พอช.เดินหน้าพัฒนาคนทำงาน-ผู้นำชุมชนตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งเป้า 15,000 คนทั่วประเทศ มุ่งสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง


เพิ่มเพื่อน    

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ/ พอช.เดินหน้าพัฒนาคนทำงานในขบวนองค์กรชุมชนและผู้นำท้องถิ่นตามแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ตั้งเป้า 15,000 คนทั่วประเทศ  หนุนเสริมด้านความรู้  วิชาการ ธรรมาภิบาล  เพื่อให้คนทำงานและผู้นำขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง  สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและนโยบายรัฐบาล  ด้านนักวิชาการแนะชุมชนต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่  และต้องมีวิสัยทัศน์  เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

             

ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน  ระยะ 5 ปี (พศ.2560-2564)  มีเป้าหมายพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถคนทำงานในขบวนองค์กรชุมชนและผู้นำท้องถิ่น  รวม 15,000 คน  มีการจัดหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ หนุนเสริมความรู้  ความสามารถ  และธรรมาภิบาล  รวมทั้งการจัดการความรู้เพื่อสื่อสารพื้นที่รูปธรรมการพัฒนา  เพื่อให้คนทำงานและผู้นำขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง  และเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้น 

             

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน 2562  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจัดเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานนวัตกรรมการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ 'พลังการสื่อสารจัดการความรู้  สู่การพัฒนาคนที่ยั่งยืน ที่โรงแรม       S  Bangkok  ถนนนวมินทร์  เขตบึงกุ่ม  กรุงเทพฯ  มีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจาก 5 ภาค  นักวิชาการ    ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันฯ เข้าร่วมงานประมาณ 150 คน  มีกิจกรรมต่างๆ เช่น  เวที เรื่องเล่า  เร้าพลัง ( Ted  Talk)  โดยผู้แทนชุมชนทั้ง 5 ภาค,  เวทีนำเสนอผลงานนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง  สู่พื้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ฯลฯ รวมทั้งการร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) โดยมีนักวิชาการร่วมสังเคราะห์ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น

 

“สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง”  ต้องสร้างความรู้  การสื่อสาร  และพัฒนาผู้นำ

นายจินดา  บุญจันทร์  ประธานคณะทำงานพัฒนาคนในขบวนองค์กรชุมชน  กล่าวว่า  พอช.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน   คณะทำงานฯ จึงพยายามรวบรวมความเห็นจากพี่น้องชุมชนทั้ง 5 ภาค  มาจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคนในขบวนองค์กรชุมชนฯ ระยะ 5 ปี  ส่วนการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำขบวนองค์กรชุมชนที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาคนในระดับภาคและส่วนกลางได้นำเสนอผลการดำเนินงานการพัฒนาคนเชิงพื้นที่  และการพัฒนานวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองร่วมกัน  นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดกระบวนทัศน์ทางความคิดให้ผู้นำฯ มีความรู้  ความเข้าใจ  และเชื่อมั่นต่อแนวทาง “การพัฒนาที่คนเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกมิติ”

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช.

 

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า การนำเสนอผลงานจากพื้นที่ในครั้งนี้  เป็นข้อมูลจากการปฏิบัติการจริง ซึ่งอาจจะใช้ได้กับตำบลหนึ่ง  แต่อาจใช้ไม่ได้กับอีกตำบลหนึ่ง  ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวอาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีข้อมูลใหม่  มีการสื่อสารใหม่ตลอดเวลา  และข้อมูลที่ดีที่สุดคือ ข้อมูลที่เกิดจากการปฏิบัติการจริง  ลงมือทำ  สรุปเป็นบทเรียน   แล้วถ่ายทอดช่องทางการสื่อสารต่างๆ  ขณะเดียวกัน พอช.กำลังจะปรับพื้นที่การทำงานให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ   ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  กรอบการปฏิรูปประเทศ  และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 

             

“ขอเน้นว่า การสื่อสาร  ข้อมูล  การจัดการความรู้  และการพัฒนาผู้นำ หากสามารถเชื่อมโยงกันได้  จะทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของชุมชน  ทั้ง 3 สิ่งนี้ในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องใหม่  ทั้งในและนอกพื้นที่  การสัมมนา 2 วันนี้  นอกจากบทเรียนที่นำเสนอ  สิ่งสำคัญคือการวางแผนอีก 3 ปีข้างหน้าว่า  ทิศทางการพัฒนาผู้นำทั้งประเทศจะไปในทิศทางใด  รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น  5 G  ซึ่งจะเป็นโจทย์ว่า  หากจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งจะต้องสร้างองค์ความรู้  การสื่อสาร  และการพัฒนาผู้นำ  ดังนั้นการที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีพลัง  จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  เลือกรับข่าวสารและสื่อสารข่าวที่สร้างสรรค์” นายสมชาติกล่าวย้ำ

