ราชวงศ์เหงียนและพระราชวังเว้


เพิ่มเพื่อน    

 


ซิโคล (Cyclo) หรือสามล้อของเวียดนามจอดรอผู้โดยสารอยู่หน้ากำแพงเมืองเว้

 คงมีหลายสาเหตุที่ทำให้ตื่นมาแล้วมีอาการแสบคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม ทั้งอากาศที่ร้อน นอนไม่พอ และเมื่อคืนก็ดื่มเบียร์ไปหลายขวด-หลายกระป๋อง โดยเฉพาะชุดสุดท้ายกับหนุ่มเจ้าถิ่นหน้าตาคล้าย “โฮจิมินห์” มหาบุรุษของเวียดนาม

                 โรงแรมที่พักระดับดาวเดียวมีอาหารเช้าให้ด้วย รีเซฟชั่นสาวผละจากหลังเคาน์เตอร์มาถามว่าต้องการรับอะไร มีให้เลือกระหว่างขนมปังแบบฝรั่งเศสกินกับไข่เจียว บะหมี่ผัดโปะไข่ดาว และแพนเค้กกล้วยหอมราดน้ำผึ้ง ผมเลือกอย่างหลัง เพราะน่าจะเข้ากับอาการป่วยอ่อนๆ นี้ได้ดีที่สุด เครื่องดื่มก็มีให้เลือกหลายอย่าง ผมขอน้ำมะนาวร้อน กินเสร็จแล้วขึ้นไปนอนต่อ ตื่นมาตอนเที่ยงก็ขอยืมใช้งานจักรยานของโรงแรม จักรยานพวกนี้แม้ไม่มีเกียร์ แต่วิ่งฉิวเพียงออกแรงปั่นแค่นิดเดียว เจ้าหน้าที่โรงแรมให้ข้อมูลว่าเป็นจักรยานมือสองจากญี่ปุ่น

                 ออกมาไม่ไกลนักก็แวะร้าน Chu Café บนถนน Le Loi เพื่อกินมื้อเที่ยง แต่สั่งชุดอาหารเช้า ในภาพเมนูมีไข่ดาว 2 ฟอง ขนมปัง 2 แผ่น ตอนเสิร์ฟได้ไข่ดาวแค่ฟองเดียว ขนมปังเพิ่มเป็น 4 แผ่น และแถมไส้กรอกมาด้วย 2 ชิ้น ราคาชุดละ 50,000 ดอง หรือประมาณ 65 บาท กินพร้อมๆ กับกาแฟฟิน หรือกาแฟแบบดริปผ่านถ้วยกรอง กว่าน้ำกาแฟจะหยดลงมาสู่แก้วจนหมดก็หายร้อนไปแล้ว แต่ในยามที่อากาศร้อนกลับกลายเป็นว่านี่คือข้อดี ร้านนี้มีขนาดใหญ่ ตกแต่งได้ดี แต่ไม่ติดแอร์

                ตอนบ่ายอากาศยิ่งร้อนเข้าไปอีก ผมยังไม่กล้าปั่นจักรยานท้าแดด อาการจามและน้ำมูกไหลก็ยังไม่ลดลงไป สั่งชาบลูเบอร์รี่มาดื่มก็เอาไม่อยู่ นั่งแช่อยู่ในร้านไปเรื่อยๆ


หนึ่งในประตูที่เข้าสู่เมืองเว้โบราณ

                กระทั่งเกือบ 4 โมงเย็นก็ตัดสินใจปั่นจักรยานออกจากร้านไปบนถนน Le Loi มาจากชื่อวีรบุรุษจักรพรรดิเลเหล่ย เลี้ยวขวาขึ้นสะพานฟูซวน (Phu Xuan) ซึ่งมาจากชื่อเมืองที่ใช้อยู่ก่อน “เว้” ข้ามแม่น้ำหอมไปยังฝั่งเหนือ ปั่นต่อไปทางซ้ายมืออีกราว 1 กิโลเมตร เลี้ยวขวาข้ามคูเมือง ลอดประตูหนึ่งของกำแพงเมืองเว้ ลุงเจ้าหน้าที่บอกให้ฝากจักรยานโดยคิดเงิน 5,000 ดอง แกนำชอล์กสีขาวเขียนหมายเลขไว้บนอานจักรยาน แล้วยื่นตั๋วใบเล็กจิ๋วมาให้ เป็นหลักฐานตอนมารับกลับ

