งบ 3.2 ล้านล้านบาท บทพิสูจน์ฝีมือ “สมคิด” ในวันไม่ power full เหมือนเดิม


เพิ่มเพื่อน    

          มีความชัดเจนแล้วว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาล นั่นก็คือ ร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ในวาระแรก เนื่องจากตามกรอบเวลา ทางสภาฯ จะปิดสมัยประชุมในวันที่ 18 ก.ย.ที่จะถึงนี้ แต่กระบวนการขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 รัฐบาลและสำนักงบประมาณส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะให้นำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 เข้าสู่ความเห็นชอบของที่ประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 6 ส.ค.นี้ ทำให้ตามขั้นตอน รัฐบาลไม่สามารถส่งร่างไปที่สภาก่อน 18 ก.ย.ได้ จึงต้องมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญตามมา

สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 เป็นการจัดทำงบประมาณภายใต้กรอบวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท โดยเป็น งบประมาณขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท ส่วนประมาณการจัดเก็บรายได้ในปีงบฯ 63 ตั้งเป้าไว้ที่ 2.75 แสนล้านบาท

ตามขั้นตอนหลังจาก ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ ดังกล่าววันอังคารนี้ จากนั้นทุกหน่วยงานภาครัฐจะต้องส่งคำของบประมาณในวันที่ 9 ส.ค. ส่วนตัวร่างรัฐบาลจะส่งไปที่สภาเพื่อให้สภาพิจารณาเห็นชอบในขั้นรับหลักการหรือวาระที่ 1 ในวันที่ 17 ต.ค. โดยสภามีวาระการพิจารณากรอบเวลา 105 วัน และ ส.ว. 20 วัน รวม 125 วัน

คาดว่าจะผ่านสภาในวาระที่ 2-3 ประมาณต้นเดือนมกราคม 2563 จากนั้นจึงเสนอวุฒิสภาพิจารณาประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 และคาดว่าจะสามารถนําร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายประมาณปลายเดือนมกราคม 2563

ทั้งนี้ ก่อน ครม.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 ในวันอังคารที่จะถึงนี้ ทางรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

โดย พลเอกประยุทธ์ ระบุตอนหนึ่งในการประชุมเพื่อมอบนโยบายกับผู้เกี่ยวข้องกับการจำทำงบประมาณไว้ว่า

“การจัดทำงบประมาณต้องทำให้สอดคล้องกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอก โดยจะรับฟังความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อให้การจัดทำงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่าย คือเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการทำให้นโยบาย-โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลได้เคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะหากไม่มีงบประมาณ สิ่งที่หาเสียงไว้ก็ย่อมทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่เต็มที่

เรื่องนี้ก็เปรียบเสมือนกับการใช้ชีวิตของคนเรา หากไม่มีเงินในกระเป๋า ก็ย่อมทำให้ชีวิตติดขัด ไม่สามารถจับจ่ายซื้อของ ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการได้ หรือบริษัทห้างร้าน หากไม่มีเงินในบัญชีบริษัท ก็ทำให้กิจการมีปัญหา ไม่มีเงินจ่ายแม้แต่ค่าน้ำ-ค่าไฟ ก็ต้องเลิกกิจการไป ดังนั้น เงิน ที่ในภาครัฐ ก็คือ งบประมาณรายจ่าย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ต่อการทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลสามารถเดินหน้าไปได้ รวมถึงสามารถผลักดันโครงการ-นโยบาย ที่จะเป็นจุดขายสำคัญทางการเมืองให้รัฐบาลนำไปหาเสียง-ประชาสัมพันธ์ได้ว่าเป็น ผลงานรัฐบาล เพื่อผลทางการเมืองในวันข้างหน้าของพลเอกประยุทธ์และพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ที่กำกับดูแลกระทรวงต่างๆ ต่อไป

สำหรับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 2 แม้จะมีจุดแข็ง-ผลงานบางด้าน ที่สามารถนำไปหาเสียงประชาสัมพันธ์ได้ว่า เป็นผลงานของรัฐบาล แต่ จุดอ่อน-ข้อตำหนิ ที่สำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 1 ก็คือ

“ปัญหาเศรษฐกิจ”

ที่ถูกโจมตี ดิสเครดิตมาตลอด โดยเฉพาะซีกการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในเวลานี้ที่ก็จะพบว่า ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา ประชาชนเดือดร้อน ชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าครองชีพทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนร้องระงมว่ารัฐบาลสอบตกในเรื่องเศรษฐกิจ เสียงสะท้อนเหล่านี้ได้ถูกฝ่ายค้านนำมาอภิปรายดิสเครดิตรัฐบาลกลางที่ประชุม จนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจประยุทธ์ 1 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนากฯ ต้องลุกขึ้นชี้แจงเรื่องเศรษฐกิจกลางที่ประชุมรัฐสภาถึงสองรอบ

             การลุกขึ้นพูดกลางที่ประชุมรัฐสภาสองรอบดังกล่าวของ สมคิด ที่รอบนี้ก็กลับมาเป็น หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 2 อีกครั้ง เพราะแม้รัฐบาลจะมีรองนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองอีกสองคนที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจ คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ควบรองนายกฯ-รมว.พาณิชย์ โดยมีเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ปชป. เป็น รมว.เกษตรฯ ขณะที่ ภูมิใจไทย ทางอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เป็นรองนายกฯ โดยมีคนในพรรคคือ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็น รมว.คมนาคม และพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็น รมว.การท่องเที่ยวฯ อีกทั้งมติ ครม.เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการเห็นชอบให้มีการตั้ง

                คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ก็คือ ครม.เศรษฐกิจ

โดยมีพลเอกประยุทธ์เป็นประธาน แต่สมคิดก็ยังเป็น รองประธานกรรมการคนที่ 1 ซึ่งในความเป็นจริง สมคิด ก็คือ กัปตันทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล อยู่ดี เพียงแต่การให้พลเอกประยุทธ์เป็นประธาน ก็เป็นการจัดทัพที่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะ ครม.เศรษฐกิจในรัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง เพื่อจะได้ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะเวลาแก้ปัญหาเร่งด่วนต่างๆ หรือต้องมีการตัดสินใจบางเรื่อง ที่อาจมีผลทางการเมืองสูงตามมา การให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานหัวโต๊ะรับรู้และเป็นผู้นำการตัดสินใจก็ย่อมทำให้ได้รับความเกรงใจจากรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่นที่อยู่ใน ครม.เศรษฐกิจ แต่คนที่เป็นกัปตันทีมเศรษฐกิจจริงๆ ที่จะแสดงฝีมือให้เห็นว่ารัฐบาลประยุทธ์ 2 สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นได้ แข็งแกร่งขึ้น แก้ปัญหาประชาชนในด้านต่างๆ ได้ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ทั้งหมดก็อยู่ที่การนำพาของ สมคิด ในวันที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอีกครั้ง

หลังก่อนหน้านี้สมคิดถูกปรามาสว่า ขนาดรัฐบาล คสช.ที่มีอำนาจมากมาย ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาล มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่พร้อมจะผ่านร่างกฎหมายสำคัญด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทุกฉบับ แถมพลเอกประยุทธ์เวลานั้นยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือ แต่เศรษฐกิจยังมีปัญหา ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว ทีมเศรษฐกิจของสมคิดยังล้มเหลว แล้วมารัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่สมคิดไม่ได้ power full เหมือนเดิม จะไม่ยิ่งหนักกว่าเดิมหรือ ทั้งหมดก็อยู่ที่ สมคิด แล้วว่าจะลบคำปรามาสได้หรือไม่ โดยตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ สมคิดและทีมเศรษฐกิจรัฐบาล สามารถนำทีมเศรษฐกิจแก้ปัญหาต่างๆ และพากลไกเศรษฐกิจของประเทศแต่ละด้าน ทั้งการส่งออก-การผลิต-การลงทุน-การท่องเที่ยว-การเงินการธนาคาร เดินหน้าไปได้ก็คือ เม็ดเงินในร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 ที่จัดสรรไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ที่หลายเม็ดเงินจะถูกนำไปใช้เพื่อผลักดันโครงการ-นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ โดยจะถูกจัดสรรไว้ในงบกระทรวงต่างๆ

ส่วนทิศทางด้านเศรษฐกิจของไทยต่อจากนี้จะเดินหน้าไปทางไหน ต้องบอกว่าไม่ต้องไปอ่านเอกสารนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาหลายสิบหน้าให้เสียเวลา หลายคนบอกว่าแค่ไปหาคลิปในโซเชียลมีเดียเพื่อเปิดฟังการลุกขึ้นชี้แจงของ สมคิด กลางที่ประชุมรัฐสภาตอนแถลงนโยบาย ก็เห็นเข็มทิศเศรษฐกิจประเทศไทยตลอดอายุรัฐบาลชุดนี้แล้ว

เช่น แนวคิดการผลักดันนโยบายโครงการ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลประยุทธ์ 1 ชูว่าคือผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล โครงการ EEC ก็ได้รับการการันตีว่าจะเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อเป็นจุดแข็งในการลงทุนของประเทศไทย ตามการชี้แจงของสมคิดกลางที่ประชุมรัฐสภาดังกล่าวตอนหนึ่งดังนี้

EEC ผมเรียนท่านตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ถ้าท่านไม่มี EEC ท่านจะเอาอะไรไปขายสู้กับเวียดนาม เรามีอะไร ค่าแรงแพงกว่าเขาครึ่งหนึ่ง            

EEC มันถึงเกิดขึ้นมา พยายามทำให้มันเป็นเบ้าหลอมของการนำเข้า-ส่งออก และเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่า และให้มันเป็น Hub ของภูมิภาคนี้ โครงการมันก็เลยออก จริงอยู่โครงการเหล่านี้มันก็ต้องอาศัยเงิน ก็พยายามคิดว่า หนึ่ง งบประมาณ จะเซฟงบประมาณได้อย่างไร เซฟการกู้ได้อย่างไร ก็ออก Future Fund ออกมา Infra Fund ออกมา มันก็สำเร็จไปแล้ว 1 โครงการ เซฟเงินรัฐบาลไปได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท นี่เพียงแค่โครงการเดียว เราเน้น PPP การร่วมลงทุนกับเอกชน เซฟเงินรัฐบาลได้อีก

โครงการรถไฟ 3 สนามบินที่ EEC รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเลย เอกชนเขาหาพวกมาสู้กัน ประมูลแข่งกัน เขาชนะ เขาต้องทำให้เมืองไทย สิ่งเหล่านี้จะบอกว่าเฉพาะแค่ 3-4 วัน ได้ประโยชน์ได้อย่างไร เพราะเมื่อมี EEC แล้ว อุตสาหกรรมใหม่ๆ มันก็เกิดขึ้นที่นั่น

วันนี้ 5 โครงการใหญ่ คือ แหลมฉบัง มาบตาพุด รถไฟ สนามบินอู่ตะเภา 4 โครงการนี้มันเริ่มเดินหน้าแล้ว เหลือแค่ MRO ศูนย์ซ่อมที่ยังไม่เดินหน้า ซึ่งจะต้องไปเร่งให้มันดีขึ้น ฉะนั้น EEC มันต้องเกิด เพราะว่าสร้างจุดขายใหม่ให้ประเทศไทย สร้างแรงดึงดูดให้กับประเทศไทย”. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"