กกต.ยุบพรรคไพบูลย์รอศาลชี้ขาด


เพิ่มเพื่อน    

  กกต.ประชุมมีมติให้พรรคประชาชนปฏิรูปของ “ไพบูลย์” สิ้นสภาพพรรคการเมืองแล้ว  “วิษณุ” รับมึนกรณี “ไพบูลย์โมเดล” โยนเผือกร้อน “กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ” ชี้ขาด อดีต กรธ.ลั่นทำไม่ได้ “เพื่อไทย” ยกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอัด อนาคตใหม่แจ้นโต้ข่าวเดินตามรอยพรรค ปชช. “ช่อ” เชื่อมั่นไม่มีแน่ โวยแค่คดีอิลลูมินาติไม่ถึงขั้นถูกสอย หากเลวร้ายที่สุดก็หาสังกัดใหม่ให้สมาชิกได้ แนะ พท.ควรสนใจเรื่องใหญ่กว่าเรื่องนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงหลังการประชุม กกต.ระบุว่า ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรค ปชช.ขอเลิกพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรค  ปชช. ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่า มีกรณีที่เป็นเหตุให้พรรค ปชช.สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามมาตรา 91 (7) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 จึงเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณา โดย กกต.ได้พิจารณากรณีดังกล่าวแล้ว เห็นว่าพรรค ปชช.มีเหตุสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงเห็นควรประกาศการสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ยื่นยุบพรรคตัวเองเพื่อเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยยอมรับว่ายังงงกับเรื่องนี้อยู่ จึงต้องให้ กกต.เป็นผู้พิจารณา และไม่รู้ว่าหากยุบพรรคจริงคะแนนในส่วนของพรรคประชาชนปฏิรูปนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งการยุบพรรคตัวเองไม่ใช่เรื่องลำบากแต่จะกระทบต่อ ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติถึงเรื่องนี้ 3 กรณีเท่านั้น 1.ส.ส.ลาออก ทำให้ขาดการเป็นสมาชิกภาพของพรรค 2.พรรคขับออกจากการเป็นสมาชิก จึงต้องไปหาพรรคใหม่ภายในเวลาที่กำหนด และ 3.มีคำสั่งยุบพรรค จึงต้องไปหาพรรคใหม่ภายใน 60 วัน แต่กรณีนายไพบูลย์นั้นไม่เกี่ยวกับ 3 ข้อที่ยกมา จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร
    “หลักการเมื่อพรรคถูกยุบต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าทุกคนต้องมีพรรคสังกัด ขณะเดียวกัน ส.ส.ที่ไม่ได้กระทำความผิดต้องดำเนินการอย่างไร เพราะบางครั้ง ส.ส.กระทำความผิดแล้วถูกพรรคไล่ออกก็ยังไม่ขาดจากการเป็น ส.ส.เลย แต่กรณีนี้นายไพบูลย์ยื่นยุบพรรคเอง ก็ต้องคุ้มครองคนที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วย แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะพรรคประชาชนปฏิรูป แต่หมายถึงทุกพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องพิจารณา และเรื่องดังกล่าวที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาอยู่ดี” นายวิษณุกล่าว
    เมื่อถามว่าไม่ว่า กกต.หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร จะถือเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบทันทีว่า "แน่นอน ส่วนจะวุ่นวายหรือไม่ ไม่ทราบ" ส่วนกรณีพรรคเล็กซึ่งมีไม่ถึง 7  หมื่นคะแนนจะยื่นยุบพรรคตัวเองเพื่อเข้าร่วมกับพรรค พปชร.เหมือนนายไพบูลย์หรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 99 ระบุว่าห้ามมีการควบรวมพรรค ซึ่งหมายถึงการยุบพรรคหนึ่งไปรวมกับอีกพรรคหนึ่ง แต่กรณีนายไพบูลย์ระบุว่าไม่ได้ควบรวม แต่ยุบทิ้งให้หายไปเฉยๆ
    ถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) วิเคราะห์ว่า หากนายไพบูลย์ยุบพรรคได้ คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกเฉลี่ยนับใหม่ให้พรรคอื่นๆ ซึ่งต่อไปอาจมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คนหายไปทันที นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตอบไม่ถูก ส่วนเมื่อพรรคถูกยุบแล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะยังมีสถานะเป็น ส.ส.หรือไม่นั้นก็ไม่ทราบ เพราะถือเป็นโจทย์ยาก แต่ไม่ใช่เรื่องของนักกฎหมายที่ต้องคิดหาทางออก เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบ คนที่จะไขโจทย์นี้คือ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนจะใช้เวลานานหรือไม่นั้นไม่ทราบ
    ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ก็ต่อเมื่อถูกขับออก เนื่องจากมีจุดยืนไม่เหมือนกับพรรค โดย ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ลงมติโดยใช้เสียง 2 ใน 3 ขับออกจากพรรค จากนั้นต้องไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วัน ถ้าหาพรรคสังกัดใหม่ไม่ได้ก็ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แค่นี้ 
”นายไพบูลย์อยู่ๆ จะมายุบตัวเองแล้วเป็น ส.ส.ต่อนั้นไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค แต่อยู่ดีๆ มีบ้านอยู่แล้วมาเผาบ้านตัวเอง แล้วคุณจะกลายเป็นอะไร ซึ่งมันไม่ใช่" นายชาติชายกล่าวและว่า หากนายไพบูลย์จะยุบพรรคต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม กก.บห.เพื่อขอมติยุบพรรค แต่อยู่ๆ  จะมาทำตามอำเภอใจไม่ได้ หาก กก.บห.มีมติยุบพรรคจริง นายไพบูลย์ต้องไปหาพรรคการเมืองอื่นสังกัดตามกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ
หวั่นผียุคระบอบทักษิณ
    ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวประเด็นนี้ว่า  รู้สึกแปลกใจมากเพราะเป็นพรรคการเมืองเพิ่งจัดตั้งใหม่ ทำงานการเมืองในสภาได้เพียงไม่กี่เดือนก็ประกาศยุติบทบาทไป ซึ่งความเป็นจริงคงอยากจะไปสังกัดพรรค พปชร. ซึ่งนายไพบูลย์น่าจะไปสังกัดตั้งแต่ต้น ไม่ควรมาตั้งพรรคเสียด้วยซ้ำไป โดยการเลิกพรรคแล้วให้ ส.ส.ของพรรคไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น ในทางพฤตินัยก็คือการยุบพรรค ซึ่งเป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 99  เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องการให้มีการควบรวมพรรคการเมือง
    นายเทพไทกล่าวว่า ในอดีตเคยมีการใช้วิธีควบรวมหรือเทกโอเวอร์พรรคการเมืองเหมือนกับการทำธุรกิจของพรรคไทยรักไทย พรรคความหวังใหม่ และพรรคเสรีธรรม เพื่อให้เป็นพรรคที่มีเสียงเกินครึ่งของสภา จัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเบ็ดเสร็จและหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของฝ่ายค้าน จนเกิดปรากฏการณ์เสียงข้างมากลากไปหรือเผด็จการรัฐสภา ด้วยสาเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการควบรวมพรรคการเมืองตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 104 และยังมีในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 99 ในฉบับปัจจุบันด้วย
