อภิปรายทั่วไป ไม่ลงมติ ปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ รอบนี้ “บิ๊กตู่” เลี่ยงไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    

 

             เป็นอันว่า ปมปัญหา-ข้อคลางแคลงใจของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เรื่อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ สุดท้ายพรรคฝ่ายค้านไม่รอผลการพิจารณาของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะพิจารณาชี้ขาดปมปัญหาดังกล่าวว่าสุดท้ายจะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีคิวพิจารณากันวันที่ 27 ส.ค.นี้ แต่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเลือกที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญทวงถามความชัดเจนจากพลเอกประยุทธ์กลางสภาฯ ผ่านช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่บัญญัติว่า

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้”

          โดยทางพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้แสดงเจตจำนงว่าต้องการอภิปรายในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

          สาเหตุหนึ่งที่พอวิเคราะห์ได้ว่า การที่ฝ่ายค้านใช้ช่องทางดังกล่าว เพราะมองว่าหากจะเอาประเด็นดังกล่าวมาเป็นประเด็นหลักขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี อาจจะยังเร็วเกินไป เพราะหากยื่นแล้วขอเปิดอภิปรายช่วงกันยายนก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ เท่ากับนายกฯ และรัฐบาลทำงานมาได้ไม่ถึง 3 เดือน แล้วฝ่ายค้านมาขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยที่ก็เป็นประเด็นละเอียดอ่อนทางการเมือง และยังไม่รู้ว่าสุดท้ายผลประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 27 ส.ค. ทางที่ประชุมจะเอาอย่างไร จะยื่นศาล รธน.หรือไม่ และหากยื่นไปแล้ว ทางศาล รธน.จะว่าอย่างไร จะรับหรือไม่รับคำร้อง

เพราะมองในทางหนึ่ง หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็อาจทำให้การยื่นญัตติไม่ไว้วางใจอาจมีผลทางเทคนิคและเนื้อหาการอภิปราย คืออภิปรายได้ไม่เต็มที่ ต้องอภิปรายกันแบบยั้งๆ เพราะเป็นไปได้ว่า หากแตะลงรายละเอียด ซักถามจี้มาก พลเอกประยุทธ์ก็ย่อมตีกรรเชียงได้ว่า ฝ่ายค้านไม่ควรถามมาก เพราะเรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว

ดังนั้นเมื่อไม่มีความชัวร์มากนัก ไม่รู้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะว่าอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญจะมาทางไหน แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าประเด็นปมถวายสัตย์ฯ ยังสามารถกดดันพลเอกประยุทธ์ได้ เลยไม่อยากเสียของ เพราะรัฐธรรมนูญให้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้แค่ปีละหนึ่งครั้ง ก็เลยจะรอยื่นซักฟอกไปช่วงปลายปี หลังเปิดสภาฯ เดือน พ.ย.ก็ยังได้

ประมวลจากสมมุติฐานการเมือง การวางหมากของฝ่ายค้านข้างต้น จุดดังกล่าวจึงน่าจะเป็นที่มาของการใช้ช่องทาง รธน.มาตรา 152 ของฝ่ายค้าน เพื่อเตรียมไล่บี้บิ๊กตู่กลางสภาฯ

ท่าทีของฝ่ายค้านต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยภายหลังนำรายชื่อ ส.ส.ฝ่ายค้าน 214 ชื่อ จาก 7 พรรคฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือต่อชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปซักถามข้อเท็จจริง และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในกรณีข้างต้น โดยระบุพฤติการณ์ของพลเอกประยุทธ์ไว้ดังนี้

“กรณีดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดต่อประชาชนทั่วไปและ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับ แต่ก็ยังไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง กลับเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดิน

จึงเกิดเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้ารับหน้าที่จนส่งผลต่อเนื่องไปถึงความถูกต้องสมบูรณ์ของการแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคมที่ผ่านมา

