โปรโมชั่น–จัดเต็ม ส.ส.-กมธ.สภาได้อะไรบ้าง?


เพิ่มเพื่อน    

    เรียงหน้าชี้แจงข้อเท็จจริงกันโดยพร้อมเพรียง ทั้งคนจากทีมงานหน้าห้อง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการชุดต่างๆ ทั้งจากปีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถึงกระแสข่าว ส.ส.-กมธ.สามัญฯ ของสภา เตรียมเร่งผลาญงบที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดสรรให้กับคณะ กมธ.สามัญชุดต่างๆ ที่เป็น งบค้างท่อ คืองบที่อยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี  2562 ที่จะสิ้นสุดตามกฎหมายในวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งกันไว้  90,784,300 บาท แบ่งเป็น 35 คณะ ทุกคณะได้เท่ากันหมดคือ 2,593,837 บาท

                จนมีข่าวในช่วงเหลือเวลาอีกแค่สองสัปดาห์ ก็จะครบกำหนด 30 ก.ย. ก่อนที่ กมธ.ชุดต่างๆ จะได้รับการจัดสรรงบรอบใหม่ ก็ต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 มีผลบังคับใช้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก่อน ดังนั้น งบค้างจ่ายดังกล่าวที่ กมธ.แต่ละคณะไม่ได้มีการใช้ เพราะกระบวนการตั้ง กมธ.เพิ่งจะแล้วเสร็จหมดทุกขั้นตอนเมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมานี้เอง แต่ที่เกิดงบดังกล่าว เพราะสำนักงานเลขาธิการสภามีการตั้งงบไว้ล่วงหน้า ในงบรายจ่ายประจำปี 2562 ของสภา

                เลยมีข่าวว่า อาจมีการให้ ส.ส.ที่อยู่ใน กมธ.ละเลงงบ เอาไปใช้จ่ายได้ในรูปแบบต่างๆ ที่ให้ทำแบบเนียนๆ

                คนละ 1 แสนบาท จนสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึง

                แต่สุดท้ายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ออกมาแจงรายละเอียดทั้งหมด โดยเฉพาะ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาแจงว่า การที่ กมธ.จะใช้งบประมาณดังกล่าวได้ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ 9 ข้อ ต่อหนึ่งคณะหนึ่งรายการ ได้แก่

                1.ค่าเบี้ยประชุมกรรมการและ กมธ. (815,000 บาท)

 2.ค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้ กมธ. (270,000 บาท) 3.ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่ายานพาหนะ เบิกได้ตามจริง (คณะละ 250,000 บาท) 4.ค่าอาหารเลี้ยงรับรองฯ   (440,000 บาท) 5.ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของ กมธ. (177,237 บาท) 6.ค่าใช้จ่ายการจัดสัมมนาของ กมธ. (160,000 บาท) 7.ค่าใช้จ่ายเพื่อรับรองแขกต่างประเทศ (80,000 บาท) 8.ค่าใช้จ่ายการเดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่ภายในประเทศของ กมธ. (300,000 บาท) และ 9.ค่าใช้จ่ายการเดินทางมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นต่อ กมธ.ของบุคคลที่ กมธ.เชิญมา (101,600 บาท)

                สรุปก็คือ ฝ่ายสภายืนกรานจะไม่มีการให้ละเลงงบค้างท่อ ก่อนถึงเส้นตาย 30 ก.ย. แต่เงินที่เหลือจ่ายจะเอาไปทำอะไร จะมีการหารือกันในสัปดาห์นี้ 

                ส่วนงบที่ กมธ.สามัญสภาแต่ละคณะจะได้รับกันในงบปี 2563 จะได้คณะละกี่ล้านบาท ก็อยู่ที่การพิจารณาของสำนักงานเลขาธิการสภาและ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของสภา ที่จะเคาะออกมา และพอได้ยอดเงินก้อนมาแล้ว พวก ส.ส.ใน กมธ.แต่ละคณะก็จะไปตกลงคุยกันว่าจะบริหารงบกันอย่างไร โดยเฉพาะที่จะเกิดขึ้นทุกปี ก็คือ “การจัดงบเดินทางไปต่างประเทศ” ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกคณะกรรมาธิการฯ ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นของสภาและวุฒิสภา โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ก่อนปิดงบ 30 ก.ย. บรรดา กมธ.ทั้งหลาย จะเร่งจัดโปรแกรมไปต่างประเทศ โดยอ้างไปดูงาน ทัศนศึกษา แต่ทำแบบเนียนๆ เช่น ต่างประเทศเชิญมา  แต่จริงๆ ก็คือ ยกคณะไปเที่ยวต่างประเทศ!