ส่วนการนำเสนอพื้นที่รูปธรรมการพัฒนา นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง  สู่พื้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน  จาก 5 ภูมิภาค  ประกอบด้วย  1. ตำบลท่าทราย  อ.เมือง  จ.นครนายก (ภาคกรุงเทพฯ  ปริมณฑลและตะวันออก) 2.ตำบลลำประดา อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร (ภาคเหนือ) 3.กลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์บ้านหนองหิน  ตำบลโคกก่อ  อ.เมือง จ.มหาสารคาม (ภาคอีสาน) 4.ตำบลโพตลาดแก้ว  อ.ท่าวุ้ง   จ.ลพบุรี  (ภาคกลางและตะวันตก)  และ 5.ตำบลคลองใหญ่  อ.ตะโหมด  จ.พัทลุง (ภาคใต้)  โดยผู้แทนแต่ละตำบลจะนำเสนอประเด็นงานการพัฒนาในแต่ละพื้นที่  จุดแข็ง  จุดอ่อน  ฯลฯ ขณะที่นักวิชาการร่วมแสดงความเห็นในตอนท้าย

 

ชูญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ   ต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่  มีวิสัยทัศน์       

รศ.ดร.สมบัติ  กุสุมาวลี คณบดีคณะทรัพยากรมนุษย์  สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  ให้ความเห็นต่อการนำเสนอพื้นที่รูปธรรมการพัฒนาทั้ง 5 ภาคว่า  จากประสบการณ์การไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น เมือง Oita มีชุมชน Oyama ที่มีความน่าสนใจ ไม่ใช่ชุมชนจัดการตนเอง  แต่เป็นชุมชนพึ่งตนเอง  ปฏิเสธการจัดการของรัฐทุกอย่าง   เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก  ยืนด้วยขาตนเอง มีเศรษฐกิจชุมชนของตนเอง มีธนาคารของตนเอง  จะทำชุมชนให้เป็นดินแดนออร์แกนิกที่ไม่ใช้สารเคมี แต่ปัญหาที่เจอคือ  ขาดผู้นำรุ่นใหม่ที่จะมาทดแทนผู้นำรุ่นเก่า เพราะเด็กรุ่นใหม่ไปอยู่ในเมืองใหญ่หมด 

 

“เราต้องสร้างผู้นำใหม่  รักษาผู้นำรุ่นเก่า  ต้องดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยากอยู่ในพื้นที่   อยากให้ขบวนองค์กรชุมชนคิดถึง วิสัยทัศน์ในอนาคต  เพราะหลังจากฟัง 5 ภูมิภาคแล้ว  ไม่เห็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน  หากไม่มีวิสัยทัศน์ที่ดึงดูด  เด็กรุ่นใหม่จะไม่อยู่ ที่ผ่านมาเราคุยอดีตและปัจจุบัน   อนาคตคือ จินตนาการ  ตอนนี้ต้องมองอนาคตและเห็นร่วมกัน”  อาจารย์จากนิด้าให้ความเห็น

 รศ.ดร.สมบัติ  กุสุมาวลี

 

นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างจากชุมชน Oyama เมือง Oita ว่า  ในอดีตเป็นชุมชนที่ยากจนที่สุด  การเกษตรไม่ได้ผล จนชุมชนมารวมตัวกันวางแผนระยะยาว ปี ค.ศ.1960 – 2000 (พ.ศ.2503-2543) วางแผน 40 ปี  วางเป็นขั้นตอน  คือ  ขั้นตอนที่  1 เปลี่ยนจากปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่  ทำให้ชีวิตคนมีรายได้มั่งคั่งขึ้น   ขั้นตอนที่ 2 สร้างคนรูปแบบใหม่ ชุมชนส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่ไปเรียนต่างประเทศ  แต่ยังมีภูมิปัญญาท้องถิ่น  และขั้นตอนที่ 3 สร้างสวรรค์บนดิน

 