                ด้านหน้าพระราชวังมีลานกว้างขวาง มีทั้งสนามหญ้า พื้นซีเมนต์ และปูแผ่นอิฐสี่เหลี่ยมเป็นระเบียบเรียบร้อย คาดว่าช่วงแรกที่ปูอิฐน่าจะมีสีแดงสด แต่ในเวลานี้จางลงไปมากแล้ว ส่วนหน้าสุดของกำแพงเมือง ซึ่งอยู่ติดคูเมืองและใกล้ถนนใหญ่ประดับธงพื้นแดง-ดาวเหลืองบนฐานขนาดยักษ์ เรียงหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น ใครๆ มาเยือนพระราชวังเว้หลังยุคโทรศัพท์มือถือได้พัฒนาให้มีกล้องหน้าย่อมต้องถ่ายเซลฟี่กับป้อมธงชาติเวียดนามนี้ไว้เป็นที่ระลึก และแม้ว่าได้เข้าไปในพระราชวังแล้วหากถ่ายรูปย้อนออกมาก็ยังจะเห็นธงผืนนี้ปลิวไสวเด่นสง่าไม่ว่าจะถ่ายจากมุมไหน

                ฝนโปรยลงมาเล็กน้อยแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว ผมเข้าคิวซื้อตั๋ว จากบันทึกได้จดลงไปว่าราคา 180,000 ดอง สำหรับค่าเข้าพระราชวังเว้ และหากจะซื้อเป็นแพ็กเกจที่สามารถใช้เข้าสุสานของจักรพรรดิราชวงศ์เหงียนในอดีตอีก 3 แห่ง ได้แก่ สุสานจักรพรรดิมินมังห์ สุสานจักรพรรดิตือดึ๊ก และสุสานจักรพรรดิไคตินห์ ซึ่งล้วนตั้งอยู่ริมแม่น้ำหอมไล่เรียงกันมาตั้งแต่ช่วงต้นน้ำ ราคาจะอยู่ที่ 360,000 ดอง (ไม่รวมสุสานจักรพรรดิตือดึ๊ก) และ 500,000 ดอง เข้าได้ทั้ง 4 โบราณสถาน ผมซื้อแค่ตั๋วเดี่ยวพระราชวังเว้ เพราะยังไม่แน่ใจว่าอาการป่วยที่เป็นอยู่จะอนุญาตให้ไปชมสุสานเหล่านั้นได้หรือไม่ เพราะแต่ละแห่งอยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตร 


​​​​​​​
ตัวอย่างปืนใหญ่ที่แสดงไว้หลังกำแพงเมืองเว้

                ออกจากซุ้มขายตั๋ว ผมก็ได้ถ่ายรูปป้ายแสดงราคาที่ตั้งไว้ไม่ห่างกันมากนัก และเมื่อตรวจสอบขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ ราคาระบุ 150,000 ดองสำหรับเข้าพระราชวังเว้ 280,000 ดองสำหรับโบราณสถาน 3 แห่ง และ 360,000 ดองเพื่อชมครบทั้ง 4 แห่ง 

                ต้องขออภัยที่ผมไม่กล้ายืนยันว่าราคาที่ซุ้มขายกับที่ป้ายถาวรนี้ต่างกัน แต่เมื่อได้อ่านรีวิวในชุมชนไซเบอร์ก็พบว่ามีการตุกติกในเรื่องตั๋วจริง ส่วนใหญ่จะเจอในลักษณะที่ว่าให้ธนบัตรใบละ 200,000 ดอง หรือ 500,000 ดอง เจ้าหน้าที่ที่รับไปก็จะเปลี่ยนธนบัตรใต้โต๊ะแล้วโชว์ใบละ 20,000 ดอง หรือ 50,000 ดองกลับมา เรียกร้องให้ผู้ซื้อตั๋วจ่ายเพิ่ม หลายคนก็จ่ายเพิ่ม เพราะคิดว่าตัวเองสับสนจำนวนเลข 0 ที่มากมายเหลือเกิน

