ซูฮกผลงานรัฐบาล เคาะประกันรายได้!


เพิ่มเพื่อน    

 ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ ประชาชนพอใจผลงานรอบ 5 ปีรัฐบาลประยุทธ์ จับต้องได้ แตกต่างจากรัฐบาลอื่น "จุรินทร์" ระบุมติที่ประชุม 3 ฝ่าย เห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าว ในข้าว 5 ประเภท หอมมะลิตันละ 1.5 หมื่นบาท เตรียมเสนอ นยข. ขณะที่ฝ่ายค้านยังโจมตีแหลก "เจ๊หน่อย" สวมรอยอ้างรัฐบาลลอกการบ้าน ส่วน "วัฒนา" ยกก้น "ทักษิณ" เก่งกว่า

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ความต่างของผลงานระหว่างรัฐบาล กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,082 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ระหว่าง 10-16 สิงหาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา 
    พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 ระบุผลงานรอบ 5 ปีของรัฐบาลลุงตู่ที่จับต้องได้ เช่น การก่อสร้างด้านคมนาคม อาทิ สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ มอเตอร์เวย์ ทางต่างระดับปากช่องโคราช การต่อเติมสนามบิน เป็นต้น เป็นสิ่งที่จับต้องได้ แตกต่างจากรัฐบาลอื่น ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุไม่มีผลงาน ไม่แตกต่าง
    ที่น่าห่วงคือ เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.3 ระบุ รัฐบาลที่มีคดีติดโกงทำประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากกว่ารัฐบาลที่ซื่อสัตย์ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.7 ระบุรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากกว่ารัฐบาลที่มีคดีติดโกง
    ที่น่าพิจารณาคือ ผลงานรัฐบาลลุงตู่ที่ประชาชนต้องการให้เร่งสร้างมากที่สุด ผลสำรวจพบว่า อันดับแรกสูงสุด หรือร้อยละ 75.9 ระบุแก้ปัญหาค่าครองชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ รองลงมาหรือร้อยละ 5.7 ระบุ แก้ปัญหายาเสพติด อันดับสามหรือร้อยละ 3.1 ระบุ ช่วยด้านการศึกษาของคนยากจน, อันดับสี่หรือร้อยละ 2.5 ระบุการดูแลสุขภาพของประชาชน, ร้อยละ 2.0 ระบุเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน และร้อยละ 10.8 ระบุผลงานอื่นๆ เช่น แก้ปัญหาว่างงาน แก้ปัญหาเกษตรกร แก้ภัยแล้ง ภัยพิบัติ แก้ระบบภาษี แก้ปัญหาความแตกแยกของคนในสังคม เป็นต้น
    ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ทัศนคติของคนในชาติเป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่งที่ทุกฝ่ายน่าจะหันมาเอาจริงเอาจังกับการบริหารจัดการทัศนคติของคนในชาติเพราะโพลครั้งนี้ชี้ว่า คนเกือบ 1 ใน 3 เห็นว่ารัฐบาลที่มีคดีติดโกงทำประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากกว่ารัฐบาลที่ซื่อสัตย์ และคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากพอที่จะแผลงฤทธิ์ออกมาปั่นกระแสชี้นำ และอาจสร้างความวุ่นวายในสังคม และยิ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเดือดร้อนหนักเรื่องค่าครองชีพ รายได้ไม่พอกับรายจ่ายแล้ว ยิ่งจะทำให้ทัศนคติที่ดีของประชาชนส่วนใหญ่ถูกทำลายได้ ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องเร่งทำงานหนักขึ้นอีก ตอบโจทย์ตรงความต้องการของประชาชน เพื่อป้องกันรักษาทัศนคติที่ดีของคนรุ่นใหม่เอาไว้ให้ได้
ประกันรายได้ข้าว
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงหลังการประชุม 3 ฝ่ายว่า กระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนผู้ประกอบการและตัวแทนเกษตรกรโดยสมาคมชาวนาและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ มีความเห็นร่วมกันเห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าว ในข้าว 5 ประเภทได้แก่ 1.ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท ความชื้น 15% โดยประกันรายได้ให้ไม่เกินละ 30 ตันต่อครัวเรือน หรือไม่เกิน 40 ไร่ 2.ข้าวเหนียว ประกันที่ตันละ12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่  