    “การประกาศของนายไพบูลย์ไปสังกัดพรรค พปชร.ครั้งนี้ ถ้าสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายจะก่อให้เกิดลัทธิเอาอย่าง อาจทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคใช้วีธีการดังกล่าว ซึ่งเป็นการถอยหลังเข้าคลองเป็นวงจรอุบาทว์ ไม่ต่างอะไรกับการเมืองยุคระบอบทักษิณในอดีตที่ผ่านมา จึงอยากจะขอความชัดเจนในเรื่องนี้จาก กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รีบวินิจฉัยหรือตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง” นายเทพไทระบุ 
    ขณะเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค พท. ในฐานะคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคกล่าวว่า ประเด็นการขอเลิกความเป็นพรรคการเมืองของบางพรรคเพื่อให้มีผลตามกฎหมาย เมื่อไปดูกฎหมายมีการเขียนในลักษณะดังกล่าวจริง โดยระบุไว้หลายวิธี เช่น สมาชิกพรรคไม่ครบ ไม่มีการจัดประชุมใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องให้นายทะเบียนร้องขอ ส่วนกรณีที่พรรคนั้นมีมติขอให้เลิกเอง แม้กฎหมายระบุว่าถ้าพรรคใดเลิกที่เป็นลักษณะนี้ถือว่าพรรคถูกยุบตามกฎหมายด้วย ส่วนของสมาชิกจะได้รับความคุ้มครองคือให้สมาชิกไปหาพรรคอยู่ใหม่ได้ 
“แม้กฎหมายเขียนไว้ แต่จะเป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายอย่างนั้นหรือ ในการเลือกตั้งประชาชนที่ชื่นชอบพรรคนั้นได้ไปเลือกพรรคและ ส.ส.ให้มาทำหน้าที่ แต่ต่อมาพรรคมาขอเลิก ทำให้พรรคถูกยุบแล้วไปหาพรรคใหม่สังกัด เจตนารมณ์ต้องการเช่นนั้นหรือ หากทำได้แสดงว่าสิ่งที่ประชาชนเลือก ส.ส.และพรรคนั้นมาไร้ความหมาย ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ รวมทั้งกฎหมายยังห้ามไม่ให้ควบรวมพรรคการเมืองในขณะที่อยู่ในสมัยประชุมที่มีสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ต้องการให้ยุบพรรคเล็ก เมื่อเป็นเช่นนี้จะเข้าข่ายการควบรวมพรรคการเมืองทั้งที่กฎหมายห้ามเอาไว้หรือไม่” นายชูศักดิ์ตั้งข้อสังเกต
    นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า พรรคเห็นว่าแม้บทบัญญัติกฎหมายระบุในทำนองที่เหมือนทำได้ แต่สิ่งที่บางพรรคกำลังทำไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมืองและความต้องการของประชาชน ซึ่งความสิ้นสุดหรือไม่สิ้นสุดความเป็นพรรคคงอยู่ที่ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ต้องชี้ขาดในประเด็นนี้ การเลิกพรรคการเมืองที่พรรคนั้นขอเลิกตนเอง ถ้าทำได้เท่ากับไปทำลายความต้องการของประชาชนที่ได้เลือกมา เราวิตกกังวลที่อาจทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยขอเลิกตัวเองเพื่อไปหาสังกัดใหม่ ที่เราให้ความสำคัญมากคือ เราแคร์ความรู้สึกพี่น้องประชาชนที่เลือกพรรคเหล่านั้นมา
พท.หมดมุกเล่นไพบูลย์
    ถามว่า กกต.ยอมให้ยุบพรรค พรรคจะยื่นเอาผิดหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ถ้าเลิกพรรคแบบนี้ กฎหมายถือว่าให้เลิกพรรคและให้ความคุ้มครอง ส.ส. ทำให้ ส.ส.ไปหาสังกัดพรรคใหม่ได้ ที่ถามว่าเราร้องอะไรหรือไม่ คงต้องไปคิดอีกทีว่าเรามีส่วนได้เสียอะไรหรือไม่ อย่างไรก็ดีพรรคเล็กๆ ต้องคิดให้มาก  เพราะคะแนนที่แต่ละพรรคได้มาระดับหมื่นต่อพรรค แสดงว่าประชาชนตัดสินใจดีแล้วเลยลงคะแนนให้
    นายสามารถ แก้วมีชัย รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า ต้องโทษคนออกแบบกฎหมาย แทนที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตพรรคการเมือง กลับมีกับดักหลุมพรางทำให้พรรคอยู่ไม่ได้ เลยทำให้พรรคเล็กหาทางให้พรรคตัวเองรอด เป็นการเขียนกฎหมายไม่รอบคอบ สุกเอาเผากิน จึงจำเป็นต้องสังคายนารัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อวางกฎเกณฑ์ให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นหากตีความไปตีความมาอาจทำให้เกิดความสับสน ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตย
    ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท.กล่าวว่า นอกจากข้อกฎหมายที่ระบุว่าทำได้หรือไม่ได้แล้ว เรื่องสำนึกประชาธิปไตยใหญ่กว่า ควรเลิกหรือไม่เลิกควรคิดถึงเรื่องนี้มากกว่า เมื่อลงเลือกตั้งได้แสดงตัวตนเพื่อขอให้ประชาชนเลือก พอเลือกมากลับเอาคะแนนไปให้พรรคอื่น มันอาจเป็นการเลือกตั้งที่ฉ้อฉล เมื่อไปตรวจสอบย้อนหลัง หลายพรรคตอนหาเสียงแสดงจุดยืนจะไม่ร่วมงานกับพรรคสืบทอดอำนาจ แต่พอเลือกมาแล้วกลับไปอยู่กับพรรคดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวัง
    วันเดียวกัน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค.แถลงถึงกรณีกระแสข่าวการยุบพรรค อนค. ว่า แม้เราจะชินแล้วกับกระแสข่าวนี้เพราะมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุที่พูดถึงอีกครั้งเพราะมีการตั้งข้อสังเกตและเชื่อมโยงกับกรณีของนายไพบูลย์ ว่าหากยุบพรรคโดยยุบเองหรือไม่ได้ยุบเองนั้นต่างกันอย่างไร ซึ่งก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่าทุกคดีที่มีต่อพรรค ไม่มีคดีไหนที่เรารู้สึกไม่มั่นใจ หรือมีมูลฐานทางกฎหมายเพียงพอที่จะเอาผิดแกนนำหรือพรรคได้เลย แต่นั่นเป็นเพียงมูลเหตุทางกฎหมาย  แต่ถ้ามีการใช้กระบวนการนอกเหนือจากพื้นฐานทางกฎหมายก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ซึ่งคดีเดียวที่ตอนนี้เข้าข่ายมากที่สุดคือ คดีอิลลูมินาติ ที่ระบุว่าพรรคเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เรายืนยันว่าตั้งแต่ตั้งพรรคจนได้รับเสียงจากประชาชนกว่า 6.3 ล้านเสียงนั้น เราไม่มีการกระทำข้อใดที่จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองแน่นอน
    “หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายจริง ก็ไม่มีอำนาจสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ได้  สามารถสั่งให้เพียงหยุดพฤติกรรมที่เข้าข่ายเท่านั้น เพราะฉะนั้นการยุบพรรคหรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการยุบพรรค เป็นเพียงการลือโดยไม่ได้ดูพื้นฐานทางกฎหมาย” น.ส.พรรณิการ์ระบุ
    น.ส.พรรณิการ์กล่าวต่อว่า หากมีการยุบพรรคจริงแล้วมีการเปรียบเทียบกับกรณีนายไพบูลย์นั้น  กรณีนายไพบูลย์เป็นการยุบพรรคตัวเอง แต่ของพรรคเป็นการยุบโดยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกฎหมายระบุไว้อยู่แล้วว่ามีเวลา 60 วัน สำหรับ ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อหาพรรคใหม่สังกัด หากเกินเวลาดังกล่าวจึงถือสิ้นสภาพความเป็น ส.ส. จึงขอย้ำตรงนี้ว่า พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนไม่ต้องมีใครมาตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ นี่คือความรับผิดชอบที่พรรคต้องจัดการให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของเรามีสังกัด  เป็นหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรคที่จะหาให้ ส.ส.โดยไม่สูญเสียสถานะแน่นอน หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด 
ช่อสอน พท.มีเรื่องใหญ่กว่า
