กัลยาณมิตรของ'ประยุทธ์'สิ่งจำเป็นในวันที่มีอำนาจ


เพิ่มเพื่อน    

ละไว้ในฐานที่เข้าใจในการอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านต่อปมประเด็นถวายสัตย์ เมื่อนักกฎหมายอย่าง นายปิยะบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  ใช้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตั้งคำถามถึงการที่พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนฟังทั่วไปได้ประโยชน์ในหลายประเด็นในการที่นายปิยะบุตร ได้อภิปรายในเรื่องดังกล่าว

เช่นเดียวกับ  นายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่นายปิยะบุตร อภิปรายยกให้เป็นอาจารย์กฎหมายในทางตำรา  และได้นำเกร็ดข้อมูลในหนังสือหลังม่านการเมือง ที่นายวิษณุ ได้เขียนมาเปิดเผย   ซึ่งตัว นายวิษณุ เองก็ได้พยายามอภิปรายในทุกประเด็นให้เข้าใจในสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ ได้ใช้คำถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น  โดยใช้วิธีแตะ แต่ไปไม่ถึง เมื่อฟังแล้ววิญญูชนทั่วไปพอจะเข้าใจได้ หรือแม้แต่ฝ่ายค้านเองก็อาจจะทราบได้ว่าเหตุใด อยู่ที่ว่าจะพยายามเข้าใจในสิ่งที่ชี้แจงหรือไม่

อาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ พลเอกประยุทธ์ ในเวลานี้ไม่ใช่แค่ปมถวายสัตย์ฯ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายเรื่องโหมกระหน่ำเข้ามาโจมตีเป็นระลอก  เรียกได้ว่าขณะนี้แม้ พลเอกประยุทธ์ หายใจเข้า หายใจออก ก็อาจจะผิดหมด แม้แต่คนที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกันมาก่อน ก็กลับกลายไปเปลี่ยนขั้วเลือกข้างใหม่  ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการของรัฐบาลกันดุเดือด  จะเหลือที่ออกหน้าแทนกัน ก็เป็นเพียงกลุ่มพวกที่ได้รับประโยชน์ หรือ อานิสงค์จากนโยบายรัฐบาล และยังเห็นโอกาสที่จะได้เศษเนื้อจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อีกต่อไป

รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศหลายเดือน  แต่ดูเหมือนว่าการทำงานไม่ต่างจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะองค์ประกอบที่กำหนดกรอบของรัฐบาลยังเป็นคนกลุ่มเดิม การใช้กลไกในการบริหารจัดการก็ยังเหมือนเดิม พึ่งพาระบบราชการเป็นหลัก  ทั้งที่สถานการณ์ในภาพรวมของประเทศเปลี่ยนไปมาก  ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สังคมจะโทษรัฐบาลไปทั้งหมด เพราะปัจจัยหลักยังเป็นตัวแปรที่มาจากต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลให้วัฒนธรรมในการทำธุรกิจบางประเภทล้มครืน  แต่ปฏิกิริยาในการรับรู้การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเพื่อสกัดออกมาเป็นนโยบายในการรับมือถือว่าช้าเกินไป

ผสมปนเปเข้ากับปัจจัยอื่นๆ ที่ยากจะควบคุม  ทั้งเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน จากภัยแล้งเข้าสู่อุทกภัยน้ำท่วม แค่ชั่วข้ามเดือน ผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นคนฐานรากได้รับความเดือดร้อน ส่งผลเป็นห่วงโซ่ให้กับการบริโภคของคนในประเทศ ที่ต้องแบกรับต้นทุนต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น  ในขณะที่การรักษาสมดุลในนโยบายของรัฐ ระหว่างคนในภาคส่วนต่างๆมีผลทางจิตวิทยาต่อคนจนค่อนข้างมาก และไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยนโยบาย ลดแลกแจกแถม นำไปสู่การกระแสเสียงโจมตีรัฐบาลที่ถาถมเข้ามาเรื่อยๆ

จึงไม่แปลกที่ พลเอกประยุทธ์  จะเริ่มมองปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยนัยแห่งการเมือง และ มองว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ผ่านเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ที่พยายามปั่นกระแสทางลบ ด้วยการขยายจุดผิดพลาดบกพร่องให้กลายเป็นเรื่องใหญ่เพื่อหวังดิสเครดิตตนเอง พร้อมมีเป้าหมายในการจ้องล้มรัฐบาล เพราะฝ่ายการเมืองนั้นเสียประโยชน์นับแต่เมื่อมีการรัฐประหาร และ มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งยังอยู่ต่อด้วยการผ่านกระบวนการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกสมัย

แต่ในทางกลับกัน ก็ต้องยอมรับว่าหลังจากที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีจุดอ่อน และ มีความผิดพลาดอยู่หลายประการ มีการตั้งคำถามชี้ประเด็น เพื่อให้รัฐบาลแก้ไข แต่ดูเหมือนว่าคนใกล้ชิด หรือ กุนซือ ใกล้ตัว ไปวิเคราะห์ปรากฎการณ์ดังกล่าวว่าเป็นศัตรู หรือเป็นพวกฝ่ายเดียวกันแต่เสียประโยชน์  ติดเพียงกรอบความมั่นคง และ ยุทธวิธีทางด้านการทหาร  บดบังคำว่าติเพื่อก่อ และ กัลยาณมิตร ที่มุ่งหวังจะช่วยกันลดจุดอ่อนของรัฐบาล  เพื่อให้การเดินหน้าบริหารประเทศเป็นไปอย่างถูกต้องมั่นคง

หรือแม้กระทั่ง รูปแบบการจัดการ การให้พลเอกประยุทธ์ ออกอีเว้นท์เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับงานของ กระทรวง ทบวง กรม ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี  การลงพื้นที่เพื่อไปพบปะผู้ที่เดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม การไปตรวจราชการและต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ  ต้องลดคำว่า จัดฉาก ผักชีโรยหน้า  หรืออำนวยความสะดวกเพื่อนาย จนทำให้ข้าราชการในพื้นที่ต้องมาต้อนรับ ชาวบ้านที่เดือดร้อนต้องมาลำบากซ้ำสอง  แทนที่จะเป็นการช่วยสร้างภาพให้นายกรัฐมนตรี กลับกลายเป็นเสียงกร่นด่าตามหลังโดยที่พลเอกประยุทธ์ ก็ไม่ได้รับรู้

ในเวลานี้  จึงน่าจะเป็นห้วงเวลาที่นายกรัฐมนตรี ต้องแสวงหากัลยาณมิตรเพิ่ม ที่มาจากทั้งต่างฝ่าย และ กัลยาณมิตรเดิม ด้วยการพบปะพูดคุย ระดมความคิดเห็น รับฟัง  สร้างเครือข่ายใหม่ที่ไม่ใช่แค่กองทัพ หรือสื่อฝ่ายตัวเอง   อย่างน้อยก็เพื่อให้รู้ว่ามีคนมองรัฐบาลอย่างไร เพื่อนำไปใช้และปรับการทำงาน ไม่ถือเขาถือเรา พร้อมจะเลิกการทำงานแบบรูทีน ปรับทัพรับสถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป  เลิกฟังแต่เสียงชมเชย หรือ แค่ผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ไม่กล้าจะพูดความเป็นจริงที่เจ็บปวดให้ฟัง เพราะกลัวนายโกรธ   หากสามารถทำใจยอมรับได้ ก็เชื่อว่าจะกลายเป็นเกราะในการป้องกันตัวจากฝ่ายที่มีวาระซ่อนเร้นได้ดีกว่าการมองคนวิจารณ์อย่างหวาดระแวงไปหมด


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"