สะเทือนชาวบ้านแห่ต้านเหมืองแร่รายวัน'กาฬสินธุ์-หนองบัวลำภู-เพชรบูรณ์ ' ระอุขีดเส้นจังหวัดหยุดคำขอประทานบัตร ซัดยุบทิ้งศูนย์ดำรงธรรมฯพึ่งไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    

23 ส.ค.62 - มีความเคลื่อนไหวของชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่อย่างต่อเนื่องในแต่ละจังหวัดเช่น ที่ จ.หนองบัวลำภู จ.อำนาจเจริญ จ.กาฬสินธิ์ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี  จังหวัดขอนแก่นและ ล่าสุดที่  จ.เพชรบูรณ์  โดยนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า มีโอกาสได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบการสำรวจเหมืองแร่ สำหรับปัญหาเรื่องความวิตกกังวลของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอหนองไผ่ อำเภอบึงสามพันและพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีการออกอาชญาบัตรสำรวจเหมืองแร่นั้นคงต้องนำข้อร้องเรียนและความกังวลเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาและแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น 

ด้านนายชัยสิทธิ  ชัยสัมฤทธิผล นายอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับความเดือดร้อนคือประชาชนที่คัดค้านการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในเขตอำเภอหนองไผ่ โดยชาวบ้านระบุสาเหตุการคัดค้านการว่าการให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำนั้นเนื่องจากพื้นที่ 6 อำเภอในจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นพื้นที่ต้นน้ำและพื้นที่โดยรอบแม่น้ำป่าสัก

"หากรัฐบาลให้สัมปทานบัตร จะทำให้สารเคมีและสารตกค้างจากเหมืองแร่ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสักและเขือนป่าสักชลสิทธิ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างหนัก พื้นที่ 3 ตำบล ซึ่งภาครัฐได้ออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ในขณะนี้ได้แก่ตำบลซับสมอทอด อำเภอบึงสามพัน ตำบลนาเฉลียง ตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์" นายชัยสิทธิ ระบุ 

ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ประมาณ 50 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ตรวจสอบการประชุมสภาอบต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ซึ่งได้จัดการประชุมสภาสมัยสามัญ สมัยที่ 2 ประจำปีพ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.62 ที่ผ่านมา และในระเบียบวาระที่ 4 ข้อ 3 ได้มีการสอดแทรกบรรจุเรื่องการพิจารณาลงมติต่อใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่หินปูน ชนิดอุตสาหกรรมก่อสร้าง บนภูผาฮวก ตามประทานบัตรเลขที่ 27221/15393 เนื้อที่กว่า 175 ไร่  และเพื่อสร้างที่กองเก็บแร่ ที่ตั้งโรงโม่ และอื่นๆ อีกจำนวน 50 ไร่ ตามลำดับ ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 10 ปี คือตั้งแต่เดือน ก.ย.63 ถึง ก.ย.73

โดยนายสมควร  เรียงโหน่ง  ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า การที่ประธานสภาอบต.ดงมะไฟ ได้นำเรื่องผู้ประกอบการขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่ สอดแทรกเข้าสู่การประชุมสภาฯ โดยไม่ได้มีการบรรจุตามระเบียบวาระเอาไว้ตั้งแต่ต้น และสมาชิกสภาอบต.ฯ ก็ได้มีมติเห็นชอบไปอย่างรีบเร่งนั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น

นอกจากนี้ สภาอบต.ดงมะไฟ ยังดำเนินการขัดต่อระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2548 ข้อ 8 (5) ซึ่งระบุว่าการพิจารณาให้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่  

นายสมควร กล่าวต่อว่า การทำเหมืองดังกล่าว ได้มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงมาโดยตลอด และกลุ่มชาวบ้านก็ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการฟ้องศาลปกครอง และศาลก็ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 14 มี.ค.61 โดยมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสืออนุญาต ที่อนุญาตผู้ประกอบการ เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเพิกถอนคำสั่งต่ออายุประทานบัตร ที่ออกให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ในท้องที่ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันคดีจะอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ของคู่ความ แต่ปัญหาความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงยังคงมีอยู่เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อเรียกร้องของชาวบ้านคือ ขอให้ผู้ว่าราชการมีคำสั่งตรวจสอบการประชุมสภาอบต.ดงมะไฟ ว่าผิดระเบียบกฎหมายตามที่กล่าวมาหรือไม่ ซึ่งถ้าพบว่าผิดจริงการมีมติเห็นชอบของสมาชิกอบต.ก็ต้องเป็นโมฆะ และไม่ให้มีการนำเอารายงานไปประกอบการยื่นขอต่อประทานบัตร 

ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ กลุ่มชาวบ้านในนามกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ กว่า 150 คน เดินทางมาที่ ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อยืนหนังสือขอคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว ในพื้นที่ ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ารับเรื่องร้องเรียน ซึ่งยืนยันรับข้อเสนอทั้งหมดของกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ พร้อมทั้งจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่

