รับเงินรางวัลและเหรียญสดุดีในพิธีที่จะจัดที่กรุงมะนิลา วันที่ 9 กันยายน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"