    3.ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาท ที่ไม่เกิน 40 ไร่ หรือ 14 ตัน 4.ข้าวหอมนอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 40 ไร่ หรือไม่เกิน 16 ตัน และ 5.ข้าวหอมปทุม ไม่เกิน 11,000 บาท ไม่เกิน 40 ไร่ หรือไม่เกิน 25 ตัน" รมว.พาณิชย์กล่าว 
    นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า เราจะเริ่มดำเนินการนำข้อสรุปนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นยข.) หารือเพื่อกำหนดเวลาต่อไป อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่จะใช้ในการประกันรายได้ครั้งนี้ เบื้องต้นจะหารือในที่ประชุม นบข. โดยให้เกษตรกรชาวนาขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 
    นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เราจะยังมีมาตรการคู่ขนานดำเนินการด้วย เช่น จะลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเก็บเกี่ยว การส่งเสริมระบบการเกษตรแปลงใหญ่หรือนาแปลงใหญ่ การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และโครงการประกันภัยพืชผล เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น 
    ส่วนมาตรการระยะยาวคือ การพัฒนาชาวนาให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมการผลิตข้าว ทั้งนี้ ยังจะมีมาตรการด้านการตลาดคือการปรับสมดุล โดยการให้สินเชื่อชะลอการขาย การใช้สินเชื่อโดยสถาบันเกษตรกรหรือการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก การปรับปรุงทางด้านยุทธศาสตร์ข้าวไทย และการรักษาตลาดส่งออก ทั้งตลาดเดิม ตลาดเก่า (อิรัก) และขยายตลาดใหม่
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการ ก็เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และพยุงไม่ให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ เมื่อได้พิจารณามาตรการต่างๆ แล้ว จะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยเน้นที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และต้องเพิ่มรอบการหมุนของเม็ดเงินกระจายไปยังกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ พร้อมกับเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลการเกษตร ซึ่งจะเชื่อมโยงกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย
ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะต้องดูแลประชาชนในระดับฐานรากที่มีอยู่ 40% ของประชากรทั้งหมด เพื่อให้คนกลุ่มนี้เงยหน้าอ้าปากได้อย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันลงทุน หรือ PPP ทำให้เกิดการจ้างงานคนในประเทศ ดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมทั้งยืนยันว่าการจัดทำงบประมาณปี 2563 จะไม่ละเลยเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยอย่างแน่นอน
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ครม.เศรษฐกิจมีความเคลื่อนไหวเล็กน้อยเกี่ยวกับภัยแล้ง และคิดว่าต้องใช้ยาแรงจำนวนมากพอที่จะทำให้เติบโตได้จริง สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่ออกมา มีทั้งสิ่งที่เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เห็นด้วยคือการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในนโยบายหนึ่งของพรรคเพื่อไทยมาตลอด และรัฐบาลได้นำนโยบายนี้ไปดำเนินการต่อ 
    ส่วนเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 3 แสนล้านบาท โดยเรามีความเป็นห่วงสองประเด็นคือ 1.ขณะนี้เปรียบเสมือนหน้าแล้งมีน้อยมาก คือมีน้ำหรือเม็ดเงินน้อยมาก ใน 3 แสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วยการพักหนี้และการให้สินเชื่อของธนาคารไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงการพักหนี้ต่างๆ ดังนั้นจึงเหลือเม็ดเงินที่ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก 
