หมี่กวาง รูปปั้นจาม และชายหาดหมีเค


เพิ่มเพื่อน    

 

  หากพูดถึงอาหารเวียดนาม เราคงได้ยิน “เฝอ” บ่อยที่สุด แหนมเนือง หรือ “แนมหลุ่ย” อาจจะตามมาเป็นอันดับสอง เที่ยงวันนี้ผมได้รับกระดาษ 2 แผ่นจากน้องรีเซฟชั่นของที่พัก ในนั้นเป็นตารางเขียนชื่ออาหารไว้เป็นช่องแรก ตามด้วยชื่อร้านแนะนำ ที่อยู่ เวลาเปิด-ปิดของร้าน และราคาโดยเฉลี่ย ถือเป็นไอเดียที่ดีมาก

 


ชาดหาดหมีเค เมืองดานัง หลายคนจัดให้เป็นหาดที่สวยสุดในเวียดนาม

                 ผมไม่ได้เอาชื่ออาหารมาเป็นตัวตั้ง ถามเธอว่าร้านที่แนะนำเหล่านี้ร้านไหนอยู่ใกล้ๆ และขอข้ามเฝอไปก่อน เพราะเพิ่งกินมาเมื่อวาน เธอชี้ลงไปที่ร้านชื่อ Ba Mua อาหารของร้านที่ขึ้นชื่อคือ Mi Quang (หมี่กวาง) ห่างไปจากที่พักไม่ถึงครึ่งกิโลเมตร ในซอยที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว

                 ที่ตั้งของร้านอาหารและอาคารต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ของเวียดนามหาไม่ยาก แค่เดินให้ถูกถนน บ้านเลขที่จะเขียนเรียงกันไป มองหาได้ง่ายๆ ร้าน Ba Mua หรือแปลได้ว่า “ร้านเจ๊มัว” ในดานังมีอยู่ 4 สาขาด้วยกัน ป้ายชื่อร้านค่อนข้างเด่น ในร้านมีโต๊ะหลายตัว พนักงานรุ่นเยาว์หลายคน แต่ลูกค้าไม่เยอะ คงนิยมมากินมื้อเย็นกันมากกว่า

         ผมสั่งหมี่กวางตามคำแนะนำ ในเมนูเขียน Mi Quang แล้ววงเล็บไว้ว่า Quang Noodle เป็นอาหารประจำจังหวัดกว๋างนาม (จังหวัดที่อยู่ติดกับเมืองดานังทางทิศใต้) มีรูปภาพประกอบด้วย แต่ดูไม่ค่อยออกว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง วัยรุ่นสาวถือถาดไม้ไผ่สานมาวางลงบนโต๊ะ มีเส้นก๋วยเตี๋ยวทำจากข้าวเจ้าสีขาวเหลี่ยมๆ แบนๆ โรยมาด้วยถั่วลิสงคั่วบดหยาบ มีผักแปลกๆ ยอดอ่อนใบเล็กอยู่อีกครึ่งหนึ่งของถาด หม้อดินใส่ซุปเข้มข้นด้วยเครื่องเทศ โดยเฉพาะขมิ้นแยกมาต่างหาก ในหม้อมีไข่ต้ม หมู ไก่ กุ้ง และกบรวมกันอยู่ นอกจากนี้ก็มีชามเปล่า 1 ใบ ผมนึกว่าเอาไว้ใส่เศษอาหาร เด็กในร้านคนหนึ่งเห็นผมเก้ๆ กังๆ ก็เลยมาชี้ว่าให้นำผัก เส้น ใส่ในชามแล้วค่อยตักเครื่องและซุปราดลงไปกินกับตะเกียบและช้อนตามถนัด

 


ทวารบาลและรูปปั้นอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์ประติมากรรมชนชาติจาม

