จัดชุดใหญ่! ครม.เศรษฐกิจเคาะมาตรการเข็นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล.


เพิ่มเพื่อน    

16 ส.ค. 62 - นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ นัดแรก ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน โดยวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการสร้างความมั่นใจและให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด โดยมีวงเงินรวมของมาตรการ อยู่ที่ 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งหาก ครม. เห็นชอบ ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 3% โดยมาตรการแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านภัยแล้ง ซึ่งจะดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งใน 13 จังหวัด คิดเป็น 9.9 แสนราย โดยพักชำระหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ย เป็นเวลา 1 ปี

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 0% ปีแรก ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท พร้อมสินเชื่อฟื้นฟูการผลิต วงเงิน 5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ให้กู้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท และสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2562/63 จำนวน 3 ล้านราย

ด้านที่ 2 การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ประกอบด้วยหลายมาตรการ เช่น มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ชิม ช้อป ใช้ โดยจะแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเลท) ให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป คนละ 1 พันบาท เพื่อไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว เป็นค่าอาหาร ค่าซื้อสินค้าในท้องถิ่น และค่าที่พักอาศัยในจังหวัดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ ตั้งเป้าหมาย 10 ล้านคน รวมถึงยังมีส่วนเสริมสำหรับผู้ที่ใช้เงินท่องเที่ยวผ่านอี-วอลเลทเกิน 1 พันบาท แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ทางรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยคืนให้ในอัตรา 15% เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้น สำหรับรายละเอียดของมาตรการทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นชี้แจงต่อไป

“ได้มีการเสนอในที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจ ให้มีการขยายเวลาฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย อีกระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ โดยจะต้องมีการหารือเพิ่มกับฝ่ายความมั่นคง ก่อนเสนอให้ ครม. เป็นผู้พิจารณา” นายอุตตม กล่าว

รมว.การคลัง กล่าวอีกว่า ในส่วนของการกระตุ้นการลงทุน จะมีมาตรการภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในปีนี้ ให้สามารถนำรายจ่ายจากการซื้อเครื่องจักร มาหักภาษีได้ 1.5 เท่า และรัฐบาลจะมีการเติมเงินให้กับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลากู้ 7 ปี

ขณะเดียวกันธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จะเข้ามาช่วยเสริมการปล่อยกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้กับธุรกิจรายเล็กเช่นเดียวกัน วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเข้ามาช่วยค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น

นอกจากนี้ จะให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ดำเนินการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินรวม 5.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ธอส. วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท และออมสิน วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท

ด้านที่ 3 มาตรการด้านค่าครองชีพ โดยจะมีการเติมเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.5 ล้านคน ผ่าน อี-วอลเลท ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีบุตร วงเงินรวมทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินการภายในช่วงเวลา 5 เดือนที่เหลือของปีนี้

ทั้งนี้ ครม. เศรษฐกิจยังเห็นชอบให้มีการพักชำระเงินต้นของกองทุนหมู่บ้าน ที่กู้จาก ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อคงค้าง 6.7 หมื่นล้านบาท

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด จะมีวงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินจากธนาคารรัฐ 2.07 แสนล้านบาท ส่วนอีกประมาณ 1 แสนล้านบาทจะมาจากงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินของกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนเอสเอ็มอี กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยหาก ครม.เห็นชอบตามนี้จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้าหมายที่ 3%” นายอุตตม กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"