                ปกติผมจะเก็บตั๋วไว้ทุกครั้ง แต่ครั้งนี้หาไม่เจอ รู้สึกว่าจะโดนเจ้าหน้าที่ขอเก็บตั๋วตอนเดินลอดประตูหน้าเข้าไปยังเขตพระราชวัง โชคดีที่ผมมาสงสัยว่าโดนเล่ห์กลเข้าไปก็เมื่อเวลาผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือน อาการหัวเสียในเวลานั้นไม่มี และถึงตอนนี้ก็ไม่ได้โกรธ

                พระราชวังเว้เริ่มสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1803 แล้วเสร็จในปี ค.ศ.1832 เรียกโดยรวมว่าป้อมปราการเมืองเว้ (Citadel of Hue) หรือกำแพงเมืองเว้ มีลักษณะสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส กว้างด้านละประมาณ 2.5 กิโลเมตร กำแพงหนาราว 2 เมตร ตอนแรกสร้างเป็นกำแพงดิน ก่อนที่จะใช้หินและก่ออิฐเสริมในภายหลัง มีประตู 10 แห่ง ทุกประตูมีหอคอยด้านบน ขณะที่ป้อมปืนใหญ่มีถึง 24 ป้อม และคูน้ำได้ล้อมรอบกำแพงไว้ทุกด้าน

                แค่นั้นยังไม่พอ ด้านนอกสุดยังมีคลองล้อมรอบไว้อีก นั่นคือคลองที่ขุดตัดเข้ามาจากแม่น้ำหอมที่ไหลผ่านส่วนหน้า (ทิศใต้) ของกำแพงเมือง จำนวน 2 คลอง คลองแรกไหลขึ้นเหนือแล้วเลี้ยวหักศอกไปทางตะวันออก คลองเส้นที่สองไหลขึ้นเหนือไปเช่นกัน บรรจบกับคลองสายแรกที่มุมขวาบนของกำแพง เมื่อมองลงมาจากท้องฟ้าก็จะเห็นเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 4 รูป จากด้านนอกไปยังด้านใน ได้แก่ สี่เหลี่ยมของคลอง สี่เหลี่ยมของคันดิน (ในเวลานี้คือถนนล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน) สี่เหลี่ยมของคูเมือง และสี่เหลี่ยมของกำแพงเมือง

                คลอง 2 สายที่ไปเชื่อมกันที่มุมขวาบนของกำแพงเมืองก็จะบรรจบกับแม่น้ำหอม เนื่องจากแม่น้ำหอมไหลผ่านส่วนหน้าของกำแพงเมืองแล้วก็ไหลเลยไปอีกหน่อย จากนั้นเลี้ยวซ้ายขึ้นไปทางเหนือ ขนานกับคลองสายที่ 2 แล้วไปพบกับคลอง 2 สายที่บรรจบกันตรงมุมขวาบนพอดี แล้วแม่น้ำก็เดินทางต่ออีกประมาณ 10 กิโลเมตร ออกสู่ทะเลตะวันออก (หรือทะเลจีนใต้)

                จุดที่คลองด้านนอกสุดที่หุ้มป้อมปราการเมืองเว้นี้ไว้ไหลบรรจบกับแม่น้ำหอมมีป้อมประตูใหญ่อีกแห่งไว้ระวังภัยทางทิศดังกล่าว คูเมืองและคลองล้อมรอบกำแพงเมืองนี้นอกจากออกแบบไว้เพื่อป้องกันอริราชศัตรูแล้วก็ยังใช้ประโยชน์ในการขนส่ง-สัญจรได้ดีอีกด้วย


ประตูเที่ยงวัน ในอดีตองค์จักรพรรดิเท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้ ปัจจุบันใครๆ ก็เข้าได้ขอแค่ซื้อตั๋ว

                ภายในกำแพงเมืองประกอบไปด้วยทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับสิ่งที่เรียกว่าเมือง ทั้งวัด วัง ตำหนัก สำนักงาน สถานที่อยู่อาศัย สนามและสวนต่างๆ

                ชั้นในถัดจากกำแพงเมืองเรียกว่า Imperial City หรือ “เมืองจักรพรรดิ” มีวัดและสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ ล้อมรอบไว้ด้วยกำแพงสี่เหลี่ยมอีกชั้นหนึ่ง อยู่ค่อนมาทางด้านทิศใต้ของกำแพงเมือง เทน้ำหนักไปยังตรงกลางของกำแพงเมืองด้านนี้ กำแพงของเมืองจักรพรรดิสูง 4 เมตร และหนา 1 เมตร กว้างยาวด้านละประมาณ 600 เมตร มีประตูทั้ง 4 ด้าน ประตูทางด้านทิศใต้เรียกว่าประตูเที่ยงวัน ประตูนี้ใช้สำหรับองค์จักรพรรดิเท่านั้น