“ส่วนประเทศไทย  แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน    ในอนาคตชุมชนจะเจอกับโลกดิจิทัลเยอะขึ้น  เกษตรกรรมยุคใหม่   เกษตรกรใน Oyama คือ ผู้ประกอบการ  ดังนั้นพวกเราต้องเปลี่ยนทัศนคติ สร้างผู้ประกอบการแบบใหม่  สร้างเศรษฐกิจชุมชนใหม่  และสุดท้ายคือ  คน  ผู้นำ และองค์กรชุมชน  มีวัฒนธรรม  ความรู้ความสามารถ  เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคใหม่หรือไม่  เรื่องนี้ต้องนำกลับไปพิจารณา”  รศ.ดร.สมบัติกล่าวในตอนท้าย

 

เสียงจากนักวิชาการ

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ  เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกไทย  เสนอว่า  ‘นวัตกรรม’  คือ วิธีคิด หลักคิดใหม่ การอธิบายคุณค่า ความหมายใหม่ ๆ หรือการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาพัฒนาชีวิตได้  เดิมการพัฒนาเป็นการพัฒนาจากรัฐจากบนลงล่าง  ทำตามที่รัฐกำหนด  แต่ขณะนี้เปลี่ยนนิยามการพัฒนาใหม่  เป็นการพัฒนา ‘จากล่างขึ้นบน’  ซึ่งตรงกับความต้องการของพี่น้องชุมชน  ดังคำพูดที่ว่า “ปัญหาของเราหากไม่แก้ไขแล้วใครจะแก้ไข ? ”  โดยขบวนองค์กรชุมชนใช้สภาองค์กรชุมชน (จัดตั้งตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) เป็นกลไกในการขับเคลื่อน

 “สภาองค์กรชุมชน คือ ประชาธิปไตยชุมชน   พูดคุยกัน  วิเคราะห์ปัญหา เชื่อมโยงกับภาคีต่าง ๆ และไปเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง  ชาวบ้านกลายเป็นผู้นำการพัฒนา ภาคีเป็นผู้นำ  โดยมี 1. ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง 2.องค์กรเข้มแข็ง มีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง  ตัวชี้วัดนี้สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนได้จริง  และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เกิดขึ้นได้  กระบวนการทำงานส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้หรือไม่ ?   หมายถึงสามารถเชื่อมโยงกับท้องถิ่นได้  ไม่ใช่แค่หอการค้า   หากดำเนินการได้จริงถือว่าเป็นเรื่องใหม่  เป็นนวัตกรรมทางสังคม”  นายชัชวาลย์กล่าว

 

ศ.ดร.อรรถจักร์  สัตยานุรักษ์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า  สิ่งที่พวกเราทำ  คือนวัตกรรมทางสังคม  เป็นการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ทางสังคมให้เกิดการสร้างการทำงานร่วมกันในรูปแบบใหม่ ซ้อนทับกับการสร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ  ทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่หลากหลายมากกว่าเดิม  ซึ่งเดิมอาจไม่ได้ติดต่อกัน  และตนอยากเห็นการยกระดับนวัตกรรมทางสังคม  เปรียบเหมือน program computer หากคลิกถูก  จะกลายเป็นทฤษฎีเรื่องใหญ่ๆ  ทำให้คนอื่นเข้าใจว่า  คน พอช.ทำให้เกิดเรื่องนวัตกรรมทางสังคม  ทำให้การผลักดันไปสู่นโยบายอื่น ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น 

“วันนี้เรากำลังอยู่ในการบริหารรัฐบาลไทย  รัฐไทยกำลังจะเปลี่ยนเป็นรัฐบรรษัท  มีกลุ่มทุนอยู่ข้างๆ และกำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตเรา  สิ่งที่จะยันกับทุนใหญ่และกลุ่มอื่นๆ ได้  คือนวัตกรรมทางสังคมที่พวกเราทำ  ซึ่งยังไม่มีใครทำ  รัฐในอนาคตจะมีกลุ่มทุนใหญ่ขยายไปเรื่อย ๆ   ผมคาดหวังว่าพวกเราคือแสงสว่างปลายอุโมงค์   หากไม่มีแสงสว่างนี้  เราจะเดินไปไม่ถูก”  ศ.ดร.อรรถจักร์เสนอความเห็น 

 