    2.ในภาวะน้ำมีน้อย ทางรัฐบาลต้องเลือกใช้วิธีในการรดน้ำ จะหยดที่โคนต้น หรือจะสเปรย์ทิ้ง มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาถือว่าเป็นการใช้น้ำไม่คุ้มค่า เพราะใช้วิธีสเปรย์เบี้ยหัวแตก ไม่ได้อัดลงไปที่ตรงจุด แม้การท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้าเทียบกับอัดเงินลงไปที่เกษตรกรฐานราก ให้เขามีเงินไปจับจ่ายในตลาด หรือทำให้เอสเอ็มอีฟื้น เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีเงินซื้อของในตลาดก็ขายได้ โรงงานก็ผลิตได้ น่าจะมีผลดีมากกว่า ขณะที่การท่องเที่ยวนั้นมีข้อติดขัดหลายอย่าง เช่น ถ้าจะเอาเงินรัฐไปเที่ยว 1,000 บาท ต้องควักเงินตัวเองอีก 2,000 บาท ซึ่งตอนนี้ตัวเองก็ไม่มีให้ควัก 
    “ดังนั้นจึงอยากติง 2 เรื่อง คือยาไม่แรงพอกับวิธีการสะเปะสะปะ ใช้วิธีสเปรย์แบบไม่เกิดประโยชน์ เพราะน้ำจะระเหยหมดไปไม่ลงถึงราก เราในฐานะนักการเมืองที่ใกล้ชิดประชาชนลงพื้นที่ ได้เห็นความทุกข์ยากทั้งในเมืองและชนบท สิ่งที่เราอยากเห็นคือการนำเงินลงไปกระตุ้นอย่างเพียงพอ เลิกซื้ออาวุธ เลิกซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น เศรษฐกิจวันนี้ไม่ใช่วิกฤติ แต่เป็นหายนะ หวังว่าในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้าจะได้ทบทวนสิ่งที่ฝ่ายค้านติติงด้วยความหวังดี” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
วัฒนายกก้นทักษิณ
    นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยว่ารัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาอันเนื่องมาจากสงครามการค้าและปัจจัยแทรกซ้อนอื่น แต่ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหามาตั้งแต่การยึดอำนาจแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาเกิดปัญหาในวันนี้ หลักฐานคือการกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณสูงที่สุด แต่จัดภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการมาตลอด การลงทุนหดหาย หนี้ครัวเรือนสูงถึง 13 ล้านล้านบาท
     การที่รัฐจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินใช้ และไม่กล้าใช้เงิน รวมถึงไม่มีการลงทุนอันเป็นที่มาของภาษี จนลามไปถึงเงินบาท ทำให้แข็งค่ากระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เคยอุ้มชูเศรษฐกิจไทยมาตลอด 5 ปี ทั้งหมดคือสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจที่ถูกส่งมานานแล้วแต่รัฐบาลก็ไม่เคยแก้ไขให้ตรงจุด แถมยังใช้เงินผิดประเภท แทนที่จะเอางบประมาณที่มีอยู่จำกัดมาติดอาวุธให้กับประชาชนเพื่อให้มีความสามารถเสียภาษีกลับเอาไปซื้ออาวุธให้กองทัพผลาญภาษี
         "ว่าเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาจากภาษีของประชาชน เรียกว่างบลงทุน ความหมายก็ตรงตัวคือใช้ไปต้องเกิดผลตอบแทนกลับมาในรูปภาษี แต่ผลของการแจกเงินที่รัฐบาลประยุทธ์ทำมา 5 ปี มีแต่ทำให้คนจนลง จัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าประมาณการมาตลอด แปลว่าการแจกเงินไม่ได้ผล เพราะไม่ทำให้คนเห็นอนาคต เงินที่แจกไปไม่ก่อให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืนใช้ไปครั้งเดียวหมด ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง แต่รัฐบาลก็ยังจะเอาวิธีที่ไม่เคยได้ผลมาใช้ต่อไป ถ้าไม่บ้าก็เสียสติแบบที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้"
          นายวัฒนากล่าวว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงต้องลงทุนเพื่อทำให้คนเห็นอนาคต แบบที่นายทักษิณเคยทำ ประชาชนจึงจะกล้าจับจ่ายใช้สอย อันเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง นี่คือคำแนะนำ เดี๋ยวจะหาว่าฝ่ายค้านจ้องแต่จะโจมตีไม่เสนอแนวคิดหรือทางแก้อะไรเลย แต่หากยังคิดต่อไม่เป็นก็ทำแบบที่ รมว.สธ. ไปขอพบหมอสุรพงษ์เพื่อขอคำแนะนำเรื่องโครงการ 30 บาท ตนจะแนะนำให้