                ถัดจากประตูเที่ยงวันเข้าไปไม่ไกลคือพระที่นั่งที่มีพระราชอาสน์หรือบัลลังก์อยู่ตรงกลาง จากนั้นเป็นส่วนที่อยู่ชั้นในสุด ซึ่งอยู่ภายในเมืองจักรพรรดิ คือพระราชวังชั้นใน เรียกกันอีกชื่อว่า “เมืองต้องห้ามสีม่วง” ไม่ได้มีความหมายแฝงทางด้านเพศสภาพแต่อย่างใดหากแต่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวตามความเชื่อของจีนโบราณที่ว่าเป็นที่อยู่ของดวงวิญญาณองค์จักรพรรดิ ส่วนเมืองต้องห้ามสีม่วงนี้เป็นที่อยู่ของจักรพรรดิ สมาชิกราชวงศ์ และผู้ใกล้ชิดเท่านั้น มีกำแพงอีกชั้น สูงและหนาลดลงมาจากกำแพงเมืองจักรพรรดิแค่เล็กน้อย กำแพงด้านหน้าและด้านหลังยาว 324 เมตร ส่วนด้านซ้ายและขวายาว 290 เมตร มีประตูเข้าออก 7 ประตู    

                ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างกำแพงเมืองเว้และพระราชวังเว้ขึ้น “ตระกูลเหงียน” เป็นขุนนางที่มีอิทธิพลทางการเมืองมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 รับใช้ราชวงศ์เล และได้ปกครองเวียดนามตอนกลางไปจนถึงตอนใต้มาเป็นเวลา 200 กว่าปี โดยมี “ฟูซวน” หรือเว้ในปัจจุบันเป็นเมืองเอก ส่วนทางเหนือนั้นเป็นการปกครองของขุนนางตระกูลชิง (Trinh ในภาษาเวียดนามออกเสียงว่า “ชิง”) คู่ขัดแย้งของตระกูลเหงียน ขณะที่จักรพรรดิราชวงศ์เลที่เมืองทังลอง (ฮานอย) นั้นไร้อำนาจที่แท้จริง คงเทียบได้กับญี่ปุ่นยุคที่มีจักรพรรดิแต่เพียงในนาม ทว่าประเทศถูกปกครองโดยโชกุนตระกูลต่างๆ 


​​​​​​​
งานซ่อมแซมพระราชวังเว้ยังดำเนินต่อไป

                การปกครองของขุนนางตระกูลเหงียนมาถึงช่วงที่ถูกร่ำลือในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง อีกทั้งภาวะความเป็นผู้นำของตระกูลเหงียนก็อ่อนแอลงมาก สามพี่น้องจากหมู่บ้านเต่ยเซินได้เป็นผู้นำก่อการกบฏขึ้นในปี ค.ศ.1774 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ทำให้ขับไล่บรรดาขุนนางตระกูลเหงียนออกไปได้ อีกทั้งจับสังหารเสียเกือบหมดที่ไซง่อน ยกเว้น “เหงียนอันห์” ที่ในเวลานั้นอายุเพียง 13 ปี สามารถหนีรอดไปลี้ภัยในสยาม สมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ 

                สามพี่น้องแห่งหมู่บ้านเต่ยเซินที่ใช้สกุลเหงียนเช่นกัน เพราะมีข้อมูลที่น่าเชื่อว่าย่าของพวกเขาคือคนในตระกูลเหงียน (ปู่ของเขามีสกุลโฮ หรือบางทีก็แค่อยากใช้สกุลเหงียนขึ้นมาเฉยๆ ทั้งนี้ โฮจิมินห์ตอนเกิดใช้สกุลเหงียน) ถึงขั้นเก่งกาจขึ้นเหนือไปรบเอาชนะขุนนางตระกูลชิงได้ พวกตระกูลชิงหนีขึ้นเหนือเข้าไปในจีนที่เวลานั้นอยู่ในยุคราชวงศ์ที่ชื่อออกเสียงว่า “ชิง” คล้ายๆ กัน (Qing Dynasty)