อีกทั้งการแถลงนโยบายในครั้งนั้นก็ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไม่ละเอียดครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 อีกด้วย จึงขอเสนอเปิดอภิปรายทั่วไป เพราะหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้”

ประธานวิปฝ่ายค้าน บอกไว้ว่า ก่อนที่สภาฯ จะเปิดประชุมเพื่ออภิปรายทั่วไป หาก พล.อ.ประยุทธ์แก้ไขกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามที่เคยระบุไว้ให้ลุล่วง และคลายกังวล พรรคฝ่ายค้านพร้อมถอนญัตติดังกล่าว แต่หากนายกฯ ไม่ดำเนินการแก้ไข และปฏิเสธที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสภาฯ ตามญัตติดังกล่าว จะถือว่านายกฯ จงใจเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการต่อไป พรรคฝ่ายค้านอาจจะพิจารณาช่องทางเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งกระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ-ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือใช้ช่องทางของสภาผู้แทนรษฎร ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อไม่ไว้วางใจนายกฯ

ส่วนอีกหนึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้เหตุผลว่า ฝ่ายค้านไม่จำเป็นใดๆ ที่จะใช้เรื่องถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีนายกฯ และรัฐบาลตามที่นายกฯ กล่าวหา แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ต้องตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการฝ่ายค้านเองก็ต้องถูกดำเนินการในข้อหาละเว้นเช่นกัน ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจอำนาจหน้าที่และให้เกียรติการทำงานของแต่ละฝ่ายด้วย และจากนี้ไปหวังว่าฝ่ายค้านจะไม่ได้ยินนายกฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสภาเช่นนี้อีก

ส่วนปฏิกิริยาการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อกรณีดังกล่าว เห็นลีลาออกหมัดแล้ว พบว่า อยู่ในอาการตั้งหลัก พร้อมสู้ กับการยืนยันไม่กลัวฝ่ายค้าน แต่ก็ย้ำคำเดิมว่า ได้ทำทุกอย่างครบถ้วนตามกระบวนการแล้ว

“เป็นเรื่องของกลไกรัฐสภา ก็เคารพ ขอให้เป็นขั้นตอนตรงนั้นไป ผมจะกลัวเขาทำไม ผมไม่กลัวอะไรทั้งนั้น

ผมเชื่อมั่นว่าผมทำครบถ้วนกระบวนการอยู่แล้ว เรื่องอื่นๆ ก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ผมมีขั้นตอนของผมอยู่แล้วในการแก้ปัญหาของผม ซึ่งผมมีฝ่ายกฎหมายของผม อะไรที่จะมีผลกระทบไปอื่นๆ ต้องระวังให้มากที่สุด เพราะเรื่องนี้ผมกระทำต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้เข้าใจให้ตรงกัน”

ก็เอาเป็นว่า หากไม่เกิดจุดเปลี่ยน หรือมีเหตุอะไรพลิกผัน ยังไงญัตติดังกล่าวของฝ่ายค้านได้เกิดขึ้นในสภาฯ ปลายเดือนสิงหาคมนี้แน่นอน ไม่ว่าสุดท้ายผลการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินจะออกมาอย่างไร ก็ยากที่จะไปทำให้การขยับรุกของฝ่ายค้านในรอบนี้ เปลี่ยนแปลงได้ เพราะดูทรงการเคลื่อนไปข้างหน้าทางการเมือง ฝ่ายค้านคงไม่เลิกราเรื่องนี้ง่ายๆ

ในช่วงต่อจากนี้ ฝ่ายพลเอกประยุทธ์และทีมงานการเมืองก็คงต้องเตรียมพร้อม ทำการบ้านกันให้หนัก โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับมือกับการอภิปรายแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้าน ที่ไม่ต้องห่วงเรื่องเสียงโหวตในสภาฯ แต่เรื่องน่าห่วงกว่าก็คือ แนวการตอบคำถาม-คำชี้แจงของพลเอกประยุทธ์จะออกมาแบบไหน กับเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหวเช่นนี้

