“พาณิชย์”ตามติดสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจีน หวังหาช่องให้สินค้าไทยเข้าแทนที่


เพิ่มเพื่อน    

16 ส.ค. 2562 น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการติดตามความคืบหน้ากรณีสหรัฐฯ ประกาศปรับแผนการขึ้นภาษีสินค้าจีน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อ 13 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา ว่า สหรัฐฯ ได้ชะลอการขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มนี้บางส่วนออกไป โดยแบ่งเป็น 2 ระลอก คือ รอบแรก 1 ก.ย.2562 ประมาณ 3,000 กว่ารายการ อาทิ อาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ถั่ว เนย เครื่องเทศ เครื่องดื่ม ยาสูบ หนังสือและสิ่งพิมพ์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า อุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน เครื่องประดับ และของเล่น ตลอดจนสินค้าอื่นๆ เช่น แร่ธาตุ เคมีภัณฑ์ เหล็ก อะลูมิเนียม และมอเตอร์ไซค์ และรอบสอง 15 ธ.ค.2562  ประมาณ 500 รายการ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แล็บท๊อปคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ โทรทัศน์ วิทยุ จอคอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่นๆ เช่น นาฬิกา ของเล่น รองเท้าและเครื่องแต่งกาย

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ให้เหตุผลว่าการปรับแผนขึ้นภาษีครั้งนี้ เป็นไปตามการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากธุรกิจและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อเดือนมิ.ย.2562 ที่ผ่านมา โดยแถลงการณ์ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ยังระบุว่าจะยกเว้นการขึ้นภาษีสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศ ซึ่ง สนค. ประเมินว่า การชะลอการขึ้นภาษี ถือเป็นสัญญาณดีว่าสหรัฐฯ และจีนอาจหันหน้าเข้ามาเจรจากันอีกครั้ง โดยมีกำหนดการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งหน้าในเดือนก.ย.2562

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับโอกาสของไทย มีโอกาสผลักดันสินค้าศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าจีนในกลุ่มที่จะถูกขึ้นภาษี โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรแปรรูป อาหาร เช่น เครื่องปรุงอาหาร และเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย และของใช้ในบ้าน แต่ไทยต้องมีมาตรการรุกตลาดสหรัฐฯ และตลาดต่างๆ โดยเร็ว เพื่อแข่งกับประเทศอื่นที่คงจะหวังรุกตลาดสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน โดยสินค้าไทยยังมีจุดแข็งในด้านคุณภาพที่ดี เป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งต้องเร่งเสริมความเชื่อมั่นตรงนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาและการขึ้นภาษีที่จะมีผลในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมการค้าโลก รวมถึงการส่งออกของไทยในช่วงปลายปีนี้ด้วย

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังสภานักธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (USABC) นำคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เข้าพบ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2562 ว่า คณะนักธุรกิจสหรัฐฯ จำนวน 46 บริษัท 108 คน ซึ่งถือเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดที่ได้มีการรวมตัวกันไปพบกับผู้แทนของรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยได้มาเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายประเด็น และต้องการที่จะสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับไทยให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการค้า การลงทุน

ทั้งนี้ ได้แจ้งกับทางนักธุรกิจสหรัฐฯ ไปว่ารัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมให้นักธุรกิจทำธุรกิจได้ง่าย สะดวก เพื่อดึงดูดการลงทุนและการเข้ามาทำธุรกิจในไทย และยืนยันว่าไทยมีการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจทันสมัยควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะเดียวกัน ได้ฝากให้นักธุรกิจสหรัฐฯ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตสินค้าและบริการ และที่สำคัญ ขอให้ใช้ระบบเกษตรพันธสัญญาเพื่อช่วยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรที่ผลิตสินค้าคุณภาพและให้ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงความคืบหน้าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่มีแนวโน้มจะสรุปผลการเจรจาภายในสิ้นปีนี้ และท่าทีของไทยต่อการเข้าร่วมความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งสหรัฐฯ อยากเห็นความก้าวหน้า เพราะเป็นผลดีต่อนักลงทุนสหรัฐฯ ที่จะขยายตลาดได้ใหญ่ขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทสหรัฐฯ 46 บริษัท ที่เดินทางมาพบกับนายจุรินทร์ในครั้งนี้ เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และส่วนใหญ่มีการลงทุนหรือทำธุรกิจในไทย เช่น 3เอ็ม , แอร์บีเอ็นบี , อเมซอน , เบเยอร์ , เพาเวอร์กรุ๊ป เอเชีย , คาร์กิลล์ , เซฟรอน , ซิกน่า , ซิสโก้ , ซิตี้ , โคโนโคฟิลลิปส์ , ดิอาจิโอ , ดาว , เอ็กซอนโมบิล , เฟดเอ็กซ์ ,ฟอร์ด , การ์เดี้ยน อินตัสตรี , ฮาเล่ เดวิดสัน , เฮอร์บาไลฟ์ , เอชพี , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน , แมริออท , McLarty Associates , เน็ตฟลิก , ออราเคิล , เพย์พาว , เป๊บซี่โค , พีเอ็มไอ , พีแอนด์จี , ซีเกท , ทีอีคอนเน็คทิวิตี้ , ไทสัน , แอปเปิล , เอ็มเอสดี , เอ็กซ์พีเดีย , อโกดา , กูเกิล , ควอลคอมม์ เป็นต้น

นางศิริพร ไชยสุต รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก บริษัท เชฟรอนเอเชียแปซิฟิก จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทของสหรัฐฯ ที่เดินทางมาในครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นการนำคณะนักธุรกิจสหรัฐฯ เข้าพบหน่วยงานระดับรัฐบาลเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ในรอบ 35 ปี และถือว่าใหญ่ที่สุด เพราะมีจำนวนมากถึง 46 บริษัท เยอะกว่าตอนไปมาเลเซียและเวียดนาม หรือที่ใดๆ ที่ผ่านมา โดยการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทย มีมูลค่ามากกว่าการลงทุนในจีนและอินเดีย หรือทั้ง 2 ประเทศรวมกัน

“บริษัทที่มาทั้ง 46 บริษัท รวมถึงบริษัทที่ยังอยู่ในสหรัฐฯ อยากรู้นโยบายและการเป็นหุ้นส่วนกับไทย เพราะนักลงทุนสหรัฐฯ มีความรัก ความชอบไทยอยู่แล้ว และยิ่งผ่านการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ ทำให้บรรยากาศการเมืองดีขึ้น ก็อยากมากัน”นางศิริพรกล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"