                “เหงียนยัค” คือผู้นำปฏิวัติคนโตได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิคนแรกของราชวงศ์เต่ยเซิน คนต่อมาที่ฝีมือการยุทธ์ยอดเยี่ยมน่าเกรงขามเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 2 ชื่อว่า “เหงียนเว้” (หรือจักรพรรดิกวางจุง) แต่คงจะไม่ใช่ที่มาของชื่อเมืองเว้ เพราะตอนที่เหงียนอันห์กลับมาล้างแค้นปราบราชวงศ์เต่ยเซินขณะมีจักรพรรดิองค์ที่ 3 และทวงดินแดนคืนกระทั่งรวบรวมชาติเวียดนามได้สำเร็จเป็นผู้ที่ให้เมืองนี้ชื่อว่า “เว้” อีกทั้งพบว่ามีชื่อนี้อยู่ก่อนแล้วในช่วงหนึ่ง

                เหงียนอันห์ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์เหงียน มีพระนามว่าจักรพรรดิซาลอง พระองค์ได้เรียกประชุมบรรดาซินแสระบือนาม แล้วออกคำสั่งให้สร้างกำแพงเมืองเว้และพระราชวังขึ้นตามหลักฮวงจุ้ยและการสู้รบ แต่พระองค์ไม่ได้อยู่เห็นพระราชวังสร้างเสร็จ เพราะสวรรคตในปี ค.ศ.1820 พระราชวังมาแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1832 ในสมัยจักรพรรดิมินมังห์ผู้เป็นพระราชโอรส

 


​​​​​​​
ทางเดินสู่ห้องพระราชบัลลังก์

                พระราชวังเว้อยู่เป็นราชธานีของเวียดนามได้ไม่เท่ากับเวลาที่สร้างไปด้วยซ้ำ ในปี ค.ศ.1859 ก็ต้องเสียดินแดนตอนใต้ที่เรียกว่า “โคชินไชน่า” ให้กับนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส ก่อนจะสูญเสียอัมนัม (เวียดนามตอนกลาง) และตังเกี๋ย (เวียดนามตอนเหนือ) อย่างเบ็ดเสร็จตามสนธิสัญญาเว้ ค.ศ.1883 แย่ไปกว่านั้นโคชินไชน่ายังกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของกัมพูชา อีกอาณานิคมของฝรั่งเศส พระราชวังเว้มีความสำคัญในทางขนมธรรมเนียมประเพณีและงานพิธีต่างๆ เท่านั้น จักรพรรดิมีสถานะเป็นหุ่นเชิด กระทั่งสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต้องหนีออกจากพระราชวังหลังการประกาศอิสรภาพต่อฝรั่งเศสของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมินห์ เหลือเพียงเวียดนามใต้ที่ถูกเรียกว่ารัฐเวียดนาม (State of Vietnam) จักรพรรดิบ๋าวได่ จักรพรรดิราชวงศ์เหงียนองค์สุดท้ายถูกฝรั่งเศสเชิดต่อในฐานะประมุขของรัฐ แต่สุดท้ายก็ต้องไปลี้ภัยในฝรั่งเศส 

                คืนวันและภัยธรรมชาติอาจนำมาซึ่งความเสื่อมทรุดของเมืองจักรพรรดิและปราการเมืองเว้อยู่บ้าง แต่เทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายที่ได้รับจากสงครามอินโดจีน ครั้งที่ 1 ระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศส และสงครามอินโดจีน ครั้งที่ 2 หรือสงครามเวียดนาม ระหว่างเวียดนามเหนือกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในยุทธการที่เมืองเว้ ปี ค.ศ.1968 อาคารและสิ่งปลูกสร้างสำคัญ จำนวน 160 หลัง ภายในกำแพงเมืองเหลือรอดจากการถูกทำลายเพียง 10 หลังเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1933 พระราชวังเว้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก มีการบูรณะและพิทักษ์รักษาอาคารส่วนที่อยู่รอดจนสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับผู้ที่มาเยือนเวียดนาม

                สัปดาห์หน้าเชิญเข้าไปเที่ยวในพระราชวังเว้ด้วยกันนะครับ. 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"