'อัยการ'ชี้ข้อกำหนดศาลรธน.ข้อ 10 ไม่เป็นไปตามหลักการและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องละเมิดอำนาจศาล


เพิ่มเพื่อน    

21 ก.ย.62 - ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เผยแพร่บทความเรื่อง "ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญเรื่องละเมิดอำนาจศาล" มีเนื้อหาดังนี้

ตามที่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562  ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 โดยบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลไว้ในข้อ 9 ถึง ข้อ 13 และมีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงข้อกำหนด ฯ ข้อ 10 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลหรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้าย หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561  มาตรา 39  นั้น ผมขอให้ความเห็นทางวิชาการเป็นการส่วนตัวในเรื่องละเมิดอำนาจศาล ตามข้อกำหนด ฯ ข้อ 10 ดังกล่าว ดังนี้

 1.หลักการของเรื่องละเมิดอำนาจศาล ต้องเป็นการกระทำในบริเวณศาล หากกระทำนอกศาลต้องเกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบกับการพิจารณาคดีที่ดำเนินอยู่ในศาล

 บทบัญญัติหลักเรื่องละเมิดอำนาจศาลของประเทศไทยตั้งแต่เดิมมา ได้บัญญัติไว้อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 30 ถึง มาตรา 33 โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 180 ก็ได้บัญญัติให้นำเอาบทบัญญัติเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล ตาม ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นเรื่องละเมิดอำนาจศาล มาบังคับใช้การพิจารณาคดีอาญาด้วยโดยอนุโลม

 หลักเกณฑ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ.ของไทย มีที่มาจากหลักการเรื่อง“Contempt of Court” (ละเมิดอำนาจศาล) ตามระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษ ถึงแม้ว่าผู้ร่าง ป.วิ.พ.ของไทยจะเป็นนักกฎหมายชาวฝรั่งเศส คือ นายริวิแยร์ (Rivière) และนายชาร์ล เลเวสก์ (Charles L’Évesque) แต่ในการยกร่าง ป.วิ.พ. ในขณะนั้นก็ได้ยกร่างโดยอาศัยบทบัญญัติกฎหมายทั้งที่เป็นระบบซีวิลลอว์ของประเทศฝรั่งเศสและระบบคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษด้วย

 โดยหลักการเรื่อง “Contempt of Court” ตามกฎหมายอังกฤษใช้บังคับกับการกระทำที่เป็นการขัดขวาง หรือแทรกแซง รบกวนการปฏิบัติหน้าที่ของศาลอันเป็นการกระทำในศาลหรือต่อหน้าศาล รวมทั้งการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล อันเป็นการกระทำนอกศาลที่มีความเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีในศาล หากเป็นการกระทำนอกศาลแต่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลก็จะไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่อาจเป็นความผิดฐานอื่นแล้วแต่กรณี ซึ่งหลักเกณฑ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ.ของไทยก็เป็นไปตามแนวทางนี้

 2. แนวคำพิพากษาศาลฎีกาไทยเรื่องละเมิดอำนาจศาล

 ศาลฎีกาไทยได้วางแนวคำพิพากษาเรื่องละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. โดยสรุปพอสังเขปได้ดังนี้

(1) กรณีที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลต้องเป็นการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2217/2537) หรือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล โดยไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องออกข้อกำหนดก่อน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2528, 1715/2548)

(2) หากเป็นการกระทำภายนอกบริเวณศาลต้องมีความชัดเจนว่าการกระทำนั้นจะส่งผลกระทบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาล เช่น การเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาเพื่อเป็นอามิสสินจ้างในการดำเนินคดี แม้การอ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษาจะกระทำนอกบริเวณศาล (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2539) การสับเปลี่ยนผู้ต้องหา แม้จะกระทำในชั้นสอบสวนก่อนมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล แต่ทำให้การดำเนินคดีในศาลไม่เป็นไปโดยเที่ยงธรรมและถูกต้อง เพราะทำให้ผู้กระทำความผิดที่แท้จริงไม่ต้องถูกลงโทษ (ฎีกาที่ 7-8/2543) จะอาศัยแต่เพียงความมุ่งหมายให้เกิดผลกระทบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3227/2542, 4498/2546 (ประชุมใหญ่))