                โต๊ะข้างๆ ผมสั่งแบบเดียวกัน ได้ข้าวเกรียบแผ่นใหญ่กลมๆ บางๆ มาด้วย แต่ของผมไม่มี ไม่ได้ทักท้วงอะไรก้มหน้าก้มตากินจนหมด เส้นออกหนึบๆ ซุปเข้มข้น เครื่องอร่อยดี กบอย่างเดียวที่กินยาก ล้างคาวด้วยน้ำมะนาวใส่น้ำแข็งที่เสิร์ฟมาเป็นเหยือก อิ่มท้องไปได้อีกหลายชั่วโมง ราคาหมี่กวาง 65,000 ดอง น้ำมะนาว 20,000 ดอง รวมแล้วประมาณ 115 บาท

                ตอนเดินออกจากร้านพนักงานหนุ่มยืนอุ้มหมาน้อยอยู่ด้านหน้า ผมนึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างหมากับชาวเวียดนามได้เลยขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก แม้ว่าปัจจุบันคนเวียดนามจะนำหมาไปขึ้นโต๊ะน้อยลง แต่ตัวเลขก็ยังน่าตกใจ คือประมาณปีละ 5 ล้านตัว เป็นรองเพียงแค่จีนที่บริโภคเพื่อนยากของมนุษย์ไปปีละราว 20 ล้านตัว

 


ทับหลังชื่อกำเนิดพระพรหม สร้างจากหินทราย คริสต์ศตวรรษที่ 7

                การมาเยือนเวียดนามครั้งที่ 2 เมื่อประมาณ 5 ปีก่อนที่กรุงฮานอยเป็นเวลาสี่-ห้าวัน ผมเคยนับจำนวนหมาที่เห็นตามทางเดิน นับได้ทั้งทริปนั้นแค่ 9 ตัว และทุกตัวดูน่ารักสะอาดสะอ้าน ล้วนถูกเจ้าของจูงเดินชมวิวไปด้วยกัน ไม่มีหมาจรจัดอยู่เลย

                ทัศนคติเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อหมาของชาวเวียดผมคิดว่าอาจจะเปลี่ยนไปบ้างแล้ว เพราะเพียงแค่วันเดียวในการมาเยือนครั้งนี้ผมก็นับหมาได้สิบกว่าตัวจนต้องเลิกนับไป และได้ข่าวมาว่าเมื่อไม่นานนี้มีคาเฟ่หมาให้บริการในดานังแล้ว เสียดายที่หาไม่เจอ กะว่าจะถ่ายภาพและเข้าไปสอบถามความเป็นไปของคนกับหมาในเวียดนามเสียหน่อย

                นึกถึงเรื่องการกินหมาของชาวเวียดนามแล้วต้องรีบลบภาพออกไปจากหัว เพราะเพิ่งกินมื้อเที่ยงมาหมาดๆ กลัวจะต้องอาเจียนคืนร้าน เดินออกมาได้ไม่ไกลนักมีร้านกาแฟน่ารักตกแต่งด้วยโทนสีเหลืองจึงเดินเข้าไปสั่ง “กาแฟร้อนเวียดนาม” แล้วเดินไปนั่งที่โต๊ะหน้าประตูร้าน น้องผู้หญิงเสิร์ฟเอสเปรซโซ่มาให้ ผมนึกว่าจะได้กาแฟฟิน (Phin Coffee) หรือกาแฟดริปที่ใช้ถ้วยกรองแบบเวียดนาม จำเป็นต้องยกยอดกาแฟแบบฉบับชาวเวียดไปดื่มมื้ออื่น ดื่มเอสเปรซโซ่หอมเข้มหมดถ้วยผมก็ลุกไปจ่ายเงิน ค่ากาแฟแค่ 12,000 ดอง หรือ 16 บาทเท่านั้น หากใครนิยมดื่มของขมทั้งกาแฟและเบียร์ขอเชิญที่เวียดนามนะครับ เบียร์จากร้านสะดวกซื้อก็ราคาประมาณนี้

 


