ปรบมือรัวๆ'น้องเพชร'ส.ส.พรรครปช.ลุยลำปางร่วมจิตอาสาสร้างฝายชะลอน้ำ


เพิ่มเพื่อน    

23 ส.ค. 62 - นางสาวเพชรชมพู กิจบูรณะ  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) โพสต์รูปภาพพร้อมขอความลงในเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาระบุว่า  ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำกับกลุ่มจิตอาสา ณ อุทยานแห่งชาติเตรียมการถ้ำผาไท

ในวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพชรได้มีโอกาสลงพื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง นอกจากได้รับฟังปัญหาที่อุทยานและบริเวณโดยรอบแล้ว เพชรยังได้ลงมือ ร่วมทำฝายชะลอน้ำกับกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่อีกด้วยค่ะ

ฝายชะลอน้ำ คือสิ่งก่อสร้างที่ทำขึ้นเพื่อขวางหรือกั้นทางน้ำ โดยปกติมักจะกั้นลำห้วย ลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือ พื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากเป็นช่องที่น้ำไหลแรงก็สามารถช่วยในการชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงด้วย เพื่อการกักเก็บตะกอนเอาไว้ไม่ให้ไปทับถมลำน้ำตอนล่าง เป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและแหล่งน้ำวิธีหนึ่ง

ผลจากการสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้บริเวณที่เคยมีต้นน้ำที่แห้งและเสื่อมโทรมกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ดินเกิดการอุ้มน้ำ ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น พื้นที่มีความชุ่มชื้น เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ โดยการใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวย เกิดการสัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ฝายชะลอน้ำสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 
ฝายชะลอน้ำแบบท้องถิ่น (หรือฝายแม้ว ที่ทำโดยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น กิ่งไม้ ไม้ล้ม หรือก้อนหินชนิดต่างๆ มาวางเรียงซ้อนกัน) 
ฝายชะลอน้ำแบบเรียงด้วยหิน (ฝายกึ่งถาวร) และ
ฝายชะน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (ฝายแบบถาวร) 
ซึ่งการก่อสร้างฝายชะลอน้ำนั้นควรได้รับการศึกษาโดยละเอียด ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปัญหา เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้ เช่น ทำให้น้ำนิ่ง ไม่เกิดการไหลเวียน ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย ระบบนิเวศเสื่อมโทรม หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างฝาย อาจไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่มีอยู่โดยรอบได้

ในครั้งนี้ พวกเราลงมือทำฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร ใช้ดินทรายจากบริเวณโดยรอบผสมกับปูน แต่ก่อนที่กลุ่มจิตอาสาจะลงมือได้ ต้องมีการตรวจสอบประเมินพื้นที่เพื่อดูความเหมาะสมและการเตรียมวัสดุที่จำเป็นในการสร้างฝายในครั้งนั้นๆ รอบนี้ เราโชคดีที่มีอาจารย์เสกสรรค์ แดงใส จิตอาสาผู้ทุ่มเทลงมือสร้างฝายมานับไม่ถ้วนแล้ว เป็นผู้ล่วงหน้าไปสำรวจพื้นที่ ในช่วงสายของวันที่ 12 ได้รับข่าวจากอาจารย์เสกสรรค์ว่ามีการกำหนดจุดชัดเจนแล้ว กลุ่มจิตอาสาจึงเดินเท้าเข้าไปยังจุดนั้น

ทางเดินไปยังสถานที่สร้างฝาย ส่วนมากรายล้อมด้วยป่าไม้ไผ่ที่หนาแน่น ผู้ล่วงหน้าไปต้องกรุยทางไว้ก่อน ระหว่างทางเดิน ยุงป่าชุมมาก จิตอาสาที่เข้าไปประจำจะเตรียมตัวอย่างดี ใส่แขนยาว ขายาว รองเท้าบู๊ต ใส่ปลอกแขน ฉีดยากันยุง จุดยารมยุง (ถึงกระนั้นก็ยังถูกกัดเป็นจั้มๆ กันแทบทุกคน)