แต่ระหว่างนี้ก็พบว่า แม้พลเอกประยุทธ์-รัฐบาลจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหาการเมืองสารพัด มีเรื่องชวนให้ปวด Head ทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ ตลอดเวลา ขณะเดียวกันปัญหาเสียง ส.ส.ปริ่มน้ำของรัฐบาลก็ยังแก้ปัญหาไม่ตก เรื่องปัญหา องค์ประชุม-การโหวตเสียง ส.ส.ในสภาฯ พบว่า ฝ่ายรัฐบาลเจอปัญหาเสียงหาย-เสียงไม่ครบ กันให้เห็นแล้วหลายนัด แม้วิปรัฐบาลจะพยายามหาทางแก้ไข พยายามขันนอตกันหลายรอบ แต่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยังทำตัวชิวๆ เลยทำให้เชื่อได้ว่า การวางแผนรับมือทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล อาจต้องมีการปรับทัพ-จูนเครื่องครั้งใหญ่กันอีกรอบ

แต่ระหว่างนี้รัฐบาลก็ต้องพยายามทำงานแก้ปัญหาต่างๆ ไปเรื่อยๆ โดยต้องพยายามเข็นมาตรการต่างๆ มาแก้ปัญหาและเรียกคะแนนนิยม

อย่างเช่น ผลการประชุม คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ นัดแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็พบว่า มีการเสนอและเตรียมผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ประเทศ และสร้างความมั่นใจและให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด โดยมีวงเงินรวมของมาตรการ อยู่ที่ 3.16 แสนล้านบาท โดยฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่า หาก ครม.เห็นชอบก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% มีช่วงคาดการณ์ 2.7-3.2%

ทั้งนี้ มีรายงานว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบ่งเป็น 3 ด้าน เช่น 1.ด้านภัยแล้ง ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งใน 13 จังหวัด คิดเป็น 9.9 แสนราย และสินเชื่อเพื่อลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2562/63 จำนวน 3  ล้านราย

ด้านที่ 2 การกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ประกอบด้วยหลายมาตรการ เช่น มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว “ชิม ช็อป ใช้” โดยจะแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเลต) 1,000 บาท ให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อไปใช้จ่ายในการท่องเที่ยว เป็นค่าอาหาร ค่าซื้อสินค้าในท้องถิ่น และค่าที่พักอาศัยในจังหวัดที่ตัวเองไม่ได้อยู่ ตั้งเป้าหมาย 10 ล้านคน ซึ่งจะมีการเปิดให้มาขึ้นทะเบียนรับสิทธิ์ หากลงทะเบียนแล้วไม่ใช้สิทธิ์ จะถูกตัดสิทธิ์ในการให้ความช่วยเหลือจากรัฐครั้งต่อไป

ขณะที่ในส่วนของการกระตุ้นการลงทุน จะมีมาตรการภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในปีนี้ ให้สามารถนำรายจ่ายจากการซื้อเครื่องจักรมาหักภาษีได้ 1.5 เท่า และรัฐบาลจะมีการเติมเงินให้กับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลากู้ 7 ปี เป็นต้น

เรียกได้ว่า ศึกหนักการเมืองในสภาฯ ที่รออยู่ กับปมปัญหาเรื่องการถวายสัตย์ฯ “พลเอกประยุทธ์” ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ จะพลาดไม่ได้ในการชี้แจง ขณะที่การทำงานเพื่อสร้างผลงาน แก้ปัญหาประเทศ เรียกคะแนนเสียงประชาชน ก็ต้องทำและเร่งให้เกิดผลงาน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 1 ถูกวิจารณ์ว่าสอบไม่ผ่าน มารอบนี้ก็ต้องทำให้ดีขึ้น หากคิดจะอยู่ยาวและหวังกลับมาอีกรอบ!!!.

                  ทีมข่าวการเมือง 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"