'ดอยตุง' ชนะ 'สงครามขยะ' สู้ต่อลด'ก๊าซเรือนกระจก'


เพิ่มเพื่อน    

การคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง 6 ชนิด ภายในศูนย์จัดการขยะ

 

     ความสำเร็จของแหล่งท่องเที่ยวมักวัดด้วยรายได้  ปริมาณนักท่องเที่ยว หรือการขยายพื้นที่ให้ใหญ่โตมากขึ้น แต่สำหรับ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงราย มีสถานที่สำคัญอย่างพระตำหนักดอยตุง สวนแม่ฟ้าหลวง ศูนย์รวมช่างฝีมือท้องถิ่นทอผ้า ช้อนกระดาษสา ปั้นเซรามิก และคั่วกาแฟ จนกระทั่งดอยตุง ลอดจ์ ที่พักบนดอยตุง พร้อมใจกันสร้างขยะให้น้อยลง ยึดแนวทางใช้น้อยและปล่อยน้อย แล้วยังมีการจัดการขยะแบบไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ หรือ Zero Waste to Land Fill ที่จะไม่สร้างขยะใหม่ๆ และหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ ปัจจุบันดอยตุงประสบผลสำเร็จ ไม่มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้

 

ดอยตุงไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ คัดแยก เพิ่มมูลค่า ขายได้

 

      ไอเดีย Zero Waste to Land Fill บนดอยตุงนี้ ทำให้เกิดศูนย์จัดการขยะอย่างศูนย์จัดการขยะและสำนักงานสิ่งแวดล้อม ที่รับขยะจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ที่แยกขยะจากต้นทางมาส่วนหนึ่งแล้ว มาคัดแยกต่อที่ปลายทางให้ถูกต้องตรงตามการใช้ประโยชน์ต่างๆ มี 6 ชนิด ขยะย่อยสลายได้อย่างเศษอาหาร เศษผัก ขยะขายได้อย่างแก้ว-จานพลาสติก กระดาษ ขยะเปื้อน เช่น ถุงพลาสติกเปื้อนแกง ขยะพลังงานอย่างเศษด้าย กะลาแมคคาเดเมีย  ขยะอันตรายจำพวกกระป่องสเปรย์ แบตเตอรี่ กระทั่งขยะห้องน้ำ เช่น ทิชชู่ ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม

      ภายในศูนย์ยังมีห้องเก็บขยะขายได้ เครื่องอัดพลาสติก ห้องเก็บขยะอันตราย และเครื่องบดย่อยหลอดไฟด้วย ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ พาเยี่ยมชมศูนย์จัดการขยะดังกล่าวเมื่อวันก่อนในโอกาสมูลนิธิจัดงานสัมมนาประจำปี 2562 ของอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) หัวข้อ "สิ่งแวดล้อมเชียงราย การแก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืน" ศูนย์จัดการขยะสร้างแรงบันดาลใจและทำให้หลายๆ คนมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะลดขยะให้เหลือศูนย์

 

ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี ผู้บริหารศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ     

 

     ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี วิศวกรอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผู้บริหารศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขยะเป็นประเด็นใหญ่ของดอยตุง เพราะเรามีส่วนสำนักงาน โรงงาน 8 โรง ห้องอาหาร และส่วนท่องเที่ยว ร้านกาแฟ มีพนักงาน 1,500 คน ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาบนดอยตุงปีละกว่า 6 แสนคน   มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นองค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีนโยบายด้านจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งแนวคิดขยะเหลือศูนย์ ลดและงดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และจัดการขยะแบบไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบตามแนวคิดธุรกิจหมุนเวียน

      จากข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของ ดร.ธนพงศ์ สะท้อนภาพความล้มเหลวจัดการขยะไทย เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,782 แห่ง ในประเทศไทย มีเพียง 50% มีบริการเก็บขยะ และมี 740 แห่งที่จัดการถูกต้อง มีเตาเผากำจัดมลพิษ ระบบคัดแยก และฝังกลบถูกต้อง  ส่วนสถานการณ์ขยะเชียงราย ปัจจุบันมีขยะ 4 แสนตันต่อปี อปท.ที่มีระบบจัดการขยะแค่ 50 แห่ง จาก 143 แห่ง ที่เหลือเทกองแบบเปิด 26 แห่ง เตาเผาไม่ถูกต้อง 2 แห่ง และไม่ได้จัดการอะไรเลยถึง 93 แห่ง ส่วนปริมาณขยะบนดอยตุง 114 ตันต่อปี ข้อมูลปี 61  

