กันยายนโหมดลุ้นระทึก เดิมพันสถานะบิ๊กตู่-ครม.


เพิ่มเพื่อน    

 

            "ขอถือโอกาสนี้ ให้พรให้ท่านมีกำลังใจ ความมั่นใจ และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขและความมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน งานใดๆ ก็ต้องมีอุปสรรค งานใดๆ ก็ต้องมีปัญหา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องแก้ปัญหา และเข้าหางาน เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามสถานกาารณ์ โดยแก้ไขให้ตรงเป้าตรงจุดและมีความเข้มแข็งอดทน ก็ขอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลได้มีกำลังใจ มีพลังที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี ด้วยความถูกต้องต่อไป" พระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์ รัชกาลที่ 10 อันเป็นมงคลสูงยิ่ง ทรงพระราชทานมาถึงคณะรัฐมนตรี ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำมาแสดงต่อสื่อมวลชน

                ปรากฏการณ์ต้นสัปดาห์ นักคาดการณ์ทางการเมืองโยงมาถึงปมประเด็นร้อน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152, 161 ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น ส่อเค้าจะเป็นหมัน ฝ่ายค้านจะ (ต้อง) ถอนญัตติออกไป

                แต่เกมพลิก พรรคเพื่อไทย ยังมุ่งมั่น เดินหน้า ขอเปิดอภิปรายนายกฯต่อ ด้วยเหตุที่อ้างว่า เรื่องที่ยื่นขอเปิดอภิปรายนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องการถวายสัตย์ฯ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องการไม่แจงที่มางบประมาณ ระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่พรรคฝ่ายค้านเห็นว่าไม่เป็นไปตามข้อบังคับ เข้าเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญ ให้สามาถเปิด อภิปรายโดยไม่ต้องลงมติได้ จึงได้ยื่นควบคู่ไปทั้ง 2 ประเด็น

                ‘เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินส่งประเด็นปมถวายสัตย์ฯ ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรคฝ่ายค้านที่เข้าชื่อยื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติ ปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นั้น เรายังเดินหน้าต่อไป เพราะเรื่องทางสภาฯ ก็จะว่ากันไป ส่วนเรื่องทางกระบวนการยุติธรรมก็ทำไป จะได้เดินกันทั้ง 2 ทางที่จะทำงานคู่กันไป ไม่ได้เป็นอะไรที่ทำให้เกิดความเสียหาย พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้มุ่งที่จะอภิปรายเพียงอย่างเดียว แต่จะเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ดี ในการยื่นเปิดอภิปรายไม่ได้มีแต่เรื่องถวายสัตย์ฯ ของนายกฯ เพียงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยไม่ได้ชี้แจงที่มาของรายได้ ที่จะอภิปรายด้วย’ สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ยังคงยืนกรานพรรคร่วมฝ่ายค้าน เดินหน้าขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป  

                ล่าสุด นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ออกมาย้ำว่า ได้ทำหนังสือไปยังรัฐบาลเพื่อให้ทราบถึงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 แล้ว คาดว่าต้องมีการเปิดประชุมก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภาในวันที่ 18 ก.ย. เพื่อจะได้ไม่ต้องเปิดประชุมพิจารณาเรื่องนี้ในสมัยวิสามัญ

                ขณะเดียวกัน ประธานสภาฯ ยังฝากย้ำไปถึงเรื่องกระทู้ถามทั้งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ร้องขอให้ผู้ถูกถามมาตอบด้วยตนเอง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ที่ควรต้องมาตอบ มาทำหน้าที่ของตัวเอง

                พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่โหมดลุ้นระทึกทางการเมืองอีกครั้ง หลังได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลอีกรอบ ก็ถูกประณามตั้งแต่ยังไม่ตั้งรัฐบาล ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่กระบวนการจัดการเลือกตั้ง กฎกติกาที่เอื้อประโยชน์บางฝ่าย พรรคร่วมรัฐบาลที่มีมากถึง 19 พรรค การจัดสรรตำแหน่ง โควตารัฐมนตรีก็ถูกมองเป็นการต่างตอบแทน

                ตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ ถูกมองในทางลบ รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ยิ่งในภาวะเสียงปริ่มน้ำ ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม ปัจจัยที่ทำให้เกิดมีทั้งจากเรื่องราวภายในพรรคร่วมขัดแย้งกันเอง และจากปัจจัยภายนอก แม้แต่เริ่มทำงานไปแล้ว หลายนโยบายก็ไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียง และบางนโยบายที่เริ่มทำไปแล้ว ก็ไม่เข้าเป้า แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