พระพุทธรูปและรูปปั้นที่เกี่ยวข้องในพุทธศาสนาแบบมหายานในอาณาจักรจามปา

                จากร้านกาแฟผมเดินประมาณ 1 กิโลเมตร ไปยังพิพิธภัณฑ์ประติมากรรมชนชาติจาม (Museum of Cham Sculpture) ตั้งอยู่ใกล้ๆ ตีนสะพานมังกรทอง (ฝั่งหางมังกร) เสียค่าเข้าชม 60,000 ดอง แล้วเดินเข้าไปภายในตัวอาคาร

                พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1915 ในยุคที่เวียดนามยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์แรกๆ ที่สร้างขึ้นโดยผู้ปกครองแดนน้ำหอม อย่างไรก็ตาม ประติมากรรมหลายชิ้นได้มีการเก็บรวบรวมจากพื้นที่จังหวัดกว๋างนามและตูราน (ปัจจุบันคือดานัง) ไว้ตั้งแต่ 20 ปีก่อนหน้านั้น

 


พระศิวะ ประติมากรรมหินทราย สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 15

                ประติมากรรมของชนชาติจามถูกขุดค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส เมื่อขุดขึ้นมาแล้วบางชิ้นก็ถูกส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ในกรุงปารีส จำนวนหนึ่งนำไปจัดแสดงที่กรุงฮานอยและไซง่อน อย่างไรก็ตาม ของสะสมชิ้นล้ำค่าส่วนใหญ่ยังถูกเก็บไว้ที่นี่

                รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นการผสมผสานระหว่างเฟรนช์โคโลเนียลยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 วัดแบบพราหมณ์ฮินดูของชนชาติจาม และสิ่งก่อสร้างแบบเวียดนามตอนกลาง แม้ว่าจะมีการขยายอาคารออกเป็น 2 เท่าในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์เอาไว้

                การบูรณะอาคารครั้งใหญ่ได้เริ่มเมื่อปี ค.ศ.2005 โดยความช่วยเหลือจากคณะผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส และในปี ค.ศ.2016 ทางการเมืองดานังได้เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดูแลจัดการพิพิธภัณฑ์และดำเนินการจัดแสดงเป็นหมวดหมู่เสียใหม่ ผู้มาเยือนจะได้ชมสิ่งแสดงมากกว่า 400 ชิ้น บางชิ้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ และส่วนมากเป็นงามประติมากรรมระดับสูงค่าของชนชาติจามระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 15

 


หาดหมีเคทางด้านเหนือ มองเห็นรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมความสูง 67 เมตรจากแหลมซนจา

                ชิ้นงานประติมากรรมส่วนมากทำจากหินทราย รองลงมาเป็นดินเหนียว และโลหะต่างๆ อาทิ องค์เทพและเทพีในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับไศวนิกาย สัตว์ในตำนาน สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์อย่างศิวลึงค์และโยนี ชิ้นส่วนตกแต่งตามวัดและวิหาร มีส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธอยู่ด้วย แต่ไม่มาก นอกจากนี้ยังมีจารึกต่างๆ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและที่สื่อถึงกิจกรรมรื่นเริง อาคารพิพิธภัณฑ์มี 2 หลังเชื่อมกัน หากใช้เวลาในนี้ราวๆ ครึ่งวันก็คงดูได้ครบถ้วน

                อาณาจักรจามปาของชนชาติจามนั้นเคยมีอยู่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตั้งอยู่ระหว่างเว้ในปัจจุบัน (เหนือขึ้นไปคืออาณาจักรได๋เวียด) ลงไปจนถึงตอนใต้ หรือเรียกได้ว่าเป็นครึ่งล่างของเวียดนามในปัจจุบัน เคยรุ่งเรืองสุดขีดในคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 ก่อนจะค่อยๆ เสื่อมอิทธิพลลง โดยเฉพาะจากการพ่ายแพ้ให้กับได๋เวียดที่อยู่ทางด้านครึ่งบนในปี ค.ศ.1471 ชาวจามไม่น้อยหนีเข้าไปในเขมร อาณาจักรจามในเวียดนามถูกบีบให้อยู่ในพื้นที่เล็กๆ ใกล้นาตรัง กระทั่งถูกจักรพรรดิมินห์มังยึดดินแดนทั้งหมดได้สำเร็จในปี ค.ศ.1832

