รมว.ศธ.สลดใจ.เห็นตัวเลขจาก กสศ.เด็กยากจนครอบครัวมีรายได้แค่1,250บาท/เดือน เร่งทำตัวชี้วัดงบฯถึงตัวเด็กแค่ไหน


เพิ่มเพื่อน    


5ก.ย.62-ที่โรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี - กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดงาน “ตลาดวาดฝัน ส่งต่อรอยยิ้ม สร้างโอกาส สร้างอาชีพ นักเรียนทุนเสมอภาค” โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ว่า กองทุน กสศ.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นตัวเลขเด็กยากจนที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้ ศธ.วางแผนจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือโอกาสทางการศึกษาเด็กยากจนได้ในอนาคต โดยตนมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน ดังนั้นตนจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เป็นนโยบายเร่งด่วน ทั้งนี้หวังว่าทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมปรับปรุงแก้ไขและต่อยอดเรื่องการศึกษาต่างๆ ไปพร้อมกับตน ซึ่งการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษานั้นจะต้องมุ่งเน้นให้เด็กเรียน เพื่อการสร้างอาชีพไม่ใช่เรียนจบแล้วกลับไปนั่งอยู่บ้านหรือไปนั่งเล่นเกม

“ผมเห็นข้อมูลตัวเลขเด็กยากจนจากกองทุน กสศ. พบว่าบางครอบครัวมีรายได้เพียง 1,250 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งผมมองว่ารายได้ในจำนวนเท่านี้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนเด็กไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยผลักดันแก้ไขปัญหาในการให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กยากจนมากยิ่งขึ้นโดยที่ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณจะต้องเชื่อมโยงกับตัวชี้วัด ว่า งบประมาณที่ให้ไปเด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาที่แท้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขอให้ สพฐ.นำโครงการการสร้างอาชีพสร้างรายได้ที่กองทุน กสศ.ดำเนินการอยู่ไปต่อยอดขยายครอบคลุมให้มากขึ้นด้วย”รมว.ศธ.กล่าว

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ตลาดวาดฝันได้มีการนำเสนอตัวอย่างโครงการทักษะอาชีพที่เป็นการต่อยอดจากข้อมูลทั้งด้านวิชาการและด้านต่างๆ ดังนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่รมว.ศธ. ได้เข้าร่วมงาน เพราะ ศธ.มีกลไกที่กว้างขวางกว่า กสศ. สามารถขยายผลได้มากขึ้น เนื่องจากโจทย์ที่ทำค่อนข้างใหญ่ คือการช่วยลดอุปสรรคการศึกษา เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงระบบการศึกษา ไม่ถูกอุปสรรคที่เกิดขึ้นทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษา และครั้งนี้ มีความพิเศษ ทุนการศึกษาที่มอบให้เป็นการได้รับบริจาค จากประชาชน ในโครงการจดหมาย..ลาครู ซึ่งได้จัดสรรให้ทั้งนักเรียน และโรงเรียน เพื่อให้ทางโรงเรียนได้จัดโปรแกรมส่งเสริมทักษะอาชีพ เพราะการจะทำแบบสงเคราะห์อย่างเดียวไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กมีทักษะอาชีพ เมื่อจบการศึกษาจะได้มีอาชีพ เป็นหนทางที่จะฝ่าวงล้อมความยากจนข้ามรุ่นไปได้ ดังนั้น การจัดกิจกรรมนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงโปรแกรมความยั่งยืน ตัวอย่างโปรแกรมส่งเสริมทักษะอาชีพ ที่ต้องอาศัยกลไกการศึกษา ภาคประชาชนสังคม ทำให้เห็นผลได้กว้างขวางมากขึ้น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"