บุญสร้างบี้กองทัพ ผู้ถือปืนอย่าทำชั่ว


เพิ่มเพื่อน    

 "นายกฯ" เปิดประชุมไอแพค-ไอแพมกระชับความสัมพันธ์ประเทศภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก  "บิ๊กแดง" มั่นใจช่วยสร้างความร่วมมือก้าวสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน "ผบ.ทบ.สหรัฐอเมริกา" ย้ำฝึกร่วมไทย-อเมริกายังจำเป็น "บุญสร้าง" ฝากแง่คิดอย่ามองประชาชนเป็นศัตรู ระบุผู้นำทหารต้องมีคุณธรรม เป็นผู้ถืออาวุธอย่าทำชั่วเสียเอง  

    ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค วันที่ 9 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุมกองทัพบกกลุ่มประเทศภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก  ประจำปี 2562 (IPACC IPAMS SELF 2019) ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ย.62 ภายใต้หัวข้อ "การก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน มุมมองใหม่ของกองทัพบกภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก" โดยกองทัพบกไทยร่วมกับกองทัพบกสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบกมิตรประเทศเข้าร่วมจำนวน 25 ประเทศ  อาทิ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ บรูไน กัมพูชา แคนาดา ฟิจิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์  ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ติมอร์-เลสเต ตองกา มัลดีฟส์ เวียดนาม จีน ชิลี ฝรั่งเศส อินเดีย มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล ปาปัวนิวกินี สหราชอาณาจักร วานูอาตู สหรัฐอเมริกา และไทย
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถือเป็นความร่วมมือกันในภูมิภาคของอินโด-แปซิฟิกในบทบาทที่สร้างสรรค์ ทำให้ภูมิภาคของเราและทุกภูมิภาคของโลกมีความปลอดภัยมั่นคงยั่งยืน ด้วยการปรับตัวรองรับความเป็นพลวัตในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก ก่อให้เกิดความท้าทายและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่สลับซับซ้อน การร่วมกันเสริมสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก กองทัพต่างๆ จะเป็นเครื่องมือหลักในฐานะผู้สนับสนุนรัฐบาล 
    "สิ่งสําคัญอีกประการหนึ่งคือ มิตรภาพหรือความเป็นเพื่อน ซึ่งผมเห็นว่าจะช่วยสร้างบรรยากาศในการทํางานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความสันติสุขในภูมิภาคของเรา ด้วยการมุ่งเน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ ทั้งระหว่างประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกด้วยกันเอง และภาคีภายนอก ดังนั้นการพัฒนาความไว้วางใจระหว่างกองกําลังทางบกภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก เพื่อขจัดความเสี่ยงและความขัดแย้ง แล้วทํางานเคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยความเป็นทหารอาชีพ" นายกฯ กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า กองทัพบกไทยตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิด ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน โดยมิได้จำกัดกรอบแนวความคิดเฉพาะภายในกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกรอบความร่วมมืออื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศอินโด-แปซิฟิก และมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นเวทีที่สำคัญ ที่พวกเราทั้งหลายจะได้มีส่วนส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจอย่างยั่งยืน จึงได้เห็นพ้องร่วมกับกองทัพบกสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพร่วม กำหนดประเด็นหลักของการประชุมในครั้งนี้ว่า การก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน:มุมมองใหม่ของกองทัพบกภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ในฐานะประเทศเจ้าภาพร่วม 
ฝึกร่วมไทย-อเมริกาจำเป็น
    "ผมหวังว่าทุกคนจะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประโยชน์ ซึ่งอาจกลายเป็นความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้การพบปะพูดคุยกันในห้วงระหว่างการประชุม มิตรจะได้กระชับมิตร เพื่อนใหม่จะได้ทำความรู้จักและเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ อันจะกลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือ และเป็นพลังในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทุกรูปแบบได้อย่างแน่นแฟ้น และก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนต่อไป" พล.อ.อภิรัชต์กล่าว
    จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์พร้อมด้วย พล.อ.เจมส์ แมกคอนวิว ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐอเมริกาได้แถลงข่าวร่วมกัน โดย พล.อ.เจมส์กล่าวว่า ข้อห่วงใยที่มีความสำคัญของภูมิภาค ต้องการให้ทุกประเทศที่มาร่วมประชุมกันมีเป้าหมายและจุดมุ่งหมายร่วมกัน คือการเสริมสร้างความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักและเป้าหมายสำคัญ 
    ถามว่าการฝึกร่วมในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาหรือไม่ พล.อ.เจมส์กล่าวว่าการฝึกต่างๆ มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการฝึกเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เพราะฉะนั้นเห็นว่าการฝึกร่วมยังต้องดำเนินต่อไป 