รศ.ดร.ประภาศ  ปิ่นตบแต่ง  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่า  เมืองและชนบทในปัจจุบันมีวิกฤตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก  ที่ผ่านมารัฐพยายามสร้างความยั่งยืนให้แก่เมือง   แต่ข้อเท็จ จริงคือ  เมืองไม่มีความยั่งยืน  ดังนั้นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนจากพื้นที่หรือชนบทจึงถือเป็นนวัตกรรม  แต่จะทำอย่างไรให้นวัตกรรมที่พี่น้องขับเคลื่อนถูกผลักดันเชิงนโยบาย  เป็นต้นแบบสู่สังคมได้ 

“คำว่า ‘นวัตกรรม’ คือการจัดความสัมพันธ์ใหม่   ซึ่งความสัมพันธ์ใหม่นี้  หากไม่มีกลุ่มจะไม่สามารถทำงานร่วมเป็นภาคีได้  ดังนั้นนวัตกรรมการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายจึงมีความสำคัญมาก  ส่วนการที่จะให้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่กลางในการต่อรองกับท้องที่  ท้องถิ่น  หากมีการรวมกลุ่มก็สามารถดำเนินการไปได้  แต่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มอาจจะลำบาก   และการขับเคลื่อนการพัฒนาจากข้างล่างขึ้นมา  เป็นการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน  และต้องเป็นบทเรียนของสังคม การเมือง และเป็นบทเรียนของรัฐบาลด้วย”   รศ.ดร.ประภาสกล่าว

             

ทิศทางการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ปี 2563-2565

การจัดงานนวัตกรรมการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ 'พลังการสื่อสารจัดการความรู้  สู่การพัฒนาคนที่ยั่งยืน ในครั้งนี้  ในช่วงท้ายผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 5 ภาคได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชน  ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) เพื่อนำไปขับเคลื่อนต่อ  โดยมีวิสัยทัศน์  คือ  คนในขบวนองค์กรชุมชนเป็นคนมีคุณธรรม  มีความสามารถในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้  นำไปสู่ชุมชน-สังคมเข้มแข็ง  โดยมีเป้าหมาย  เกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลง  และผู้นำเชิงประเด็นในพื้นที่ 1,000 ตำบลทั่วประเทศ  รวม 10,000   คน

 

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย  คือ 1.ผู้นำระดับตำบล  อำเภอ  เช่น  ผู้นำอาวุโส  ปราชญ์ชุมชน  คนรุ่นใหม่  จิตอาสา  ฯลฯ  2.ผู้นำระดับจังหวัด  กลุ่มจังหวัด  เพื่อผลักดันงานระดับพื้นที่สู่แผนพัฒนาของท้องถิ่นหรือจังหวัด  3.ผู้นำขบวนงานประเด็น เพื่อสนับสนุนการทำงานเชิงประเด็นหรืองานพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่   และ 4.คนรุ่นใหม่ หรือผู้นำใหม่ในขบวนองค์กรชุมชน  หรือชุมชนท้องถิ่นที่มีความสนใจการทำงานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชน  ฯลฯ

 

ส่วนหลักสูตรการพัฒนาประกอบด้วย 1.หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังขบวนองค์กรชุมชน  2.หลักสูตรสื่อสารสาธารณะพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง  3.การบริหารจัดการที่ดี  4.การจัดการความรู้ชุมชน  5.หลักสูตรประเด็นงานยุทธศาสตร์  เช่น  แผนธุรกิจเพื่อชุมชน  การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อความมั่นคง  6.การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ  และ 7.หลักสูตรการประสานความร่วมมือ

ทั้งนี้การจัดเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานนวัตกรรมการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ 'พลังการสื่อสารจัดการความรู้  สู่การพัฒนาคนที่ยั่งยืน  ครั้งนี้  เป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561-2562  โดยจัดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ เช่น  หลักสูตรการขับเคลื่อนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ  ที่ จ.นครศรีธรรมราช  หลักสูตร การสื่อสารสาธารณะ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ จ.เชียงใหม่  หลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงขบวนองค์กรชุมชน, หลักสูตรการการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ’  ฯลฯ  รวมทั้งจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ   โดยพัฒนาผู้นำในขบวนองค์กรชุมชนไปแล้ว 7,799 คนจากเป้าหมาย 5,000 คน

 

นอกจากนี้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชนยังปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)  ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์  และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม  รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  แถลงต่อรัฐสภา  เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562   ข้อ 7.2.1  เรื่อง สร้างผู้นำชุมชน ยกย่องปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  ฯลฯ  และเป็นพลังสำคัญในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ  การพัฒนาตนเอง  และการจัดการของชุมชนท้องถิ่น

                                                                                 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"