                อาณาจักรจามได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ฮินดูมาจากอาณาจักรฟูนานที่อยู่ติดกันทางฝั่งตะวันตกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 ทำให้ในเวลาต่อมาจามมีศิลปะและวัฒนธรรมแบบฮินดูอย่างสมบูรณ์แบบ มี “หมี่เซิน” เป็นศูนย์กลางทางศาสนา ฮอยอันเป็นเมืองท่า สำหรับศาสนาพุทธมหายานจากทางเหนือนั้นได้เข้ามาในคริสต์ศตวรรษที่ 10 โดยกษัตริย์แห่งกรุงอินทราปุระได้แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ทว่าที่มาแรงแซงโค้งก็คือศาสนาอิสลาม ผู้คนเริ่มหันไปนับถือในหลังคริสต์ศตวรรษที่ 10 ก่อนที่ทางราชสำนักจะหันไปนับถือด้วยในคริสต์ศตวรรษที่ 17 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีชาวจามที่ยึดมั่นในวิถีแห่งฮินดูอยู่อีกไม่น้อยในปัจจุบัน (จามในเวียดนามนับถือฮินดู ส่วนจามในกัมพูชานับถืออิสลาม) ถือเป็นกลุ่มคนผู้นับถือฮินดูนอกชมพูทวีปเพียง 1 ใน 2 กลุ่มที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ อีกกลุ่มคือชาวบาหลีในประเทศอินโดนีเซีย 

 


เรือกระด้ง สัญลักษณ์สำคัญบนชายหาดหมีเค

                ออกจากพิพิธภัณฑ์ประติมากรรมชนชาติจามแล้วผมก็ส่งข้อความหา “เซิน” โชเฟอร์แท็กซี่อัธยาศัยดีเพื่อจะให้เขารับไปส่งที่ชายหาดหมีเค (My Khe) ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร เขาตอบกลับมาว่ากำลังไปส่งลูกค้าที่ฮอยอัน ให้ผมเรียกแกร็บแท็กซี่จากแอปฯ ได้เลย ราคาขึ้นมาแค่ 37,000 ดองเท่านั้น หรือประมาณ 50 บาท แท็กซี่มารับหน้าพิพิธภัณฑ์แล้วขับขึ้นสะพานมังกรทองข้ามแม่น้ำฮานไปยังฝั่งเมืองใหม่ แล้ววิ่งต่อไปอีกไม่ไกลก็ถึงชายหาด ผมจ่ายให้โชเฟอร์ไป 40,000 ดอง

                หาดหมีเคสีขาวดูสะอาด ทรายเนื้อเนียน มีความยาวเริ่มต้นจากแหลมซนจาทางด้านทิศเหนือไปจนถึงหาดน็อนเนื้อก ใกล้ๆ เขตภูเขาหินอ่อนทางด้านทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร บริเวณชายหาดมีความกว้างโดยเฉลี่ยตลอดแนวถึง 60 เมตร เล่นกีฬาได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะฟุตบอลชายหาด เพราะนอกจากกว้างแล้วพื้นก็เอียงลาดไม่มาก แถมลมไม่ค่อยแรง ทั้งปีแทบไม่มีคลื่นสูง น้ำก็ใสและอุ่นสบาย ในเวลาเช้าตรู่ก็น่ามานั่งดูพระอาทิตย์ขึ้น

