ชะตากรรม "บิ๊กตู่" ในดุลยพินิจศาล รธน.


เพิ่มเพื่อน    

     ในช่วงเตรียมตัว-เตรียมลุ้น กับการปลดล็อกปมปัญหาข้อกฎหมายเรื่อง ถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่จะต้องเตรียมตัวไปชี้แจงญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อที่ประชุมสภาในช่วงต้นเดือนกันยายน รวมถึงการเตรียมลุ้น เตรียมสู้คดี ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติให้ส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการที่นายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เข้าข่ายขัด รธน.และละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษา ม.รามคำแหง ที่เป็นผู้ยื่นคำร้องหรือไม่ ที่ก็คาดว่าเรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเดือนกันยายนเช่นกัน เพื่อหารือและลงมติว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่

     ระหว่างช่วงกำลังเตรียมตัว-เตรียมลุ้นข้างต้น ก็มีสถานการณ์แทรกซ้อนให้พลเอกประยุทธ์ต้องลุ้นอีกหนึ่งเรื่อง อันเป็นกรณีที่หากผลออกมาไม่เป็นไปในทางบวกต่อพลเอกประยุทธ์ จะทำให้ถึงขั้นต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกันเลยทีเดียว!

     เพราะในวันที่ 18 กันยายน ศาล รธน.ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคำร้องที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อกันส่งถึงประธานสภา เพื่อส่งมายังศาล รธน.ให้วินิจฉัยว่า ความเป็น รมต.ของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ จากเหตุในช่วงการเลือกตั้ง ที่พลเอกประยุทธ์ลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในสังกัดพรรคพลังประชารัฐที่ฝ่ายค้านคลางแคลงใจว่า ในช่วงเลือกตั้งดังกล่าวที่พลเอกประยุทธ์ยังเป็นหัวหน้า คสช.จะถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ที่เป็นคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่

     ซึ่งหลังศาล รธน.ได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยมาร่วมเดือน สุดท้ายที่ประชุมตุลาการศาล รธน. ได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 18 ก.ย.

     ทั้งนี้ ผลแห่งการวินิจฉัยคำร้องคดีนี้ หลักๆ ก็จะออกมาใน 2 แนวทาง ก็คือ

1.ยกคำร้องของฝ่ายค้าน โดยบอกว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากออกมาแบบนี้ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการเมืองกับรัฐบาล เพราะหัวหน้ารัฐบาลคือ พลเอกประยุทธ์ยังทำหน้าที่เป็นนายกฯ ได้ต่อไป

2.ศาล รธน.ชี้ว่า การลงสมัครชิงเก้าอี้นายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งทั้งนายกฯ และหัวหน้า คสช. แต่กรณีของการเป็นนายกฯ ไม่มีปัญหาสามารถทำได้ เพราะมีสภาพเหมือนเป็นนายกฯ รักษาการ แต่ที่ถูกยื่นคำร้อง คือกรณีหัวหน้า คสช. หากศาล รธน.มีมติด้วยเสียงข้างมากว่าการเป็นหัวหน้า คสช.คือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แล้วมาลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯ ถือว่าเป็นการขัด รธน. เท่ากับว่าการลงสมัครดังกล่าวย่อมกระทำไม่ได้ตั้งแต่ต้น แบบนี้ก็เท่ากับพลเอกประยุทธ์ก็ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ

     โดยทั้งสองแนวทางที่ศาล รธน.จะวินิจฉัย เป็นเรื่องที่ต้องลุ้นและต้องติดตามต่อไป และจะถือเป็นคำวินิจฉัยที่จะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป

     ปมปัญหาเรื่องคุณสมบัติของพลเอกประยุทธ์ดังกล่าว ส.ส. ฝ่ายค้านโดยเฉพาะ ส.ส.เพื่อไทยและอนาคตใหม่ ได้ใช้เป็นประเด็นในการพูดถึงตัวพลเอกประยุทธ์มาตลอดตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะมองว่าพลเอกประยุทธ์น่าจะขัดคุณสมบัติ โดยยกเหตุผลข้อกฎหมายมาอธิบายว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย อีกทั้งยังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มรับเป็นรายเดือนที่ให้กับหัวหน้า คสช. แบ่งเป็น เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 50,000 บาท รวม 125,590 บาทต่อเดือน ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงย้ำว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. ย่อมถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการอ้างของฝ่ายค้าน ที่หยิบยก คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 3578/2560 ซึ่งเป็นคดีที่อัยการสูงสุดฟ้องสมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวการเมือง ที่ถูกคำสั่งหัวหน้า คสช.เรียกให้ไปรายงานตัวหลัง  คสช.ทำรัฐประหาร แต่นายสมบัติไม่ยอมไปรายงานตัว จึงมีการเอาผิดนายสมบัติ ข้อหาขัดคำสั่งให้รายงานตัวตามประกาศ คสช.