                เรื่องถวายสัตย์ฯ ก็ถูกขยายให้เป็นประเด็นการเมือง โดยที่มีเพียงพรรคพลังประชารัฐ ออกมาตอบโต้ แก้ต่างให้เท่านั้น แต่กับสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลอื่นนิ่งเฉย ด้วยภาวะ รัฐบาลต่างคนต่างอยู่ ยังไม่นับรวมกระแสข่าวทางลบ ข่าว fake news ต่างๆ ที่ทำให้คนในรัฐบาลต้องตามแก้ ตกในวังวน หลุมพราง จนแทบไม่มีเวลาผลิตผลงานที่ประชาชนจับต้องได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

                แม้ปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุไปถึงบทโทษ ผลที่ตามมา หากกระทำการไม่ครบถ้วนจะเจออะไร เลยไม่มีการขยายความไปต่อให้ถึงสุดทาง ฝ่ายค้านเลยเดินเกม ทำได้เพียงในสิ่งที่กฎหมายเปิดช่อง ด้านฟ้องต่อสังคม สมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ออกมาให้ข่าวรายวัน หาแนวร่วมจากสังคม ด้านกระบวนการทางสภาฯ ก็ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญขอเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติ ด้านการแสวงหาความจริง ก็มีคนนำเรื่องไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ช่วยวินิจฉัย ปมความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ ในวันที่ 18 กันยายน 

                ตามที่มีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาเป็นได้ทั้งบวกและลบ แบ่งเป็น 2 แนวทาง (1) วินิจฉัยว่าไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ประเด็นนี้ก็จบ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความผิดอะไร เดินหน้าทำงานต่อ ไม่มีผลกระทบมาถึงคณะรัฐมนตรีด้วย

                แต่ถ้าออกมาในทางลบ (2) วินิจฉัยว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ที่ทำให้ผลกระทบส่งมาถึงทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.ประยุทธ์ เช่นกัน อันเนื่องด้วย  2.1 พล.อ.ประยุทธ์จะหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที เพราะมีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) 2.2 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย 2.3 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ จะอยู่รักษาการจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการจะประชุมกัน เพื่อเลือกบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ คาดว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตรที่น่าสนใจ คือหลังจากนั้น 2.4 ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมรัฐสภาโดยด่วน เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

                โดยบุคคลที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จาก 4 พรรคการเมือง ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอนาคตใหม่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย

                2.5 หากรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับชื่อบุคคลจากบัญชีของพรรคการเมือง ต้องการบุคคลนอกบัญชีของพรรคการเมืองมาเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียง 500 เสียง เพื่อของดเว้นการใช้ข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ หากออกมาในรูปแบบนี้ ก็จะมีบุคคลอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเป็นบุคคลอื่น หรือ พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาอีกครั้ง ก็อยู่ในเงื่อนไขที่เป็นไปได้ทั้งนั้นเช่นกัน

                ย่างเข้าสู่เดือนกันยายน ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. ต่างอยู่ในโหมดลุ้นระทึก และต้องลุ้นตัวโก่งเช่นกัน มีทั้งคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องตามติดอย่างใกล้ชิด และศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจปมถวายสัตย์ฯ แม้วันนี้จะยังไม่รู้ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปที่ สาธารณชนรับชมผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ได้ หรือจะเป็นวาระประชุมลับ ที่ให้ทางสภาฯ ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ว่ากันเอง

                แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ต่างก็ต้องจับตาดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่ในวันนี้เป็นนักการเมืองเต็มตัว จะตอบคำถาม ชี้แจงในสภาฯ อย่างไร แม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ถ้าพลิกกลับมามองอีกแง่มุม หากบิ๊กตู่เตรียมตัวมาดี แจงได้ครบถ้วนทั้งเนื้อหา สาระ พร้อมกลับมาในมาดใหม่ ไม่เป็นจอมฉุน เจ้าอารมณ์ 

                ก็จะพลิกมุมกลับ พลิกจากสถานะจากจำเลยกลายเป็นโจทก์ พลิกจากผู้ถูกอภิปรายกลายเป็นคนซักฟอกกลับฝ่ายค้าน ลบคำสบประมาทจากฝ่ายค้าน ลดชั้นยศจากอดีตนายทหารผู้น่าเกรงขาม เหลือเพียงแมวตลกในสภาฯ !!.

                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"