เมื่อถึงที่หมาย ภารกิจหลักที่เพชรได้รับคือ การขุดดินทรายตรงช่วงกลางลำห้วยเพื่อเปิดทางน้ำ และการ “ย่ำ” บริเวณที่ผสมดินทรายและปูนลงไป เพื่อให้ตัวฝายแน่น ไม่ทรุดตัวง่ายในระยะยาว ใช้เวลาย่ำไปย่ำมานานพอสมควร เมื่อชั้นหนึ่งเริ่มแน่นแล้ว ก็จะโรยปูน ถมดินทรายเพิ่มเป็นชั้นต่อๆไป ย่ำต่อจนแน่น ให้สูงประมาณเมตรกว่าๆ ต้องอาศัยความรวดเร็วอยู่เหมือนกัน เพราะหากโรยปูนไปแล้วปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่มีการย่ำซ้ำ ชั้นบนสุดของฝายจะแข็งตัว แต่ชั้นล่างๆ ยังร่วนอยู่ น้ำสามารถผ่านได้ และหมดประสิทธิภาพในการชะลอน้ำในที่สุดค่ะ

พวกเราลงมือกันประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ ฝนก็เริ่มตกลงมา ก็เลยมีการพูดคุยกันว่า อาจจะต้องกางเต้นท์ ไม่ได้กางสำหรับพวกเรา แต่เป็นการกางเพื่อคุมบริเวณฝายที่ปูนยังไม่แข็งตัว แต่ถือว่ายังโชคดีที่บริเวณรอบเป็นป่าไผ่ เลยช่วยกันเม็ดฝนที่ตกลงมาได้พอสมควร ท้ายที่สุดแล้วเราก็ทำภารกิจสำเร็จโดยไม่ต้องมีการกางเต้นท์ค่ะ

การที่เพชรได้ไปทำงานอยู่ในกลุ่มจิตอาสาที่ทั้งอึด ทั้งแข็งขัน ทำให้มองเห็นอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การทำงานเป็นทีม ทำให้งานเสร็จเร็ว ส่วนการทำงานด้วยใจ มีความสุขไปกับงานนั้นๆ ทำให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนทำงาน แบ่งหน้าที่หนักเบาตามแรงกำลังของแต่ละคน ทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปด้วยเสียงหัวเราะและมิตรภาพอันสวยงามค่ะ

เพชรถามหลายๆ คน ว่า ทำไมถึงมาเป็นจิตอาสาทำฝาย เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะพร้อมออกเดินเข้าป่า ลงมือทำงานหนัก ออกเงินเองไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง วัสดุอุปกรณ์ ค่าอาหาร มีจิตอาสาคนหนึ่งขับมอเตอร์ไซต์มาจากอุตรดิตถ์เพื่อมาร่วมทำงานโดยเฉพาะ คำตอบของทุกคนไปในทิศทางเดียวกันคือ “ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ” เพชรชื่นชมและเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ

สุดท้ายนี้ เพชรขอขอบพระคุณจิตอาสาทุกท่าน โดยเฉพาะอาจารย์เสกสรรค์ แดงใส เจ้าของคำพูดที่ว่า “ทุกอย่างเป็นไปได้ ถ้าชุมชนร่วมใจสามัคคี” ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ท่านเป็นผู้นำที่ลงมือสร้างฝายมาแล้วกว่า 1,000 ฝาย สร้างแรงบันดาลใจให้เพชรและจิตอาสาท่านอื่นเป็นอย่างมาก เป็นผู้นำที่ไม่ได้แค่สอน แต่ลงมือทำให้ดูเป็นตัวอย่างค่ะ หากมีโอกาส เพชรจะขออนุญาตกลับไปช่วยทำงานอีกนะคะ ขอคารวะทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"