                บางปี กมธ.บางชุดก็เคยมีข่าวว่ามีเครือข่ายผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง เช่น บริษัทจัดทัวร์ไปต่างประเทศ ที่จะเชื่อมผลประโยชน์กับ กมธ.แต่ละคณะ เพื่อขอให้ใช้บริการของบริษัทตัวเองจัดทัวร์ของ กมธ. เรียกว่าผูกปิ่นโตกันเป็นล่ำเป็นสัน

                ไม่นับรวมกับที่ผ่านมา การทำงานของ กมธ.สภาแต่ละคณะ ก็มักจะมีข่าวทางลบออกมาให้เห็นกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้ง "เครือญาติ-คนใกล้ชิด” มานั่งทำงานในคณะกรรมาธิการสามัญ-อนุกรรมาธิการ เช่น ที่ปรึกษากมธ. เพื่อให้มามีตำแหน่งใน กมธ. แล้วบางคนก็เข้ามาหาผลประโยชน์ต่างๆ ผ่านช่องทางของ กมธ. โดยเฉพาะการไปตรวจสอบเรื่องต่างๆ แล้ว "ตลบหลัง-ตบทรัพย์” เรียกรับผลประโยชน์ เพื่อแลกกับการหยุดการตรวจสอบ เป็นต้น 

                เรียกได้ว่า “การหากิน-หารายได้เสริม” ผ่านช่องทางกรรมาธิการของพวก ส.ส.-นักการเมือง เกิดขึ้นและถูกพูดถึงมาตลอด สำหรับพวก ส.ส.-นักการเมืองที่ไม่พอใจกับแค่รายได้แต่ละเดือนที่ได้จากสภา ทั้งเงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวมเป็น 113,560 บาทต่อเดือน รวมถึงเงินค่า "เบี้ยประชุมกรรมาธิการ” ที่ ส.ส.แต่ละคนจะได้ครั้งละ 1,500 บาท  เมื่อเซ็นชื่อเข้าประชุม โดยขอแค่เซ็นชื่ออย่างเดียวก็ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ในห้องประชุมตลอด ซึ่ง ส.ส.หนึ่งคนจะเป็น กมธ.ได้ไม่เกินสองคณะ ดังนั้น หาก ส.ส.เซ็นชื่อเข้าประชุมครบทุกครั้ง ทุกนัด ก็จะได้เงินเพิ่มอีก 12,000 บาทต่อเดือน

                ไม่นับรวมกับสวัสดิการอื่นๆ ที่ ส.ส.-กมธ.แต่ละคนจะได้รับ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของ กมธ.

                และผู้ติดตามทั้งในประเทศและต่างประเทศ-ค่าพาหนะต่างๆ เช่น รถไฟ-รถประจำทาง-เครื่องบิน รวมถึง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ตลอดจน สิทธิประโยชน์ อื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยหากเป็นผู้ป่วยใน ได้ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 4,000 บาท ค่าห้องพัก (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) ไม่เกิน 10,000 บาท, ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง ไม่เกิน 100,000 บาท, ค่าผ่าตัด/ครั้ง ไม่เกิน 120,000 บาท, การคลอดบุตร คลอดธรรมชาติ ไม่เกิน 20,000 บาท ผ่าตัดไม่เกิน 40,000 บาท, การรักษาทันตกรรม/ปี ไม่เกิน 5,000 บาท, อุบัติเหตุฉุกเฉิน/ครั้ง ไม่เกิน 20,000 บาท, ตรวจสุขภาพประจำปี ไม่เกิน 7,000 บาท เป็นต้น

                อันนี้ยังไม่นับรวมการ ซิกแซก ในรูปแบบอื่นๆ ที่มักปรากฏเป็นประจำ เช่น การตั้ง เครือญาติ-ลูก-เมีย-สามี-กิ๊ก-คนถือกระเป๋า มากินโควตา รับเงินเดือนจากสภา ที่ ส.ส.แต่ละคนจะได้จากสภา นั่นคือการให้มี ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส.

                ซึ่งตามระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลมาช่วยงาน ส.ส. ให้โควตาและค่าตอบแทนไว้ดังนี้

                1.ผู้เชี่ยวชาญประจําตัว ส.ส. ตั้งได้ไม่เกิน 1 คน โดยได้ค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท 2.ผู้ชำนาญการประจําตัว ตั้งได้ไม่เกิน 2 คน ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท 3.ผู้ช่วยดําเนินงานของ ส.ส. ตั้งได้ไม่เกิน 5 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท

                ซึ่งหาก ส.ส.-นักการเมืองใช้วิธี เช่น เอาชื่อคนใกล้ชิด-เครือญาติ มาตั้งเป็นผู้ช่วย ส.ส.สัก 4 คน โดยคนพวกนี้ไม่ได้มีการทำงานจริง โดยให้ผู้ช่วย ส.ส.ทำงานจริงๆ แค่คนเดียว จากโควตา 5  คน ก็เท่ากับเกิดการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปแล้ว 48,000 บาทต่อเดือน ต่อ ส.ส. 1 คน

                อันนี้เฉพาะแค่ ส.ส.คนเดียว และแค่เฉพาะผู้ช่วย ส.ส.อย่างเดียว ไม่นับรวมถึงการตั้งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการประจำตัว ที่ก็สามารถตั้งนอมินี-เครือญาติ มากินเงินเดือนเปล่าๆ ได้อีก ก็คิดดูแล้วกันว่า หากส.ส.เกือบทั้งสภาคิดและทำแบบนี้ อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และอย่าคิดว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ในสภายุคนี้!!!!!! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"