      " บ่อฝังกลบเทศบาลตำบลห้วยไคร้พื้นที่ 90 ไร่ เป็น 1 ใน 3 บ่อที่ถูกหลักสุขาภิบาล บ่อนี้รับขยะจาก 3 หน่วยงาน คือ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ อบต.แม่ฟ้าหลวง และเทศบาลตำบลห้วยไคร้ บ่อฝังกลบเต็มแล้วเต็มอีก เกินความสามารถรองรับการกำจัดขยะ 20-30% มีปัญหาประสิทธิภาพของระบบด้วย การหาบ่อฝังกลบแห่งใหม่ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงเริ่มโครงการจัดการขยะแบบไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ ทำตั้งแต่ปี 55 ปริมาณขยะที่ไปบ่อฝังกลบลดลงเรื่อยๆ แต่ติดที่ขยะเปื้อน 11% ถุงพลาสติกมีอาหารค้างในถุง เดิมเข้าหลุมฝังกลบหมด แต่เมื่อนำมาล้างในเครื่องล้างขยะ แล้วไปปั่นแห้ง เอาไปอัดเป็นก้อนไปขายต่อ ทำให้ปี 61 ไม่มีขยะบนดอยตุงสู่บ่อฝังกลบนี้อีกเลย พิชิตเป้าหมายสำเร็จ จะขยายผลวิธีนี้ให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจด้วย" ดร.ธนพงศ์ กล่าว

 

ขยะเปื้อนจัดการด้วยเครื่องล้างขยะ ก่อนนำไปปั่นแห้ง อัดเป็นก้อน

 

      สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการต่อ ผู้บริหารศูนย์เรียนรู้ฯ ระบุว่า ต้องลดค่าใช้จ่ายจัดการขยะให้น้อยกว่า 500 บาทต่อตัน ปัจจุบันวิธีนี้ยังแพงอยู่ที่ 2,000 บาทต่อตัน แต่มีประโยชน์กว่า เปลี่ยนขยะเป็นเงิน ไม่ก่อมลพิษ และพัฒนาขยะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงจะเพิ่มการแยกขยะจากต้นทางจาก 80% เป็น 100% ให้ได้ ปัจจุบันมีปัญหาในกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่คัดแยกขยะครึ่งต่อครึ่ง ต้องพยายามแก้ปัญหานี้ให้ได้ เพื่อเป็นต้นแบบจัดการขยะที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

      นอกจากลดขยะแล้ว ดอยตุงยังเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ ดร.ธนพงศ์เผยว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สามารถลดความเข้มของการใช้พลังงานร้อยละ 36 และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 4.5 ในปี 61 โดยมีเป้าหมายจะเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปีหน้า มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เป็นความร่วมมือของพนักงานและชาวบ้านในพื้นที่ ปลูกและฟื้นฟูป่าช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอน ถ้านำปริมาณลดก๊าซ ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต ไปขายในตลาด จะมีรายได้กลับคืนมา

 

เครื่องปั่นแห้งภายในศูนย์จัดการขยะ จ.เชียงราย 

 

     ส่วนการใช้พลังงานทดแทนที่ดอยตุงก็เป็นต้นแบบ ผู้บริหารศูนย์หัวใจสีเขียวให้ข้อมูลว่า ที่นี่มีการใช้กะลาหรือเปลือกของแมคคาเดเมียเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำร้อนของโรงงานกระดาษสาและโรงงานย้อมสี ลดใช้ LPG ได้ 55% ประหยัดเงินกว่า 4 แสนบาท ทั้งยังผลิตซินแก๊สจากถ่านไม้ไผ่แห้ง ใช้โซลาร์เซลล์ที่หอแห่งแรงบันดาลใจและ 52 ไร่  มีปั๊มน้ำโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร ตลอดจนสร้างโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอแก๊สจากน้ำเสียจากการแปรรูปกาแฟ ซึ่งกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น กระบวนการผลิตกาแฟต้องมีความยั่งยืนและปกป้องสิ่งแวดล้อม 

 

เยี่ยมชมระบบบำบัดน้ำเสียต้นแบบมาจากโครงการแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายในศูนย์จัดการขยะ

 

      จากดอยตุงสู่ศาลาแก้ว อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือที่เรียกว่า "ไร่แม่ฟ้าหลวง" สถานที่จัดงานสัมมนา "สิ่งแวดล้อมเชียงราย การแก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืน" เวทีนี้เป็นความตั้งใจของอาจารย์นคร พงค์น้อย กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง เพื่อระดมแนวคิดและสร้างความตระหนักรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว

 

สัมมนา "สิ่งแวดล้อมเชียงราย การแก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืน" ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง

 

      วงเสวนาฉายภาพเชียงรายขยะเกลื่อนเมือง หมอกควันพิษ จนถึงเรื่องฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 มหันตภัยใกล้ตัว โดยมีวิทยากรจากภาคส่วนต่างๆ อย่างอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ, วิทิตนันท์ โรจนพานิช นักปีนเขาไทยที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม,  อาจารย์ ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในประเทศและภูมิภาค และ พญ.วรรัตน์ อิ่มสงวน อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ร่วมพูดคุย ขณะที่ ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี ถอดบทเรียนการจัดการขยะบนดอยตุงให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับฟังด้วย

      อาจารย์ ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ กล่าวว่า เชียงรายที่เห็นนอกจากปัญหาขยะ ประชาชนยังเป็นผู้ประสบภัยหมอกควัน เป็นปัญหาใหญ่มาก พบว่าอายุเฉลี่ยของชาวเชียงรายสั้นกว่าที่ควรจะเป็น 4 ปี เพราะได้รับผลกระทบจากการสูด PM 2.5 เข้าปอด ปัจจุบันมีประชากรกลุ่มเสี่ยงกว่า 2 แสนราย ทั้งเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ สถานการณ์หมอกควันเชียงรายปีนี้วิกฤติมาก เดิมฟ้าหม่นหนึ่งเดือน แต่ปี 62 โดนรมควันตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.ถึง 31 พ.ค. ไม่มีวันไหนเกณฑ์คุณภาพอากาศเป็นสีเขียว จะมีมาตรการอย่างไรไม่ให้วิกฤติซ้ำอีก นำมาสู่การตั้งศูนย์วิจัยหมอกควันฯ รวบรวมนักวิชาการทุกสาขาที่สนใจแก้ปัญหา

      " มาตรการระยะสั้นได้จัดทำระบบรับมือฝุ่น PM 2.5 สำหรับกลุ่มเสี่ยง โดยประสานจังหวัดเชียงรายของบขั้นต่ำ 5 ล้านบาท สนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดระดับมลภาวะใน อปท. และเทศบาล 114 แห่ง เพราะรับผิดชอบภัยพิบัติระดับท้องถิ่น เมื่อรู้ตัวเลขค่าฝุ่นจิ๋วทั้ง PM 2.5 และ PM 10 ศูนย์เฝ้าระวังจะส่งข้อความเตือนภัยให้ผู้ใหญ่บ้าน 1,000 คน มีการประกาศเสียงตามสายเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ป้องกันตัวเองเบื้องต้น ขณะเดียวกัน อสม.อีก 20,000 คน ที่ผ่านการอบรมจะดูแลกลุ่มเสี่ยง อีกกลไกจะเตรียมห้องปลอดภัย หรือ Clean Room มีเครื่องกรองอากาศ PM  2.5 ใช้พื้นที่ รพ.สต. และศูนย์อนามัย จำนวน 215 จุดในเชียงราย เมื่อค่าฝุ่นจิ๋ววิกฤติ อพยพคนมาไว้ที่นี่ชั่วคราว ถ้าภายในเดือน พ.ย.นี้ ไม่เริ่มทำ ช่วยไม่ทัน ยอดผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 เพิ่มแน่นอน" อาจารย์ ดร.ปเนตย้ำวิกฤติสุดๆ จะป่วยตายด้วยโรคจากมลพิษอากาศ 

 

อาจารย์ ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์หมอกควัน

 

      ส่วนมาตรการระยะยาวจะแก้ไฟป่าและหมอกควันเชียงรายได้ ผู้อำนวยการศูนย์หมอกควันย้ำในท้ายต้องแก้ปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในป่าต้นน้ำของไทย ไม่ใช่แค่ไม่เผา แต่ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากพืชไร่เป็นปลูกไม้ยืนต้น รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบทางสุขภาพและรักษาดิน น้ำ ป่า

      สารพัดกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายจากยอดดอยถึงพื้นราบ ถือเป็นกรณีศึกษากระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ใส่ใจปัญหามากยิ่งขึ้น จะช่วยลดขยะให้เหลือศูนย์ ลดฝุ่นควันพิษ เพื่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของตนเอง ทั้งหมดนี้เป็นจริงได้ด้วยสองมือมนุษย์

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"