    "เช่นเดียวกับการฝึกศึกษา ถือเป็นรากฐานและพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ต่อการฝึกศึกษา ทำให้นักศึกษามาพบปะและอยู่ร่วมกัน เสริมสร้างความสัมพันธ์และมีประสบการณ์เรียนรู้หลักนิยม หรือหลักสูตรต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายจะถ่ายทอดให้กันและกัน หรือเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน" ผบ.ทบ.สหรัฐอเมริกากล่าว
    ส่วน พล.อ.อภิรัชต์เสริมว่า ที่ผ่านมาเราได้มีการประชุมมาโดยตลอด โดยเฉพาะกองทัพบกไทยถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญในพื้นที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพบกไทยและสหรัฐอเมริกามีมานาน หลักนิยมที่เราใช้ตั้งแต่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนถึงหลักนิยมในการรบปัจจุบันเราก็ยังใช้หลักนิยมของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา 
    "กองทัพบกไทยมีการฝึกกับสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง เช่น การฝึกร่วมรหัสคอบราโกลด์และหนุมานการ์เดียน ซึ่งการฝึกแต่ละครั้งกองกำลังที่อยู่ในภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกก็เข้ามารับการฝึกร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้ภูมิภาคมีความมั่นคงยั่งยืนถาวร มีการร่วมมือกันในเรื่องการช่วยเหลือภัยพิบัติ เราไม่ได้มุ่งในด้านความมั่นคงอย่างเดียว แต่มุ่งในเรื่องการช่วยเหลือเมื่อมีภัยพิบัติในภูมิภาค" ผบ.ทบ.กล่าว
    ต่อมา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ผู้บรรยายเกียรติยศ (Keynote Speaker) ในพิธีเปิดการประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอินโด-แปซิฟิกกล่าวตอนหนึ่งว่า ภายใต้หัวข้อหลักในครั้งนี้ตนเห็นว่ามี 3 เรื่องหลักที่จะได้ร่วมกันพิจารณา ประการแรกคือความมั่นคงที่ยั่งยืน ในหลายๆ เวทีเสวนาความมั่นคงทั่วโลก มักให้ความสำคัญกับกระบวนทัศน์ของการควบคุม ซึ่งอาจหมายถึงแนวความคิดที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ผิดพลาด ว่าเราสามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่มั่นคงได้ด้วยกำลังทหาร หรือสมดุลของอำนาจทางการเมืองและการปิดล้อม เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่ง status quo ซึ่งนโยบายความมั่นคงที่ยึดตามกระบวนทัศน์ของการควบคุมนี้อาจกลับมาทำร้ายตัวเองได้ในระยะยาว 
ผู้นำทหารต้องมีคุณธรรม
    "เราในฐานะหน่วยงานทางทหาร หน่วยงานความมั่นคงของชาติ อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราอาจต้องทบทวนบทบาทและหน้าที่ของทหารในการที่จะสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงที่ยั่งยืน โดยในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ผมเชื่อว่าความร่วมมือทางทหารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝึก การปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ การให้ความช่วยเหลือ" พล.อ.บุญสร้างกล่าว
    ผู้บรรยายเกียรติยศกล่าวว่า ประการที่สอง การพัฒนาความไว้วางใจ พยายามทำให้ประชาชนเข้ามาเป็นพวกให้มากที่สุด ไม่มองประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรู และหากสามารถเอาชนะจิตใจประชาชนได้แล้ว ข้าศึกก็จะหมดสิ้นไปเอง 
    "ผมอาจอยากมองว่า เราควรจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการพัฒนาความไว้วางใจมากกว่า จะทำอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาความมั่นคงหรือความขัดแย้งใดๆ ทุกวันนี้เรามีเครื่องมือและกลไกระหว่างประเทศมากมาย เพื่อแก้ปัญหาพิพาทระหว่างประเทศหรือปัญหาในภูมิภาค ที่เกิดขึ้นทั้งทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ผมขอยืนยันว่ายุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา จะเป็นเข็มทิศในการปฏิบัติงานทุกๆ เรื่องได้เป็นอย่างดี" ผู้บรรยายเกียรติยศกล่าว
    พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ประการที่ 3 การพัฒนาความทรหดทางจิตใจซึ่งมีหลายองค์ประกอบ เช่น  คุณธรรมของผู้นำและความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ โดยคุณธรรมของผู้นำเห็นว่ากาลังพลทุกชั้นยศเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของกองทัพไทย เป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงความสำเร็จและล้มเหลวของงานในแต่ละหน่วยได้เป็นอย่างดี โดยปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะผู้ที่จะเป็นผู้นำหน่วย ถ้าผู้นำดีลูกน้องเชื่อมั่นนับถืองานก็ประสบความสำเร็จ ผู้นำทางทหารที่ดีต้องมีคุณธรรม จริยธรรม หลักธรรมาภิบาลสูง เพราะทหารเป็นผู้ถืออาวุธเป็นผู้มีฤทธิ์ จะต้องรู้จักใช้อาวุธในกาลอันควร และไม่ใช้อาวุธโดยไม่ถูกต้อง 
    "หากผู้ถืออาวุธเป็นคนดีในบ้านเมือง คนชั่วมักไม่กล้าทำในสิ่งเลวร้าย แต่ถ้าผู้ถืออาวุธทำความชั่วเสียเอง แล้วใครจะกล้าเข้ามาจัดการ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร สำหรับคุณธรรมเบื้องต้นที่ทหารควรมี ไม่ว่าจะเป็นผู้นำหรือไม่คงต้องยกคติพจน์ของเวสต์ปอยต์มาเป็นแนวทางคือ Duty คือหน้าที่ ทหารต้องรักษาหน้าที่ไม่เพียงเฉพาะการรบ หากรวมถึงหน้าที่ตามภารกิจที่กระทำอยู่ทุกวัน สำหรับความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ในฐานะเป็นเด็กบ้านนอกทำให้ผมเข้ากับลูกน้องได้ดี และที่สำคัญช่วยให้ผมอดทนต่อความยากลำบาก และพร้อมที่จะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นผลดีต่อการทำงาน" พล.อ.บุญสร้างกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"