รัฐบาลไม่ทบทวน จี้ปราบบุหรี่ไฟฟ้า


เพิ่มเพื่อน    


    ระวังกันไว้ กฎหมายครอบครัวฉบับใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ขี้ยาสูบบุหรี่ในบ้านจนผู้ร่วมชายคาเจ็บป่วย มีความผิด นายกฯ ปิดประตูบุหรี่ไฟฟ้า ยันยังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายห้ามนำเข้า ระบุต้องคำนึงถึงสุขภาพประชาชน ที่ผ่านมาเสียค่ารักษาผู้ป่วยจำนวนมาก กำชับเจ้าหน้าที่กวาดล้างตลาดมืด
    ที่ทำเนียบรัฐบาล บ่ายวันที่ 20 สิงหาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงนโยบายของรัฐบาลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจะแก้ไขกฎหมายให้เป็นสินค้าควบคุมหรือไม่ ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการทบทวนเรื่องนี้ ยังคงยึดถือตามกฎหมายเดิม ที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายห้ามน้ำเข้า ห้ามจำหน่าย และครอบครอง ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้สูบ รวมทั้งเด็กและเยาวชนด้วย และตอนนี้มีการแพร่ระบาดในตลาดมืดจำนวนมาก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ก็ต้องกำกับดูแลให้มากยิ่งขึ้น
    "บางคนอยากให้นำสินค้าผิดกฎหมายในตลาดมืดเหล่านี้ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลมาทำให้ถูกกฎหมาย บางครั้งเรามองแค่รายได้ที่จะได้จากภาษีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองถึงสุขภาพด้วย ที่ผ่านมาเราเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองจำนวนมาก หรือหลายๆ โรคที่เรียกว่าโรคไม่ติดต่อ แต่เป็นโรคที่ทรมาน รักษานาน ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการประกันสุขภาพต่างๆ ก็มีปัญหาหมด ใช้เงินจำนวนมาก เราจึงต้องรักษาสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด" นายกฯ กล่าว
    อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ มีรายงานว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 90 วัน ได้มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้เน้นเรื่องการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมครอบครัว และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคล ซึ่งการสูบบุหรี่ในบ้านอาจเข้าข่ายมีความผิดทางอาญา ฐานก่อความรุนแรงในครอบครัว เพราะทำลายสุขภาพคนในบ้าน
    โดยมาตรา ๔ บัญญัติว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” หมายความว่า การกระทำใดๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียง ของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ 
    “บุคคลในครอบครัว” หมายความว่า ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตรบุญธรรม รวมทั้งบุคคลใด ๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน 
    นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงในเรื่องนี้ที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกโซเชียล ทั้งผู้ที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็น หลายคนแสดงความคิดเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเอาผิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านและห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในบ้าน เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ที่สูบบุหรี่ ขณะที่ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล
    อธิบดี สค. กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ไม่ได้มีข้อบังคับหรือห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ในบ้านอย่างที่เป็นข่าว โดยกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่บุคคลในครอบครัว ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กรณีของการสูบบุหรี่ภายในบ้านจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ต่อเมื่อควันบุหรี่ส่งผลกระทบให้คนในบ้านเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ป่วย และได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบและพิสูจน์อย่างแน่ชัดจนสามารถยืนยันได้ว่าควันบุหรี่ทำให้คนในบ้านป่วยจริง จึงจะเข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรม คือเข้ารับการบำบัดและเลิกบุหรี่
    นอกจากนี้การสูบบุหรี่ในบ้านยังอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว นำไปสู่การทำความรุนแรงทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือทางสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่อาจจะหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ภายในบ้าน หรือถ้าจำเป็นต้องสูบก็ควรสูบในบริเวณที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับคนในบ้านหรือบ้านใกล้เคียงกัน
    ด้านนายชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายมีการกระจายอำนาจให้ภูมิภาคสามารถดำเนินการเปรียบเทียบปรับกับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบได้ โดยมอบอำนาจให้กับนายแพทย์สาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจากเดิมจะเป็นอำนาจของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้นขณะนี้ในส่วนภูมิภาคจึงอยู่ในช่วงรวบรวมข้อมูลว่า ในปี 2562 นี้ มีผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบทั้งหมดกี่ราย แต่ในส่วนของกรุงเทพฯ มีการปรับไปแล้วเกือบ 10 ราย เบื้องต้นปรับประมาณรายละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุด เนื่องจากเป็นความผิดครั้งแรก แต่ครั้งต่อไปหากยังพบการกระทำผิดซ้ำอีกก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าจะปรับในอัตรา 5,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดหรือไม่
        นายชยนันท์กล่าวว่า กฎหมายกำหนดพื้นที่ห้ามสูบนั้น จริงๆ ต้องการให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายมากกว่า ไม่ได้มุ่งหวังที่จะปรับ แต่เมื่อพบการกระทำความผิดก็จำเป็นต้องดำเนินการปรับเพื่อให้เกิดความหลาบจำ สำหรับสถานที่ห้ามสูบ อาทิ โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สถานศึกษาที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา วัด ป้ายรถประจำทาง เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"