          "หัวใจสำคัญของการบริหารคือความเชื่อมั่น   เศรษฐกิจก็เช่นกัน หากผู้นำหรือรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ประชาชนจะหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ข่าวร้ายคือประชาชนและผู้ประกอบการต่างไม่เชื่อมั่นในตัวผู้นำและรัฐบาล ตามผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและหอการค้าไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 ต่ำสุดในรอบ 22 และ 18 เดือนตามลำดับ แบบนี้ถมเงินลงไปเท่าไรก็ไม่ได้ผล เพราะต้นตอของปัญหาอยู่ที่ตัวพลเอกประยุทธ์ออกไป ทุกอย่างจะดีขึ้น" นายวัฒนากล่าว
ติงกระตุ้นพร่ำเพรื่อ
    ด้าน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หากเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่พร่ำเพรื่อ และต้องใช้ด้วยความเข้าใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นครั้งๆ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เศรษฐกิจหมดแรงก็กระตุ้น มีแรงได้ไม่กี่เดือนก็ฟุบอีก แล้วก็ต้องกระตุ้นกันใหม่ เป็นวัฏจักรที่ไม่ถูกต้องและอันตราย และรัฐบาลก็ไม่ควรเสพติดและมีความสุขกับวัฏจักรนี้ โดยไม่ทำอย่างอื่น
    แนวทางการบริหารเศรษฐกิจแบบนี้ทำให้งบประมาณจำนวนมหาศาลถูกนำไปใช้กับมาตรการแบบชั่วคราว ไร้การกำหนดทิศทางประเทศในระยะยาว ส่งผลให้ “การพัฒนาโครงสร้างและทิศทางหลักของประเทศ” ถูก “ละเลย” เช่น การสร้างเกราะป้องกันทางเศรษฐกิจให้ประเทศต่อสงครามการค้า การสร้างโครงสร้างสินค้าเกษตรกรรมใหม่ การยกระดับตลาดแรงงาน การพัฒนาและแสวงหาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
    เราไม่สามารถทำประเทศไทยให้อยู่ในภาวะอย่างนี้ได้นาน หากพื้นฐานประเทศไม่ได้ถูกพัฒนา อีกไม่นานภาระทางการคลังจะเป็นข้อจำกัดสำหรับมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ และเมื่อนั้นเราจะหมดกระสุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หากจะเปรียบเทียบ ระบบเศรษฐกิจเหมือนลูกกลิ้ง ที่เราต้องพยายามสร้างกลไกและระบบ ที่ผลักดันให้มันสามารถเคลื่อนได้ด้วยตัวของมันเอง กักเก็บโมเมนตัมไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ลูกกลิ้งที่ต้องคอยผลักดันใหม่ทุก 3 เดือน 6 เดือน แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 
ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อาทิ นายรังสิมันต์ โรม, นายเจนวิทย์ ไกรสินธุ์, นายสมชาย ฝั่งชลจิตร รวมถึงนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังข้อมูลปัญหาของประชาชน โดยในช่วงเช้าเข้าเยี่ยมชมพร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปยางพารา ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางโสตประชา จำกัด ซึ่งเป็นโรงแปรรูปยางพาราให้เป็นแผ่นปูพื้นยาง พร้อมพูดคุยกับสมาชิกและผู้บริหารสหกรณ์ถึงแนวทางการแปรรูปยางในประเทศไทย
นายธนาธรระบุว่า รู้สึกดีใจที่จะได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของการแปรรูปยางที่นี่ นี่คือแนวทางแห่งอนาคตของประเทศไทย คือการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้แปรรูปสินค้าการเกษตร ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสเดินไปทางดูโรงงานแปรรูปยางในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด เพื่อจะได้เรียนรู้การแปรรูปยางที่หลากหลาย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสิ่งที่รัฐบาลพยายามคิดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งจะมีเรื่องของยางและสินค้าเกษตรอื่นๆ อยู่ด้วย ตนเห็นว่ามีความจำเป็นในระยะสั้น ประชากรไทยจำนวนมากทั่วประเทศต่างมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับสินค้าทางการเกษตร แต่ทุกวันนี้ พืชเศรษฐกิจหลักๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลัง ต่างได้รับผลกระทบราคาตกหมด เพราะฉะนั้นมาตรการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมีความจำเป็น แต่ในระยะยาวอนาคตต้องอยู่ที่การแปรรูป
