เริ่มแคมเปญปลุกแก้ รธน. หวังตามรอยธงเขียวปี 40


เพิ่มเพื่อน    

      ประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อนำไปสู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นอีกหนึ่งฉากทางการเมืองที่ต้องติดตามกันยาวๆ ต่อจากนี้ ว่าจะมีพัฒนาการทางการเมืองนำไปสู่จุดใดหรือไม่?

      แม้ประเมินอุณหภูมิการเคลื่อนไหวดังกล่าว ไม่น่าจะนำไปสู่จุดขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงมากนัก เหตุเพราะพรรคร่วมรัฐบาลผสม 19 พรรค โดยเฉพาะพรรคหลักๆ พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ ก็เอาด้วยกับเรื่องนี้ จนมีการนำไปเขียนไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา ที่อยู่ในส่วนของ "นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง" ที่ระบุไว้ว่า

       "การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ"

      ซึ่งแม้รัฐบาลจะเขียนแบบเปิดกว้าง ไม่ยอมให้มีการผูกมัดตัวเองในอนาคต ถึงรูปแบบและกระบวนการว่าจะทำอย่างไร ทำด้วยวิธีการไหน และจะเริ่มต้นเห็นทิศทางอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อใด แต่เมื่อเรื่องดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา และถูกเขียนไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลดังนั้น ก็ย่อมถือเป็น สัญญาประชาคมทางการเมือง ที่รัฐบาล-พลเอกประยุทธ์ ก็ต้องทำให้มีความคืบหน้า เห็นทิศทางไม่มากก็น้อยในช่วงรัฐบาลชุดนี้ ไม่เช่นนั้นเรื่องดังกล่าวจะกลับกลายเป็นหอกทิ่มแทงทางการเมืองว่าพลเอกประยุทธ์และรัฐบาล โดยเฉพาะบางพรรคการเมืองอย่าง ประชาธิปัตย์ ที่ยื่นเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด จะถูกกระแสสังคมกดดันและทวงถาม สัญญาประชาคมดังกล่าว หากเวลาผ่านไปสักระยะแล้วไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา และจะกลายเป็นว่ารัฐบาลผิดสัญญาประชาคม ไม่ยอมทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา อันอาจนำไปสู่การเอาผิดทางการเมืองตามมาได้

      อย่างไรก็ตาม เรื่องการเคลื่อนไหวแก้ไข รธน. ทางฝ่าย 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายบริหาร และหลายพรรค เช่น เพื่อไทย-อนาคตใหม่ ก็ชูแคมเปญการแก้ไข รธน.ตั้งแต่เลือกตั้ง จึงทำให้ฝ่ายค้านต้องขยับเรื่องนี้จริงจังมากกว่าฝ่ายรัฐบาล

      โดยการรณรงค์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว จากฝ่ายพรรคอนาคตใหม่ ที่ขยับเร็วและแรงกว่าพรรคเพื่อไทย พี่ใหญ่พรรคฝ่ายค้าน ที่ยังอุ้ยอ้าย ขยับตัวช้า ไปหลายช่วงตัว เห็นได้จากที่พรรคอนาคตใหม่เริ่มรณรงค์เปิดแคมเปญ แก้ไขรัฐธรรมมนูญ ภายใต้แคมเปญ-สโลแกนที่ใช้ในการเคลื่อนไหวว่า จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน ซึ่งได้เริ่มต้นแล้วที่เชียงใหม่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา

      และจบจากเชียงใหม่ ก็มีข่าวว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะจับมือเคลื่อนไหวรณรงค์แก้ไข รธน.กันให้หนักขึ้น โดยเฉพาะหลังปิดสมัยประชุมสภาฯ กลางเดือนกันยายน

      ทิศทางการเคลื่อนไหวรอบนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปักหมุดหมายทางการเมืองไว้ว่า ต้องการสร้างกระแสการมีส่วนร่วมจากประชาชนให้มากที่สุด เหมือนเช่นตอนช่วงมีกระแส ธงเขียว ปี 2540 ที่ประชาชนตื่นตัวรณรงค์ และกดดันให้ ส.ส.-ส.ว.ยุคดังกล่าวรับร่าง รธน.ปี 2540 มารอบนี้ก็จะเปลี่ยนจากให้รับร่าง รธน.มาเป็นรณรงค์ให้ ส.ส.-ส.ว. ร่วมกันเห็นชอบให้มีการแก้ไข รธน.   

       "เราเคยทำได้มาแล้ว เมื่อปี 2540 ในรูปแบบของรัฐธรรมนูญธงเขียว เชื่อว่าถ้าทุกคนมาร่วมกัน จะสามารถทำได้อีกครั้ง นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจ ธนาธรระบุไว้

      แม้เวลานี้ดูแล้วพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจน ส.ว. ที่มาจากการเลือกเฟ้นจากฝ่าย คสช. จะยังไม่แสดงท่าทีคัดค้านการเคลื่อนไหวแก้ไข รธน. ที่ก็เป็นเพราะเงื่อนไขเวลายังไม่สุกงอม สถานการณ์ยังไม่สุกงอม แต่ทว่าหากประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านรณรงค์ให้แก้ไข รธน.แล้วนำไปสู่ การ ล้างกระดานอำนาจฝ่ายพลเอกประยุทธ์-พรรคร่วมรัฐบาล-ส.ว. เช่น แก้ไขเพื่อนำไปสู่การไม่ให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกในช่วงเวลาที่เหลือ หรือแม้กระทั่งแก้ไขเพื่อนำไปสู่การเซตซีโร ส.ว.ทั้งหมด

      ถึงเวลานั้น ที่คิดกันว่าการแก้ไข รธน.หากเกิดขึ้นแล้ว จะไม่นำไปสู่การต่อต้านและเกิดความขัดแย้งทางกางการเมือง สิ่งที่คิดไว้ดังกล่าว ถึงเวลาจริงๆ อาจตรงกันข้ามก็เป็นได้!!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"