ศึกยกแรก "รัฐบาลประยุทธ์" ลมใต้ปีกดัน "รัฐบาล" ฝ่ามรสุม


เพิ่มเพื่อน    

 

          ผ่านการเลือกตั้งมาจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบา ลได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ใช่ว่าจะหายใจทั่วท้อง ในการนำพารัฐนาวา “เรือเหล็ก” ไปจอดป้ายได้จนครบวาระ เพราะแค่เริ่มการแถลงนโยบาย ก็ถูก ส.ส.หน้าใหม่จากพรรคฝ่ายค้านเปิดประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมรัฐสภา ไม่มีการตอบคำถามในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ถวายสัตย์ครบตามนั้นหรือไม่ แต่หลังจากนั้นเรื่องดังกล่าวก็กลายเป็นปมประเด็นให้ฝ่ายค้านนำไปใช้รุกไล่ พล.อ.ประยุทธ์นอกสภาฯ จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว เหมือนเป็นการยอมรับกลายๆ ว่า การถวายสัตย์ดังกล่าวไม่ครบถ้วนจริง

  ความผิดพลาดดังกล่าว ไม่มีใครระบุชัดว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่ ปล่อยทิ้งให้เป็นปริศนาคาใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับไปเต็มๆ แม้กระทั่ง “เนติบริกร” อย่าง “วิษณุ เครืองาม” ก็ไม่กล้าที่จะให้ความเห็นทางกฎหมายใดๆ เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว

แต่การที่ฝ่ายค้านส่งให้องค์กรอิสระไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็เป็นบทพิสูจน์ว่า “เกม” ที่หมิ่นเหม่เช่นนี้ ไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ในทางการเมือง กลับยิ่งเป็นปัจจัยในการขยายบาดแผลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นทหารผู้จงรักภักดีให้กว้างขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ออกมาตอกย้ำเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง หลังจากถูก “ตัดพี่ตัดน้อง” ในสภาฯ

"ยกตัวอย่างกรณีพันท้ายนรสิงห์ แม้ว่าจะเป็นคนโปรดของพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อได้ทำความผิด และแม้เป็นเพียงไม่ได้ตั้งใจก็ตาม แต่เพื่อไม่ให้เสียพระเกียรติพระมหากษัตริย์และกฎจารีตประเพณี จึงยอมรับโทษประหาร ยิ่งกรณีนี้เป็นการจงใจกระทำผิด นายกฯ จึงควรต้องแสดงความรับผิดชอบในทางการเมืองจนถึงที่สุดด้วย" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ไม่ใช่ “การลาออก” โดยคาดว่าจะมีทางออกในเรื่องดังกล่าวแล้ว

 “เรื่องแรกที่เป็นประเด็นสำคัญ ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรถึงทำงานได้ ก็หวังให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญดูว่าเขียนว่าอย่างไร อย่างไรก็ตาม ก็คงยังมีรัฐบาลอยู่ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่าผมได้ทำของผมเต็มที่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

และเป็นเรื่องปกติที่เมื่อ “ผู้นำ” อยู่ในภาวะที่ถูกกระหน่ำหลายด้าน ก็เป็นจังหวะของฝ่ายตรงข้ามต้องซัดกลับให้ตั้งตัวไม่ติด หลังจากที่พ่ายแพ้ทางการเมืองด้วยกติกาที่เขียนขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรม

ตอกย้ำด้วยปัญหากวนใจในพรรคร่วมรัฐบาลเอง ที่ไม่ได้ผนึกเหนียวแน่นด้วยอุดมการณ์ ทำให้เหล่าบรรดาพรรคเล็กที่เข้ามาร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงมีอาการร้องกระจองอแงอยู่เป็นระลอก และยังไม่รู้อนาคตในวันข้างหน้าของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ร่วมทำงานกันมาจะมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องนโยบายที่แตกต่างกันอีกหรือไม่

                เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อเกิดเหตุระเบิดเชิงสัญลักษณ์หลายจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้างกองบัญชาการกองทัพไทย และป้ายสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศรีสมาน ไม่นับรวมพื้นที่กลางใจเมืองอีกหลายแห่ง

                เป็นห้วงหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพล และยังคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นั่งประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลื่อนลด ปลด ย้าย ทหาร-ตำรวจโดยตรง 

                ทิศทางการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่จากการจับกุมผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุระเบิดเป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเยาวชนจากขบวนการก่อความไม่สงบ หนึ่งในสอง พบประวัติการก่อเหตุโจมตีฐานทหารนาวิกโยธินมาแล้ว แต่การเชื่อมโยงและเป้าประสงค์ของผู้บงการในการจ้างวานกลุ่มเหล่านี้นอกจากการแสดงศักยภาพของขบวนการแล้ว จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองหรือไม่ ยังไม่มีข้อสรุป

