"สายตรวจซาเล้ง" บทบาทสำคัญ ลดปัญหาขยะอ่าวนาง    


เพิ่มเพื่อน    

สองมือคัดแยกขยะเพื่อหาเงิน และช่วยรักษาความสะอาดบ้านเกิด
   
     การเสียชีวิตของพะยูนมาเรียม ที่มีการตรวจพบเศษพลาสติกในท้อง กลายเป็นกระแสและสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาของขยะยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนออกมารณรงค์ แต่ก็มีอีกหลายคนเลือกที่จะเมินเฉย และสัตว์อีกมากมายที่อาศัยอยู่ในทะเลก็อาจจะมีชะตากรรมเดียวกับพะยูนมาเรียม หรือแม้แต่มนุษย์อย่างเราแม้จะไม่ต้องตายเพราะขยะ แต่ก็พบเจอขยะในชีวิตประจำวันซะจนชินชา ทั้งที่ทิ้งไม่เป็นที่ กลิ่นเน่าเหม็น  โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆหรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม

     
    ก่อนหน้านี้ คณะสื่อมวลชนได้มีโอกาสเดินทางไปที่ ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ ใน"กิจกรรม ธรรมนูญ เขยื้อนขยะ" ที่ได้ไปชมการจัดการแก้ไขปัญหาขยะ ในแนวคิด ธรรมนูญสุขภาพ ที่ใช้เป็นเครื่องมือสร้างกติกาหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่น ต่อยอดเป็นมาตรการ ในโครงการ “สายตรวจซาเล้ง” ที่จะช่วยคัดแยกขยะ และยังสามารถนำไปขายสร้างรายได้ด้วย

ซาเล้งเก็บชยะ หนทางช่วยรักษาธรรมชาติอ่างนาง และทะเล

 

    ตำบลอ่าวนาง นับว่ามีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลยอดนิยมและมีชื่อเสียง ที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างเดินทางมาจำนวนมาก อาทิ อ่าวนาง, หมู่เกาะพีพี, อ่าวโละซามะเกาะไก่ , เกาะหม้อ , เกาะปอดะ , เกาะทัพ หรือทะเลแหวก สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้าง รายได้ให้กับท้องถิ่น และประเทศชาติอย่างต่อเนื่องตลอดมา และสิ่งที่ต้องรับมือก็คือ ขยะ


    ขยะจำนวนมหาศาลที่มากถึงวันละ 65-70 ตัน ทั้งจากนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่น ที่เป็นแหล่งรายได้ของซาเล้งเก็บขยะที่มีทั้งคนในและนอกพื้นที่ ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้ขยะเกิดความสกปรกเพิ่มขึ้น จากการรื้อค้นขยะในถุงดำของชาวบ้าน และผู้ประกอบการที่นำมาวางไว้ข้างถนน นี่จึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐ สถานประกอบการร้านอาหารและโรงแรม และชาวบ้าน จึงได้ร่วมมือกันในการสร้างข้อตกลง หรือกติกา ที่เรียกว่าธรรมนูญสุขภาพ นำมาใช้ในโครงการ สายตรวจซาเล้ง


    นายพันคำ กิตติธรกุล นกยก องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง (อบต.อ่าวนาง) กล่าวว่า ปัจจุบัน ต.อ่าวนาง มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละประมาณ 65-70 ตัน คิดเป็นกว่า 50% ของขยะทั้งหมดในจังหวัดกระบี่ โดยในระหว่างปี 2558-2560 ต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการไม่ต่ำกว่าปีละ 27 ล้านบาท ซึ่งต้นทางของขยะก็มาจากนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ โดยได้มีการดำเนินงานแก้ไข ทั้ง รณรงค์ให้เก็บกวาด แจกขยะตามครัวเรือน สร้างจุดทิ้งขยะ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมขยะได้ เพราะประชาชนยังขาดจิตสำนึกและไม่ยอมทำตามกฎหมาย จึงได้มีความคิดที่จะนำทุกภาคส่วนมาร่วมแก้ไขปัญหา ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2562 ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 ในเรื่องของ ธรรมนูญสุขภาพตำบล 

สุพจน์ ชดช้อย และถุงกึ่งใสที่จะพัฒนาใส่ขยะในอนาคต


    นายสุพจน์ ชดช้อย รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบต.อ่าวนาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ต.อ่าวนาง มี 8 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 13,000-14,000 คน ในส่วนนี้ยังมีประชากรแฝงที่เข้ามาประกอบธุรกิจอีกประมาณ 3 หมื่นคน ดังนั้นใน 100% ปริมาณขยะที่มาจากประชากรในพื้นที่ประมาณ 30-35% และจากการเจริญเติบโตทางด้านท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว ธุรกิจ อื่นๆ ประมาณ 60-65% ทำให้ภาพที่ผู้คนพบเห็นตามท้องถนนหรือแหล่งท่องเที่ยวจึงมีแต่ขยะจำนวนมาก และถังขยะที่ได้แจกจ่ายให้กับครัวเรือนก็เพิ่มขึ้น รถเก็บขยะไม่ได้คัดแยกขยะ  คนเก็บขยะรื้อค้นขยะเลอะเถอะ บ้างก็แอบขโมยของ