ยกมาเลย์เป็นต้นแบบ
"ยกตัวอย่างมาเลเซียวันนี้กลายเป็นผู้นำเข้ายางพาราแล้ว จากที่เมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นผู้ส่งออกยางพาราแข่งกับประเทศไทย ที่ผ่านมามาเลเซียพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการแปรรูปอย่างจริงจังมาก จนกลายเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ทำจากยางไปแล้ว ถ้าวันนี้ไปดูที่ด่านสะเดา จะพบว่าเป็นด่านที่มูลค่าการค้าสูงมาก สินค้าที่ส่งออกจากบ้านเราเป็นหลักคือยางพาราดิบ แม้ดูเหมือนจะดี แต่ในอีกนัยหนึ่ง นี่กลายเป็นว่ามูลค่าเพิ่มจากยางพาราของไทยไปอยู่ที่มาเลเซียหมด ผมคิดว่านี่คือจังหวะเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงจริงๆ เพื่อให้สินค้าเกษตรของประเทศไทยได้ถูกแปรรูปด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในส่วนของยางพาราเอง พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.เจนวิทย์ ไกนสินธุ์ ที่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำงานศึกษาในเรื่องยางพาราโดยตรง ที่ผ่านมา ผมได้ฝากให้นายเจนวิทย์ไปผลักดันในคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้เกิดโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธรกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ที่มีการพูดถึงว่ายางพาราสามารถนำไปทำถนนได้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่งานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ยังสับสนอยู่ ว่าเอาเข้าจริงแล้วการทำถนนด้วยยางพาราทำได้หรือไม่ ด้วยสูตรหรือส่วนผสมอะไร บางมหาวิทยาลัยบอกว่าทำได้ บางมหาวิทยาลัยบอกว่าทำไม่ได้ ตนจึงอยากผลักดันให้มีการวิจัยอย่างจริงจังสักปีหนึ่ง อาจจะยอมเสียเวลาหน่อย เพื่อให้ได้ส่วนผสมที่คิดว่าใช้การได้มากที่สุด นำมาทดสอบอย่างจริงจัง สเปกไหนดี สเปกไหนไม่ดี อันไหนใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ก่อนที่จะนำมาผลิตได้อย่างจริงจัง วันนี้เราต้องเอาของที่เรามีอยู่มาแปรรูปให้เกิดมูลค่า มาตอบสนองชีวิตของประชาชน อย่างสิ่งที่สหกรณ์นี้ทำเรื่องการแปรรูปให้เป็นแผ่นปูพื้น ถ้าเรามีแนวทางที่ชัดเจนที่จะนำมาทำสนามเด็กเล่นให้น้องๆ ทั่วประเทศไทย เพียงเท่านี้ก็เกิดออเดอร์ขึ้นแล้ว มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นก็จะไม่หนีไปต่างประเทศ จะมาอยู่ที่สหกรณ์และชาวสวนยางในประเทศไทยของเราเอง และในอนาคต หากทำการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น พัฒนาให้คุณภาพดีขึ้น ก็สามารถนำไปสู่การผลักดันให้มีการยอมรับจากตลาดที่กว้างขึ้น ทำให้มีชื่อเสียงระดับโลก เพิ่มมูลค่าได้มากขึ้นอีก ตนคิดว่านั่นคือทิศทางด้านการเกษตรของเรา ที่จะยกระดับได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยไม่ละทิ้งวิถีชีวิตและทรัพยากรที่มีอยู่
นายธนาธรกล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้แม้พรรคอนาคตใหม่เราเป็นฝ่ายค้าน แต่อะไรที่เป็นอำนาจหน้าที่ที่เราพอจะทำได้ จะพยายามผลักดันให้ดีที่สุด มาศึกษา มาเรียนรู้ในวิถีทางแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ถ้าวันหนึ่งเราได้เป็นรัฐบาล เราก็จะสามารถนำความรู้ที่เราได้มาไปผลักดันนโยบายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
    นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระบุว่าปัจจุบันประเทศมาเลเซียเป็นผู้นำเข้ายางพารา จากที่ก่อนหน้านี้เป็นผู้ส่งออกแข่งขันกับประเทศไทยว่า เป็นเรื่องจริง เมื่อก่อนตลาดยางจะมี 3 ผู้นำ คือ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตอนหลังมาเลเซียมีผลผลิตยางในประเทศประมาณ 6-7 แสนตัน แต่มาเลเซียบริโภคยางปีหนึ่ง 2 ล้านตัน เพราะฉะนั้นเขานำเข้าน้ำยางข้นจากประเทศไทยปีหนึ่งประมาณ 7-9 แสนตัน ส่วนที่เหลือก็นำเข้าจากที่อื่น มาเลเซียจึงกลายเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยางของโลก เช่น การทำถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ที่ใช้นำยางข้นในการทำ 