                ด้านหลังของชายหาดมีร้านอาหารจัดไว้ติดๆ กันหย่อมหนึ่ง ไม่ได้มีตลอดทั้งแนว ส่วนบรรดาโรงแรมนั้นตั้งอยู่แนวหลังของถนนเหนือหาดอีกทีหนึ่ง พื้นที่บริเวณหาดจึงมีไว้ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้สนุกสนานหย่อนใจอย่างแท้จริง บางช่วงมีแถวของต้นมะพร้าวล้ำเข้าไปในหาดยี่สิบ-สามสิบเมตร นอกจากนี้ก็ยังมีเรือกระด้งอยู่บนชายหาดเหมือนเป็นภาพที่อยู่คู่กัน เรือกระด้งนี้เป็นเรือทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร ทำจากไม้ไผ่สานแล้วยาด้วยมูลวัว เป็นเรือประมงท้องถิ่นที่ใช้แจวออกไปหาปลามากินมาขายหลายชั่วอายุคน สาเหตุที่ใช้เรือทรงนี้พวกเขาอธิบายว่า แม้คลื่นสูงก็ไม่จมไม่คว่ำ

                ผมไปถึงชายหาดประมาณ 4 โมงเย็น อากาศยังร้อนอยู่มากดังที่ได้กล่าวไปในฉบับก่อนว่าอากาศของดานังในปีนี้ร้อนกว่ากรุงเทพฯ อุณหภูมิในโทรศัพท์มือถือขึ้นมาประมาณ 37-38 องศา แต่ความรู้สึกจริง หรือ Real Feel นั้นระบุไว้ที่ 43 และ 44 องศา ร้านอาหารริมทะเลจึงร้างผู้คน ที่ลงเล่นน้ำก็มีอยู่บ้าง กระจุกเป็นช่วงๆ เนื่องจากว่าชายหาดยาวและกว้างมาก จึงดูเป็นหาดที่คล้ายคนโหรงเหรงไปโดยปริยาย

 


หลังถนนริมหาดหมีเค บางโรงแรมกำลังก่อสร้างอยู่อย่างคึกคัก  

                อากาศที่ร้อนเช่นนี้น้ำมะพร้าวแช่เย็นทั้งลูกขายดีมาก ผมซื้อมาลูกหนึ่ง ราคา 30,000 ดอง กะว่าจะไปนั่งดื่มชมว่าวคน กีฬาที่ใช้เรือเร็วขนาดเล็กลากให้คนลอยอยู่บนฟ้าพร้อมร่มชูชีพ เรียกว่า Parakiting หรือ Parasailing วัยรุ่นชายคนหนึ่งเดินมาแจ้งราคา 40,000 ดอง สำหรับค่าเก้าอี้ผ้าใบ จึงเปลี่ยนใจเดินดูดน้ำมะพร้าวแทน เพราะตอนแรกกะจะนั่งแค่ครู่เดียวเท่านั้น 

                ผมเดินไปไม่สุดหาดทางด้านทิศเหนือ เพราะเริ่มปวดฝ่าเท้า ได้แต่มองไปบนแหลมซนจาที่มีรูปปั้นหินอ่อนเจ้าแม่กวนอิมความสูง 67 เมตรตั้งอยู่ รูปปั้นนี้สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ.2010 นี้เอง ดานังถึงจะมีประวัติศาสตร์สำคัญเก่าแก่ แต่ภายหลังสงครามเวียดนามจบลงเพิ่งได้ขมีขมันสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาราวๆ 20 ปีเท่านั้น อาคารโรงแรมสูงบางเจ้าตามแนวถนนริมหาดก็ยังสร้างไม่เสร็จ

                ปัจจุบันดานังถือเป็นเมืองที่มีสัดส่วนความเป็นเมืองมากกว่าชนบทสูงกว่าเมืองใดๆ ในเวียดนาม เป็น 1 ใน 5 เขตการปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ หรือเมืองชั้น 1 ร่วมกับฮานอย โฮจิมินห์ ไฮฟอง และกันเทอ ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง

                แม้จะโตมาก โตเร็ว แต่ก็ยังจะโตได้อีกมาก.

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"