    ต่อมาจึงได้ปรับแผนให้มีการเรียกเก็บถังขยะกลับคืน และหันมาใช้ถุงดำในการคัดแยกและเก็บขยะ ต้องผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางไว้ยังจุดที่กำหนดระหว่างเวลา 19.00-24.00 น. นอกจากที่จะมีรถไปเก็บขยะแล้ว การดึงกลุ่มซาเล้งเข้ามามีส่วนร่วมก็สำคัญ เพราะจำนวนซาเล้งมีจำนวนมาก   โดยซาเล้งต้องเข้าร่วมโครงการ สายตรวจซาเล้ง ซึ่งจะมีการลงทะเบียน และสวมใส่เสื้อกั๊ก สีสะท้อนแสงมีหมายเลขกำกับส่วนตัว ในระหว่างเก็บขยะ และยังจำแนกจุดเก็บขยะเพื่อจะได้ไม่เป็นการขัดแย้งพื้นที่กัน และมีเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยตรวจดูเพื่อไม่ให้คนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเข้ามาเก็บขยะ   นอกจากนี้ในระหว่างการรื้อค้นขยะเมื่อแล้วเสร็จต้องจัดการมัดถุงให้เรียบร้อย ห้ามปล่อยให้เลอะเทอะ หากไม่ทำตามก็จะยึดเสื้อคืน เพราะนี่คือสิ่งที่เราได้ทำการตกลงกับครัวเรือน และสถานประกอบการ ที่ให้เฉพาะคนสวมเสื้อของโครงการและรถเก็บขยะของพื้นที่เท่านั้น

    ปัจจุบันมีซาเล้งที่ลงทะเบียนแล้วนั้นมีอยู่ 52 คน ซึ่งมาช่วยคัดแยกขยะที่สามารถนำไปขายได้ เช่น กระดาษ กระป๋อง ขวดพลาสติก เหล็ก ทองแดง อื่นๆ ไปขายได้ประมาณ 50 กิโลกรัม/คัน  และตั้งแต่เมษายนปี 2562 ได้ประมาณ 100 กว่าตัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในแต่ละช่วงด้วย แต่เป้าหมายที่คิดว่าจะต้องทำให้ได้คือ 50 ตัน/วัน นับว่ายากเหมือนกัน   และคาดว่าจะมีซาเล้งเข้าร่วมโครงการอีกประมาณ 5-6 คน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนการใช้ถุงดำ เพราะถุงดำเยอะมากๆ มาใช้ถุงกึ่งใส มีโลโก้เทศบาล เพื่อสามารถตรวจนับจำนวนถุงที่ใช้ในแต่ละวันด้วย ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอนาคตก็อยากที่จะลดขยะให้ได้มากที่สุด


    อดิศักดิ์ แซ่หลี หรือพี่อี๊ด  ชายวัยกลางคนสวมใส่เสื้อกั๊กเบอร์ 3 มีไฟฉายคาดศีรษะคอยให้แสงสว่าง กำลังวุ่นกับการคัดแยกขยะ หนึ่งใน 4 จุดของสถานีขยะของ ต.อ่าวนาง เล่าว่า ทำอาชีพเก็บขยะมาตั้งแต่อายุ 18 ปี จนปีนี้อายุ 37 ปีแล้ว เพราะเราเป็นเสาหลักของครอบครัว  เมื่อก่อนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการมีรถซาเล้งเยอะ บางคันก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ และเราก็ออกจากบ้านตั้งแต่บ่าย 2 ไปจนถึงเที่ยงคืน บางคืนก็ถึงเช้า ไล่เก็บไปตามถนน โรงแรม เก็บไม่เป็นที่ เพราะคนทิ้งขยะทุกที่เยอะไปหมด แต่บางคืนขยะเยอะเก็บก็ไม่ไหว เคยเก็บได้เยอะสุดคืนหนึ่งก็ 2 พันบาท รายได้ก็พอที่จะเลี้ยงครอบครัว ทำให้เราภูมิใจในอาชีพ และยังได้ช่วยดูแลความสะอาดให้บ้านเกิดอีกด้วย


    นายชัย ลำพาย อายุ 57 ปี ใส่เสื้อกั๊กเบอร์ 15 และนางอัว ลำพาย อายุ 45 ปี สามีภรรยาพากันขับรถซาเล้งคู่ใจมาเก็บขยะบริเวณซอย 8 หาดอ่าวนาง- หาดนพรัตน์ธารา ซึ่งมีหลายโรงแรมในซอยนี้ บอกว่า เก็บขยะมา 7 ปี มาตั้งแต่ 2 ทุ่มไปถึงเที่ยงคืน ไม่เคยคิดจะหยุด เพราะเป็นเหมือนรายได้อีกทางหนึ่งจุนเจือครอบครัว แต่ก่อนใครก็สามารถเข้ามาเก็บได้ พอเข้าร่วมโครงการทำให้มีระเบียบมากขึ้น ทางโรงแรมก็จะดูก่อนว่าคนที่มาเก็บขยะสวมใส่เสื้อกั๊กรึป่าว และเราก็ต้องดูความสะอาดบริเวณด้านหน้าโรงแรมไม่ให้มีขยะ ส่วนอื่นๆบริเวณซอย 8 เราก็คอยเป็นหูเป็นตาดูแลความสะอาด 

อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา 


    นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า ธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือที่ให้บทบาทแก่คนทุกคน ดังนั้นทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นคนเล็กคนน้อยก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เพราะปัญหาขยะไม่ใช่เพียงเรื่องเศษผงที่ทิ้งอยู่ข้างทาง แต่เป็นเรื่องการจัดการเชิงระบบที่ใหญ่มาก เห็นได้จากการให้ความสำคัญทั้งในส่วนของสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ และยังถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายของจังหวัดด้วย และความท้าทายการทำให้พื้นที่ตำบลอ่าวนาง เป็นต้นแบบเรียนรู้และขยายผลเพื่อรับมือกับปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างไร
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"