โรคหวังพึ่งราคายาง
    เมื่อถามว่า การที่มาเลเซียกลายเป็นผู้นำเข้ายางพาราของโลก ส่วนหนึ่งเพราะมาเลเซียมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมในการแปรรูปต่างๆ ที่ดีกว่าไทยด้วยหรือไม่ นายสุนทรกล่าวว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่ง เพราะเขานำหน้าเรื่องการแปรรูปมาก่อนเรา เขาส่งเสริมให้มีการโค่นยางเพื่อปลูกปาล์มมาก่อนเรา วันนี้เขาเลยกลายเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยางของโลกได้  
    นายสุนทรกล่าวอีกว่า แต่ในส่วนของประเทศไทย เรื่องยางเราเป็นอยู่ 5 โรค คือ 1.โรคเกษตรกรหวังพึ่งราคายาง วิธีแก้เกษตรกรต้องหันมาพึ่งพาและจัดการตนเอง อย่ารอพึ่งรัฐให้ช่วยเหลือเรื่องราคา 2.โรคสวนยางเชิงเดี่ยว ต้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน เราจะเปลี่ยนจากสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายางที่มีสมดุลนิเวศ ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุน สร้างเสริมรายได้ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต 
    นายสุนทรกล่าวอีกว่า 3.โรคการผลิตและการแปรรูปที่ยังเดินไม่ถึงไหน ความจริงประเทศไทยควรทำแบบมาเลเซียมานานแล้ว วันนี้ประเทศไทยยังคงส่งออกยางกลางน้ำประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ และนำยางมาแปรรูปภายในประเทศประมาณ15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรื่องการผลิตและแปรรูปเป็นข้อเสนอที่วันนี้มีการพูดคุยกันหลายฝ่าย เราต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางของโลก โดยมีเป้าหมายให้การแปรรูปยาง 35 เปอร์เซ็นต์จากผลผลิตยางทั้งหมด 5 ล้านตัน รวมไปถึงการนำยางมาใช้ทำถนนยางพาราด้วย 4.โรคการพึ่งพาตลาดจีนเพียงอย่างเดียว เป็นโรคที่น่ากลัว จีนผูกขาดกระบวนการรับซื้อวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งอันตรายมาก จึงต้องหาตลาดใหม่ๆ เช่น รัสเซีย ตะวันออกกลาง อีกทั้งยังมีโรคตลาดล่วงหน้า เพราะวันนี้ยางถูกปั่นราคาด้วยการซื้อขายล่วงหน้า ต้องทำให้มีการซื้อขายยางจริง
    นายสุนทรกล่าวว่า และ 5.โรคกลไกตลาดของรัฐและนโยบายของรัฐบาล เราไม่เคยใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 มาบังคับใช้กับพ่อค้า ทำให้พ่อค้ากดราคาซื้อขายได้ และความเป็นเอกภาพในการยางแห่งประเทศไทยยังไม่มี ดังนั้นในระยะที่รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงาน ต้องเร่งจัดทัพให้การยางฯ มีเอกภาพ ดังนั้น 5 โรคที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องแปรเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น กลาง และระยะยาว โดยโครงการประกันรายได้เป็นโครงการเร่งด่วนเฉพาะหน้า รับประกันว่าเกษตรกรจะมีรายได้จาการขายยาง ไม่ว่าราคาเท่าไหร่ แต่ส่วนต่างจะชดเชย แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว ส่วนระยะกลางรัฐบาลต้องดึงยางออกมาทำถนน อุปกรณ์จราจร และการแปรรูปยางต่างๆ และระยะยาว คือการทำสวนยางอย่างยั่งยืน มีพืชชนิดอื่นร่วมกับยาง 
    นายสุนทรกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องยางเรามีสภาไตรภาคี ที่มีประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นองค์กรที่รวมกลุ่มดำเนินการผลักดันเรื่องยางให้เป็นที่หนึ่งของโลก แต่ยังทำไม่สำเร็จ และยิ่งน่าเป็นห่วง วันนี้มาเลเซียเปลี่ยนจากผู้ผลิตกลายเป็นผู้บริโภค และถามว่ามาเลเซียอยากให้ราคายางกิโลกรัมละ 100 บาทหรือ เขาก็ยางให้กิโลกรัมละ 40-50 บาท. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"