ทั้งนี้ชาวบ้านเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการแร่ระดับจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่อนุมัติคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ ประเภทที่ 1 ได้รับทราบว่าชาวตำบลเหล่าไฮงามคัดค้านการจัดรับฟังความคิดเห็นของอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และไม่ให้มีการนำข้อมูลจากการจัดรับฟังความคิดเห็น วันที่ 5 สิงหาคม 2562 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวขาวคลังแก้ว และเวทีรับฟังความคิดเห็น วันที่ 7 สิงหาคม 2562 ของบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด ไปแอบอ้างในการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงามต่อไป ชาวตำบลเหล่าไฮงาม จำนวน 408 คน ขอคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้ว ในพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงาม อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 

"ขอยืนยันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้รับทราบว่า ชาวตำบลเหล่าไฮงาม ไม่ต้องการเหมืองแร่ทรายแก้ว เนี่องจากจะสร้างผลกระทบต่อที่ทำกินของประชาชน รวมทั้งกังวลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่จะเกิดจากการทำเหมืองแร่ทรายแก้ว ทั้งปัญหาเรื่องฝุ่น ปัญหาการใช้น้ำ ปัญหาการคมนาคม การจัดการของเสียจากการผลิต การรับชอบในกรณีเกิดผลกระทบกับประชาชน และการเข้ามาขอทำเหมืองแร่ทรายแก้วก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน เมื่อมีความพยายามผลักดันให้เกิดเหมืองแร่ทั้งที่ประชาชนกว่าส่วนใหญ่ไม่ต้องการเหมืองแร่ทรายแก้ว ชาวตำบลเหล่าไฮงามจึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พิจารณายกเลิกคำขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงาม"

นอกจากนี้ ยังระบุให้อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ มีหนังสือแจ้งยกเลิกการจัดรับฟังความคิดเห็น วันที่ 5 สิงหาคม 2562 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด บัวขาวคลังแก้ว และเวทีรับฟังความคิดเห็น วันที่ 7 สิงหาคม 2562 ของบริษัท แทน ซิลิก้า จำกัด เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อไม่ให้มีการแอบอ้างนำรายงานการประชุมการรับฟังความคิดเห็น มาขอประทานบัตรเหมืองแร่ทรายแก้วในพื้นที่ตำบลเหล่าไฮงามในภายหลัง และ ขอให้อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ส่งหนังสือแจ้งกลุ่มฅนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ ล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ในกรณีที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับเหมืองแร่ทรายแก้ว โดยขอให้อุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ส่งหนังสือตอบกลับหนังสือคัดค้านฉบับนี้ภายใน 7 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากชาวบ้านตำบล​เหล่า​ไ​ฮ​งาม​ไม่เอา​เหมืองแร่​เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้าน​กับผู้ว่าราชการจังหวัด​กาฬสินธุ์​ และอุตสาหกรรม​จังหวัด​กาฬสินธุ์​ พบว่าหลังยื่นหนังสือเจ้าหน้าที่ไม่ได้นำสำเนาหนังสือ​คัดค้านให้ชาวบ้าน​ เป็นเหตุให้​ต้อง​เดินทางมารับหนังสืออีกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนกลับมาอีกรอบ 

"เข้าใจว่าหน้าที่พื้นฐานที่สุดของเจ้าหน้าที่รัฐกรณีที่ชาวบ้านมาร้องทุกข์​ ร้องเรียน​ ต้องสำเนาหนังสือที่มีเลขรับหนังสือ​ เพื่อเป็นหลักฐานการร้องเรียนให้ชาวบ้านทันที ถ้าเเค่ถ่ายเอกสารสำเนาเรื่องร้องเรียนให้ชาวบ้านไม่ได้​ต้องลำบากให้ชาวบ้านเดินทางมาอีกรอบ ไอ้ที่บอกว่ากลัวชาวบ้านลำบากไม่อยากให้เดินทางมาถึงจังหวัดนี่จะเชื่อได้เเค่ไหนกัน​ แล้วอย่ามาอ้างว่าเป็นความผิดชาวบ้านที่ไม่ทวง​ นี่คือหน้าที่ต้องให้ได้ทวงถามตลอด มันน่ารำคาญ​จนคิดว่าไม่อยากรับเรื่องร้องเรียน​ ถ้าอย่างนั้นก็ยุบทิ้งเปลืองงบ อย่าให้ถึงขั้นต้องมีการเปิดการอบรมกัน​ กะเเค่การให้หลักฐานยืนยันกับชาวบ้านที่มาร้องทุกข์​ หวังว่าจะไม่ต้องมาพูดเรื่องที่โคตรจะพื้นฐาน​เเบบนี้​อีก​ กับบรรดาเจ้าหน้าที่​รัฐ​ที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน" ชาวบ้านที่มายื่นหนังสือ ระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"