ทางฝ่ายค้านได้มีการนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ไปอ้างอิงและนำไปอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาตอนโหวตเลือกนายกฯ และพ่วงไปถึงตอนแถลงนโยบายรัฐบาล โดยอภิปรายไปในทางว่า คดีดังกล่าวศาลได้วินิจฉัยว่าหัวหน้า  คสช.เป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจออกคำสั่ง คสช.ให้จำเลยมารายงานตัว เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน เป็นความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง

  การอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว คือความมั่นใจของฝ่ายค้าน ที่เชื่อว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่การทำให้พลเอกประยุทธ์สะดุดขาตัวเองจนต้องพ้นจากการเป็นนายกฯ เห็นได้จากคำอภิปรายกลางห้องประชุมรัฐสภาตอนโหวตเลือกนายกฯ เมื่อ 5 มิ.ย.ของ ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนโดยเฉพาะแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่เคลื่อนไหวให้ฝ่ายค้านส่งเรื่องไปยังศาล รธน. อย่างเช่น ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ที่ระบุตอนหนึ่งในการอภิปรายวันโหวตเลือกนายกฯ ว่า

   “คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 กรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ใช้อำนาจออกคำสั่งให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่งในฐานะจำเลยที่มีคดีความมารายงานตัวต่อหัวหน้า คสช. ศาลเคยชี้ว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และได้รับเงินเดือนตามกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างดังกล่าวของฝ่ายค้าน สุดท้ายก็ถูก หักล้าง จากวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือขวาด้านกฎหมายของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลปล่อยให้ฝ่ายค้านกล่าวอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาดิสเครดิตพลเอกประยุทธ์มานับเดือน สุดท้ายหลังตั้งหลักได้ วิษณุ–รองนายกฯ ก็กางคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว แถลงชี้แจงในช่วงตีหนึ่งของวันที่ 26 ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการประชุมรัฐสภาวันแรก ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา หลังมี ส.ส.ฝ่ายค้านอย่าง วัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม.เพื่อไทย ระบุในที่ประชุมรัฐสภาว่า ปัญหาดังกล่าวกำลังเป็นข้อสงสัยว่าพลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ เถื่อนหรือไม่

คำชี้แจงของ วิษณุ –รองนายกฯ ต่อที่ประชุมวันดังกล่าว เขาได้ย้ำว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 ที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้างมาตลอด ไม่มีที่ใดในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ตอนใดเลย ที่บอกว่า คสช.หรือหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่บอกว่าเป็นเจ้าพนักงาน

“คดีนี้ได้มีการฟ้องว่าจำเลยนั้นขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ซึ่งบัญญัติว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ขีดเส้นใต้คำว่าเจ้าพนักงาน มีความผิดลหุโทษ คราวนี้ก็มาเกิดความเข้าใจว่าเจ้าพนักงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐชะรอยจะเป็นอันเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ เจ้าพนักงานก็เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐก็เจ้าหน้าที่ของรัฐ คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 98 (15) นั้น พูดถึงเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน

ไม่มีที่ใด บรรทัดใด ในจำนวนทั้งหมดของคำพิพากษาศาลฎีกา 34 หน้านี้ และไล่มาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนถึงศาลฎีกาเลยแม้แต่นิดเดียวที่บอกว่า คสช.หรือหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คำชี้แจงของนายวิษณุระบุไว้ตอนหนึ่ง

เส้นทางการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ต่อจากนี้ จะได้ไปต่อหรือต้องโบกมือลากลางคัน จึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาล รธน. ในสองคำร้องสำคัญคือ เรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐและปมปัญหาการถวายสัตย์ฯ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"