 3. หลักเกณฑ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 10 น่าจะขัดแย้งกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 (พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญ)

พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคสองบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเพื่อปฏิบัติตามมาตรา 38 วรรคหนึ่ง ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในศาลหรือบริเวณที่ทำการศาล และเพื่อสั่งให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปโดยสงบเรียบร้อยและรวดเร็ว

หากพิจารณา พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังกล่าว จะเห็นว่าได้บัญญัติให้การออกข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีจะต้องเป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในศาลและบริเวณศาล และต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักการและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องละเมิดอำนาจศาลดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนด ฯ ข้อ 10 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นั้น มีขอบเขตการใช้บังคับที่น่าจะเกินเลยไปจากที่ พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กำหนดไว้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

(1) ใช้บังคับรวมไปถึงการกระทำอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีในศาลหรือบริเวณที่ทำการศาล และที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลด้วย

(2) ใช้บังคับกับการบิดเบือนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลหรือการวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งหากเป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้มีการชี้ขาดตัดสินคดีไปแล้ว ย่อมไม่มีกรณีของการกระทำที่จะส่งผลกระทบกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลที่จะถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอีกต่อไป เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดเด็ดขาด ไม่มีการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไปอีกแล้ว

(3) จะกล่าวว่าข้อกำหนด ฯ ข้อ 10 เป็นการบัญญัติให้สอดคล้องกับ พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า การวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยคดีที่กระทำโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยตีความกลับกันในทางตรงข้ามว่า หากกระทำโดยไม่สุจริต ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ก็ไม่ได้อีก เพราะขัดกับหลักเกณฑ์เรื่องละเมิดอำนาจศาลที่บัญญัติไว้ใน พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังกล่าว

ดังนั้น ข้อกำหนด ฯ ข้อ 10 จึงไม่เป็นไปตามหลักการและแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องละเมิดอำนาจศาลที่กล่าวมาแล้ว อีกทั้งยังน่าจะขัดกับ พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มาตรา 28 และมาตรา 38 วรรคสอง ที่บัญญัติให้การออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องและเป็นไปตาม พรป.วิศาลรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนการกระทำตามข้อกำหนด ฯ ข้อ 10 จะเป็นการกระทำความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

4. ลักษณะเฉพาะของความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลที่ไม่ต้องมีการฟ้องคดี ถ้ากระทำต่อหน้าศาล ศาลสามารถลงโทษได้ทันที

 ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดที่กระทำต่อศาล การลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลจึงย่อมเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ บุคคลอื่นจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลให้ลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2516, 1159/2526, 4600/2531, 1248/2535) หากการละเมิดอำนาจศาลได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษได้โดยไม่ต้องมีการไต่สวน เพราะข้อเท็จจริงได้ปรากฏต่อหน้าศาลแล้ว หากไม่ได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลจะต้องไต่สวนหาข้อเท็จจริงให้ได้ความว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ และศาลมีอำนาจไต่สวนหาความจริงโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเหมือนเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป เนื่องจากบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2526, 3249/2536, 2962/2547, 7988/2551)  

 การใช้อำนาจของศาลในการมีคำสั่งเรื่องละเมิดอำนาจศาลถึงแม้จะมีข้อดีในการรักษาความสงบเรียบร้อยในศาลและทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย แต่ก็อาจกระทบสิทธิในการโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดีของผู้ถูกกล่าวหาได้ หากไม่กระทำด้วยความระมัดระวังรอบคอบและอย่างเหมาะสมเป็นธรรม

 ข้อสังเกต

 เนื่องจากการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นเรื่องส่วนหนึ่งต่างหากจากความผิดทางอาญาหรือคดีอาญา ดังนั้น หากการกระทำของผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดทางอาญาด้วยในขณะเดียวกัน ผู้นั้นก็ยังคงต้องถูกดำเนินคดีอาญานั้นต่างหากอีกด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2546)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"