7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เอกภาพภายในมีปัญหา?


เพิ่มเพื่อน    

 ภายหลังได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการ บทบาทการเมืองต่อจากนี้ของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ผู้นำฝ่ายค้านฯ ย่อมต้องถูกจับตามองมากขึ้นกับการนำพาพรรคเพื่อไทยและแนวร่วม 7 พรรคฝ่ายค้าน แสดงบทบาททางการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ ที่ตอนนี้ก็พบว่า เพื่อไทยและพันธมิตร 7 พรรคฝ่ายค้าน มีแผนงานการเมืองใหญ่ๆ วางไว้และรอขับเคลื่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็น

1.การเตรียมอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ กรณีข้อคลางแคลงใจของฝ่ายค้าน เรื่อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่หลังพรรคฝ่ายค้านยื่นเรื่องต่อ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อใช้สิทธิอภิปรายพลเอกประยุทธ์ ผ่านช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ก็พบว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เตรียมบรรจุระเบียบวาระดังกล่าวให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาในช่วงต้นๆ เดือนกันยายนนี้

2.การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วาระแรกกลางเดือนตุลาคม ในการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญฯ

มีข่าวว่าเวลานี้แต่ละพรรคใน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีการเตรียมหาข้อมูล วางประเด็นการอภิปรายกันไว้แต่เนิ่นๆ แล้ว เพื่อเตรียมชำแหละวงเงินงบประมาณ กระทรวงและโครงการต่างๆ ในลักษณะเชื่อมโยงไปถึงการบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในด้านต่างๆ อันเป็นคิวอภิปรายที่ฝ่ายค้านแต่ละพรรคคงทุ่มสรรพกำลังเพื่อรอถล่มรัฐบาลอีกรอบ แบบเดียวกับที่ทำก่อนหน้านี้ตอนรัฐบาลแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา

ขณะเดียวกัน เพื่อไทยและฝ่ายค้านก็วางวาระการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาฯ ไว้ว่า จะต้องปลุกกระแสประชาชนให้สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แนวทางของฝ่ายค้านคือต้องการแก้ไข รธน.บางมาตรา เพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องระยะยาว เบื้องต้นก็จะใช้วิธีการเสนอให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน.ไปก่อน เพื่อให้ผลการศึกษาดังกล่าวของ กมธ.สภาฯ เป็นบันไดไปสู่การแก้ไข รธน.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม วาระงานการเมืองของแนวร่วมฝ่ายค้านที่วางไว้ข้างต้นในทางการเมือง ก็ต้องรอตามดูกันว่า การขับเคลื่อนของฝ่ายค้านจะเป็นเอกภาพกันดีหรือไม่ หลังเวลานี้ท่าทีการเมืองของฝ่ายค้านก็เริ่มแปร่งๆ บนกระแสข่าวอาจจะมี ส.ส.ฝ่ายค้านแตกแถว เป็นงูเห่า ไปช่วยโหวตเสียงให้ฝ่ายรัฐบาล

ซึ่งพรรคที่ถูกเพ่งเล็งมากสุดก็คือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตร มว.พาณิชย์ ยุครัฐบาลพลังประชาชน ซึ่งมีกระแสข่าวมาตลอดตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาลแล้วว่า ถูกแกนนำพลังประชารัฐติดต่อให้เข้าร่วมรัฐบาล โดยเสนอโควตากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้เป็นข้อจูงใจ แต่เกิดปัญหาติดขัด ดีลเลยไม่สำเร็จ แต่มีข่าวว่าฝ่ายแกนนำพลังประชารัฐก็ยังไม่เลิกการดีลกับคนในพรรคเศรษฐกิจใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบคือ เมื่อดึงมาทั้งพรรคไม่ได้ ก็จะใช้วิธีการดึงเสียง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจรายตัว ให้มาเป็นโหวตให้ฝ่ายรัฐบาลไปทีละนัด ในโอกาสสำคัญๆ ที่ต้องการเสียงจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ เพื่อมาเติมเต็มให้รัฐบาล จะได้ไม่ต้องพะวงเรื่องเสียงปริ่มน้ำ

กระแสข่าวดังกล่าวทำให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ต้องทำการเปิดแถลงข่าวแจงเรื่องนี้ทันควัน เมื่อ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา อันเป็นการแถลงข่าวที่แม้ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่จะยืนกรานเหนียวแน่นอยู่กับพรรคฝ่ายค้าน แต่ท่าทีการเมืองของคนในพรรคเศรษฐกิจใหม่บางรายก็สะท้อนให้เห็นนัยสำคัญของคนในพรรคนี้ ต่อการทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน

คือแม้ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจ จะยืนกรานว่า ส.ส. 6 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ยังเป็นฝ่ายค้าน ไม่มีใครแตกแถวไปไหน แต่บางกรณีที่เป็นความเห็นร่วมกันของพรรคฝ่ายค้านนั้น ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่จะใช้เอกสิทธิ์พิจารณาการลงมติที่อาจสวนทางกับพรรคร่วมฝ่ายค้านในบางประเด็น จะไม่ค้านแบบหัวปักหัวปำ

ส่วน ภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่–เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจ ระบุว่า ยอมรับว่าแม้จะอยู่ฝ่ายค้าน แต่มีความอึดอัด เนื่องจากมีความมุ่งเน้นเรื่องการเมืองมากเกินไป แต่พรรคเศรษฐกิจใหม่ชำนาญเรื่องเศรษฐกิจ อาจทำให้การทำงานบางเรื่องไม่ราบรื่น ปัญหาปากท้องประชาชนไม่ถูกพูดถึง มีแต่พูดเรื่องการเมืองที่ไม่ช่วยให้ประชาชนอิ่มท้อง ดังนั้น พรรคจึงอยากมีเอกสิทธิ์การแสดงความเห็นและการออกเสียงในบางกรณีที่อาจไม่ตรงกับมติฝ่ายค้าน เพราะบางเรื่องพรรคเศรษฐกิจใหม่ไม่เห็นด้วยกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่อยากให้ลากชื่อพรรคไปอยู่มุมใดมุมหนึ่ง แต่ว่าวันนี้เรายังเป็นฝ่ายค้าน

จับปฏิกิริยา-กระแสการเมืองดังกล่าวของคนพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่แม้จะมี ส.ส.แค่หกคน เทียบไม่ได้กับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ อย่างเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ที่มี ส.ส.เยอะกว่ากันมาก เพราะหากฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เอกภาพของฝ่านค้านมีปัญหา เสียงฝ่ายค้านแตกกันเอง แล้วเป็นการแตกโดยมีการงดออกเสียงหรือเทเสียงมาที่ฝ่ายรัฐบาล มันก็ย่อมเป็นผลดีอย่างยิ่งกับการแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำของฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ

เพราะเท่ากับพลังประชารัฐจะได้สองต่อแบบไปกลับ คือมาเพิ่มเสียงรัฐบาล แล้วไปลดเสียงฝ่านค้านให้หายไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"