                แต่สิ่งที่ปรากฏชัดคือ ความเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลชุดนี้ ด้วยปฏิบัติการลอบกัด ลดความน่าเชื่อถือของรัฐ มีกลุ่มที่สามารถก่อการขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้

                ในขณะที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่กำลังรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างเครือข่ายแนวร่วมกลุ่ม “หัวก้าวหน้า” ที่ไม่เห็นด้วยในการ “เอาเปรียบ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กินรวบสร้างอำนาจในการเข้าไปบริหารประเทศผ่านการเลือกตั้งด้วยกติกาที่เป็นธรรม เพื่อเป็นหัวเชื้อในการรวบรวมมวลชน ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมต่อสู้

                ผ่านโมเดล “สสร.-ธงเขียว” กดดันให้รัฐบาลพร้อมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยความสมัครใจ เพราะจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันยากที่ฝ่ายค้านจะชูธงเรื่องดังกล่าวด้วยวิธีการในรัฐสภาได้

                “หัวเชื้อ” ของกลุ่มรณรงค์เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็น “พลังทางสังคม” ที่น่ากลัว แม้จะถูกฝ่ายรัฐมองว่าเป็นแนวร่วมของ “ระบอบทักษิณ” เก่า แต่ในองค์ประกอบแล้วมี กลุ่มที่เป็นกลาง-ทางเลือกที่สาม ที่มุ่งหมายให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ไร้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีอยู่ ก็ได้รับเสียงตอบรับจากคนส่วนใหญ่ไม่น้อย          แค่เริ่มต้นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 ก็ดูเหมือนว่าการทำงานต่างๆ ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เสียงปริ่มน้ำที่คิดว่าจะพ้นน้ำด้วยปรากฏการณ์ของ ส.ส.ที่ไหลมารวมกับขั้วพลังประชารัฐ ไม่ได้ง่ายเหมือนการสั่งซ้ายหัน-ขวาหัน เพราะสถานการณ์ป่วนรัฐบาลยังไม่นิ่ง  นักการเมืองที่ต่างเป็นนกรู้จึงต้องซอยเท้าดูสถานการณ์ไปพลางๆ ก่อน          

หรือจะวางใจว่า วันนี้ไม่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นมือดีลการเมือง แก้ไขปัญหาให้ พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนในอดีต แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีพันธมิตรหลักเป็นกองทัพที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มร้อย ซึ่งทุกฝ่ายมองว่าเป็นปัจจัยเข้มแข็งที่สุดในการทำให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าไปอย่างมั่นคง

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็พร้อมสนับสนุนกองทัพในทุกเรื่อง เพราะรู้ดีว่ากองทัพคือกลไกหลักในการรักษาความมั่นคงของชาติ และสถาบันสำคัญ อีกทั้งเป็นองค์กรที่ความผกผันต่อการเมืองสูงด้วย ดังนั้นสูตรการ “ปฏิรูปกองทัพ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเป็นภารกิจลำดับแรกๆ ในการเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม จึงเป็นการปฏิรูปบนพื้นฐานของการปรับในโครงสร้างเดิม ซึ่งคาดว่าไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
                ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล แม้จะกระจองอแง ดูทิศทางลม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เชื่อว่าจะยังไม่มีการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างในตอนนี้ เพราะกลุ่มหลักๆ ที่อยู่กับรัฐบาล คือกลุ่มที่ไม่เอา “ทักษิณ-เสื้อแดง” จึงไม่มีทางเลือกอื่นที่จะใช้พื้นที่ทางการเมือง

จึงมองได้ว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเจอมรสุมรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ๆ อย่างถวายสัตย์ หรือระเบิดป่วนเมือง แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้รัฐบาลนี้ล่มลงในระยะเวลาอันใกล้ แต่น่าสนใจว่าเมื่อทอดระยะเวลายาวออกไป ปัญหาอื่นที่รุมเร้า ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้อีกหลายเรื่อง ทั้งภัยแล้ง-อุทกภัย ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องความเป็นอยู่ ค่าครองชีพของคนไทย ที่มีผลอย่างสูงต่อทัศนคติทางการเมือง จะทำให้รัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ครบวาระเหมือนที่มีคนคาดการณ์ไว้หรือไม่ 

                เพราะต่อให้มี “ลมใต้ปีก” เป็นกองทัพ-ตำรวจ ด้วยการจัดสรรอำนาจให้ลงตัว ไม่กระจุกอยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือกระจายประโยชน์ให้กลุ่มการเมืองอย่างเป็นธรรม แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถดึง “มวลชน” อยู่ฝ่ายตัวเองได้ ก็มีภาวะเสี่ยงที่รัฐบาลจะอยู่ได้ไม่นาน!!.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"