'ปิยบุตร'แนะศาลรธน.อดทนต่อเสียงวิจารณ์ เชื่อเป็นเกราะคุ้มภัยให้องค์กร


เพิ่มเพื่อน    

แฟ้มภาพ

14 ส.ค.62 - เมื่อเวลา 16.45 น.  ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาวาระรับทราบรายงานประจำปี 2560 ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า สมัยที่ตนเป็นนักวิชาการได้วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย และการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ ด้วยความปรารถนาดีว่าอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พิทักษ์ระบบนิติรัฐ นิติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญในการรักษากฎหมายสูงสุดของประเทศ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเสียงข้างมาก คุ้มครองเสียงข้างน้อย คุ้มครองสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นธรรมชาติที่ศาลรัฐธรรมนูญมักเผชิญหน้ากับสภาอยู่เสมอ ในส่วนของสภามีความชอบธรรม เพราะมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติด้วย พวกเราจึงต้องแสวงหาความชอบธรรมเช่นกัน

นายปิยบุตร กล่าวว่า ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องออกแบบให้เชื่อมโยงประชาชนผ่านกระบวนการทางสภา เช่น ประเทศเยอรมนี แต่ในประเทศไทยที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่เชื่อมโยงกระบวนการทางสภา ส.ส.แทบไม่มีโอกาสพบปะกับบุคคลที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลย เพราะมีที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง และให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติรับรอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะตัวศาลเองมีที่มาที่ไม่เชื่อมโยงสภาเลย

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ในรายงานประจำปีของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รวบรวมสถิติคดีตั้งแต่ปี 2551 – 2560 พบว่าตั้งแต่ปี 2557 จำนวนคำร้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะปี 2557 เป็นปีที่มีการรัฐประหาร ซึ่งปกติเวลารัฐประหารสิ่งแรกๆที่คณะยึดอำนาจต้องทำ คือยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ เพื่อใช้อำนาจตัวเองตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนมูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต้องแสดงบทบาทไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และต้องบอกว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ดังนั้น เมื่อมีการรัฐประหารนอกจากคณะยึดอำนาจจะฉีกรัฐธรรมนูญ ยังต้องออกประกาศยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่ปรากฎว่าการรัฐประหารปี 2557 คณะยึดอำนาจปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อซึ่งถือว่าแปลกประหลาด

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับรองให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อ แบบนี้จะเข้าไปตรวจสอบองค์กรที่มาจากการยึดอำนาจได้หรือไม่อย่างไร เมื่อสภาพการณ์ทางรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้จึงไม่ต้องสงสัยถึงจำนวนคดีที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ว่าสัมพันธ์กับการยึดอำนาจในปี2557 เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รับรองแล้วว่าคสช.ถูกเสมอจึงบีบบังคับศาลรัฐธรรมนูญให้ไม่มีโอกาสพิทักษ์รัฐธรรมนูญในช่วงคสช.ยึดอำนาจ ต่อให้อยากตรวจสอบคณะรัฐประหารอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2557 รับรองไว้หมด เป็นปัญหาที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญทำงานไม่ได้

“เวลารัฐประหารเสียงปืนดังขึ้นกฎหมายก็เงียบลง วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญ 2560 มีรัฐบาลใหม่แล้วหากการถวายสัตย์สมบูรณ์จริง วันนี้เสียงปืนสงบลงแล้วจะถึงเวลาที่กฎหมายกลับมาดังขึ้นเหมือนเดิมได้หรือไม่ วันนี้ยังมีประกาศคำสั่งคสช.จำนวนมากมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มีเนื้อหาหลายอย่างขัดรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคนร่างรัฐธรรมนูญมองการณ์ไกลว่าอะไรที่ชอบในรัฐธรรมนูญ 2557 ให้ชอบในรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย ดังนั้น เราจะพยายามผลักดันแก้ไขให้ยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อตรวจสอบคำสั่งคสช.ให้ได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร ยังอภิปรายถึงการวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า มาตรา 38 ของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เกิดคำถามว่าแบบใดจึงจะเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต ไม่หยาบคาบ ไม่อาฆาตมาดร้าย ยกตัวอย่าง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ถามว่าตนวิจารณ์ได้หรือไม่ เพราะเป็นทางเดียวที่ตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนเห็นว่าการวิจารณ์เป็นเรื่องดีที่จะช่วยปรับปรุงการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

 “อยากให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อดทน อดกลั้น ต่อคำวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย เราเป็นนักการเมืองธรรมดาไม่มีอาวุธจะไปยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยได้ แต่การถูกวิจารณ์จะเป็นเกาะคุ้มกันศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน จึงอยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญเป็นเสาหลัก ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากประชาชน และช่วยประคับคองบ้านเมืองในยามหัวเลี้ยวหัวต่อ ผมอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญดำรงต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ” นายปินบุตร กล่าว

 ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย ว่า การดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา มีคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมากถึง 120 คำร้องขึ้นไป และสามารถพิจารณาเสร็จสิ้นเป็นสัดส่วนจำนวน 50 - 100 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงปี 2558 มีคำร้องเข้ามา 3 คำร้อง พิจารณาเสร็จ 1 เรื่อง จึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมปี 2558 มีคำร้องน้อยแต่ไม่สามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นหมดได้ พร้อมทั้งยังอภิปรายถึงเรื่องการฝึกอบรมบุคคลากรของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการเปิดหลักสูตรโครงการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) เพราะไม่อยากให้องค์กรด้านความยุติธรรมเปิดหลักสูตรพิเศษอย่างนี้ เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกมาใกล้ชิดกับบุคคลากรด้านยุติธรรม จะเกิดการสร้างระบบอุปถัมภ์ หรือสร้างคอนเน็กชั่น สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สนับสนุนให้ศาลยุติธรรม หรือการเปิดหลักสูตร บยส. ศาลปกครอง เปิดหลักสูตร กปส. และคณะกรรมการเลือกตั้งเปิดหลักสูตร (พตส.) ซึ่งทั้งหมดจะมีผลเสียมากกว่าผลดีต่อกระบวนการยุติธรรม อาจจะทำให้ความยุติธรรม ไม่ยุติธรรมตามความเชื่อมั่นของสังคมได้

เลขาฯศาลรธน. โต้ “ปิยบุตร” ยิบทุกประเด็น ยัน คสช.ไม่เคยแทรกแซง

จากนั้น นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า กรณีที่นายปิยบุตร ไม่เห็นด้วยกับการคุ้มครองการละเมิดอำนาจศาล ขอเรียนว่า การคุ้มครองนั้นมีเจตนารมณ์สองด้าน คือ คุ้มครองความสงบเรียบร้อยในการพิจารณา และคุ้มครองคุณธรรมกฎหมายที่ศาลใช้พิจารณา ซึ่งครอบคลุมทั้งในห้องพิจารณา และผลการวินิจฉัยของศาล ซึ่งการวิจารณ์ศาลก็ถือว่าอยู่ในข่ายที่ต้องควบคุมและคุ้มครอง เป็นสองด้านของเหรียญเดียว ส่วนที่บอกว่าควรใช้ความอดทน อดกลั้น แทนการคุ้มครอง จากประสบการณ์ 20 ปี ภาพในทางร้ายทางดีได้นำไว้ไปในพิพิธพันธ์ของศาลตลอดมา เป็นที่เรียนรู้ และพัฒนาการการรับผิดชอบรัฐธรรมนูญ เป็นหลักการดำรงนิติธรรมของบ้านเมือง การคุ้มครองการละเมิดอำนาจศาลตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงเป็นไปตามเหตุผลตามประสบการณ์ศาล และหลักวิชาการที่ทุกศาลย่อมได้รับการคุ้มครอง

 “กรณีที่ท่านเคยให้ความเห็นทางวิชาการของศาล โดยไม่เคยถูกฟ้องร้องนั้น การคุ้มครองตามหลักวิชาการ สุจริต จะได้รับความคุ้มครอง ต้องไม่เสียดสี หยาบคาย โดยการคุ้มครองนั้น ก็มีทั้งการตักเตือน หรือให้พ้นจากเขตอำนาจ แต่อีกส่วนก็มีเรื่องทางอาญาประกอบกันด้วย ส่วนคดีที่ลดลงในปี2557 ที่มีการรัฐประหาร ก็ขอเรียนว่า เป็นคดีทางการเมืองไม่ใช่คดีทั่วไประหว่างเหตุการณ์พิเศษ จึงไม่มีข้อพิพาทมายังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีคำสั่งคสช.คุ้มครองสถานะของตุลาการฯ ยืนยันว่า จะไม่มีส่วนกับการทำให้ศาลเป็นกลาง หรือเป็นคุณเป็นโทษกับคสช.แต่อย่างใด ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า มีการเชิญไปประชุมกับคสช.กับทุกหน่วยงาน แต่ก่อนประชุมมีหนังสือมาแจ้งยกเลิก ไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปร่วมประชุมกับองค์กรอื่นๆ เพราะคสช.เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตุลาการ จะไม่มีการเข้ามาควบคุมแทรกแซงใดๆ คสช.ตระหนักในความเคารพศาลรัฐธรรมนูญ” นายเชาวนะ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"