“ที่พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ เรื่องนี้เราถือว่าแทนที่จะเป็นห่วงว่าเพื่อนบ้านหรือตัวเองจะถูกปล้น ตอนนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านมีงานเต็มมือในการตรวจสอบพฤติกรรมต่างๆ  ของคณะรัฐมนตรีและงานใหญ่อย่างการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะสนใจเรื่องดังกล่าว เราควรช่วยกันโดยการช่วยกันป้องปรามโจรในการปล้นผลประโยชน์ของประชาชน นี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมมือกันมากกว่า ซึ่งประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้มีการหารือพูดคุยร่วมกันกับพรรคเพื่อไทย แต่เรายืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกันแน่นอน” น.ส.พรรณิการ์กล่าว
    เมื่อถามถึงความคืบหน้าคดีของพรรคที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ น.ส.พรรณิการ์ระบุว่า คดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าศาลน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนในการพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งเราได้ส่งคำชี้แจงต่างๆ ครบหมดแล้ว และเรามั่นใจว่าเอกสารที่ส่งไปนั้นครบถ้วน
    ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.โพสต์เฟซบุ๊กว่า ช่วงนี้มีกระแสว่าพรรคจะถูกยุบ ไปประชุมสภา ส.ส.จากพรรคอื่นก็พูดกับ ส.ส.เราว่าถูกยุบแน่ พรรคเพื่อไทยก็วิเคราะห์ว่าหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จะถูกวิธีพิสดารตัด ส.ส.บัญชีรายชื่อออก ซึ่งตอนนี้พรรคมีคดีอิลลูมินาติคดีเดียวที่ถูกร้องไปศาลรัฐธรรมนูญ และคดีนี้ก็ไม่มีบทให้ยุบพรรคด้วย แต่เพราะอะไรจึงมีกระแสข่าวแบบนี้ 
    “ผมเชื่อมั่นว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่ถูกยุบ ในที่ประชุม ส.ส.ของเรา ผมพูดเสมอว่าในทางกฎหมายก็สู้เต็มที่ แต่ปากกาไม่ได้อยู่ที่เรา เราไม่ใช่คนตัดสิน วิธีป้องกันการยุบพรรคที่ดีที่สุดก็คือ การทำงานอย่างสร้างสรรค์ทุกวันเพื่อให้สังคมเห็นว่าต้องมีพรรคแบบนี้ แม้คนที่ไม่ชอบเราก็ยังอยากให้มีพรรคนี้ต่อไป” นายปิยบุตรโพสต์
    ขณะเดียวกัน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท.กล่าวถึงกรณีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  เลขาธิการพรรค พปชร.ระบุยังไม่มีแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ถือเป็นสิทธิ์ของพรรค พปชร.ที่จะพูด แต่ต้องให้ความเคารพประชาชน ความหมายของคำว่านโยบายเร่งด่วนพรรค พปชร.จะตีความเป็นอื่นได้อย่างไร การที่พรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมามีส่วนร่วม เพราะแม้แต่ในนโยบายของรัฐบาลที่เสนอต่อรัฐสภาในข้อ 12 ก็บอกว่าจะศึกษาแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ โอกาสนี้ควรมาร่วมมือกันดำเนินการ หรือที่ไม่มาร่วมและยังไม่เห็นความจำเป็นเพราะตัวเองได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 
“พรรคกำลังให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมและตรวจสอบ หากพบว่านโยบายใดที่แถลงแล้วไม่ดำเนินการจะยื่นเรื่องให้ กกต.พิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เช่น นโยบายเงินเดือนปริญญาตรี การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประชาชนจะได้เห็นจุดยืนว่าพรรคใดพูดแล้วทำ พรรคใดพันธสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียงเป็นเพียงสัญญาปากเปล่า” นายอนุสรณ์กล่าว.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"