'อดีตแกนนำแดง' หลังพิงฝา กลับคำให้การ-รับสารภาพ


เพิ่มเพื่อน    

         มีการวิเคราะห์ปมข้อกฎหมาย-แท็กติก ที่ฝ่ายแกนนำนปช.-เสื้อแดง คือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานนปช., ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตเลขาธิการ นปช., วิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ สองอดีตแกนนำ  นปช.เลือกใช้ก่อนที่ศาลอาญาจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี เมื่อปี 2550

                ที่ใช้วิธีขอถอนคำให้การที่ปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพ ว่ากระทำความผิด หรือที่เรียกกันว่า กลับคำให้การ จึงทำให้ศาลอาญาต้องระงับการอ่านคำพิพากษา เมื่อ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา เพราะต้องส่งคำร้องไปให้องค์คณะของศาลฎีกาที่พิจารณาสำนวนดังกล่าวได้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป ด้วยเหตุนี้ ศาลอาญาจึงเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลออกไป และยังไม่มีการระบุวันเวลาที่จะอ่านคำพิพากษาอีกครั้งเมื่อใด 

                การวิเคราะห์ดังกล่าว “ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัวไว้ทันทีหลังศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษาดังกล่าว โดยชี้ประเด็นไว้ว่า

                “การกระทำของจำเลยดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนว่า ต้องการประวิงคดีให้ล่าช้า แต่ตามกฎหมายเมื่อยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาก็ต้องถือว่าคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยังมีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การใหม่ได้ แต่ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลฎีกาที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ เคยมีกรณีในลักษณะเดียวกันนี้ที่ศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตมาแล้ว คดีนี้จึงต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและรอฟังคำสั่งศาลฎีกา..ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน”

                อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาชี้ประเด็น

                “ณัฐวุฒิ–แกนนำ นปช.เสื้อแดง” ชี้แจงเหตุผลในการใช้แท็กติกนี้ในการสู้คดี โดยเปิดเผยว่า จริงๆ ได้ยื่นเรื่องถึงศาลตั้งแต่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้แจ้งกับศาลว่า การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของ นปช. เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ต่อต้านการรัฐประหาร เพื่อให้ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่เคยประสงค์ให้เกิดความรุนแรงเสียหายกับบุคคล องค์กร สถานที่ หรือสถาบันใดๆ

                “เมื่อพวกกระผมได้เสียใจและสำนึกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ก็ขอความเมตตาจากศาลได้พิจารณาลงโทษสถานเบา หากโทษนั้นยังคงเป็นการตัดสินจำคุกอยู่ ขอศาลได้โปรดพิจารณารอการลงโทษให้กับจำเลยด้วย"

                เมื่อศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษาดังกล่าวออกไป แต่น่าจะอยู่ในช่วงไม่เกินสามเดือนนับจากนี้ ก็หมายถึงก่อนสิ้นปีนี้ ก็น่าจะรู้กันว่า ผลแห่งการกลับคำให้การโดยการรับสารภาพของอดีตแกนนำ นปช.-คนเสื้อแดง ดังกล่าวจะทำให้พวกเขาไม่ต้องไปเข้าเรือนจำหรือไม่?

                หลังก่อนหน้านี้ ดคีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558 ให้จำคุกจำเลยในคดีดังกล่าว ซึ่งนอกจากอดีตแกนนำ นปช.แล้ว ก็มีนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ

                และต่อมา 10 ม.ค.2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ โดยวีระกานต์-ณัฐวุฒิ-เหวง-วิภูแถลง ศาลตัดสินจำคุกคนละ 4 ปี แต่ศาลเห็นว่าคำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 โดยยังคงจำคุกทั้งสี่คน คนละ 2 ปี 8 เดือน

                ถึงตอนนี้ จะเห็นได้ว่าคดีความต่างๆ โดยเฉพาะคดีอาญาของแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อแดง-เสื้อเหลือง-กปปส. หลายคดีรุดหน้าไปอย่างมาก คดีของบางกลุ่มเช่น อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ก็สิ้นสุดกันไปเยอะแล้ว ส่วนฝ่าย นปช. คดีใหญ่ๆ บางคดีศาลชั้นต้นก็ตัดสินไปแล้ว เช่น คดีเสื้อแดงชุมนุมใหญ่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วง 28 ก.พ.-20 พ.ค. 2553 ที่มีการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ และสี่แยกราชประสงค์ และเกิดการสลายการชุมนุมตามมา และจากนั้นก็มีการดำเนินคดีและยื่นฟ้องแกนนำ นปช.หลายคนในข้อหา “ก่อการร้าย”

                คดีก่อการร้ายดังกล่าว ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวไปเมื่อ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่นำสืบมาไม่มีพยานใดยืนยันว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ที่จะมีเจตนาพิเศษถึงขนาดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพียงแต่นำสืบฟังได้ว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง ที่เป็นกรณีความขัดแย้งของการเมืองไทย

                ส่วนคดีที่ถึงที่สุดแล้วอีกหนึ่งคดีคือ คดีอดีตแกนนำเสื้อแดง 13 นปช. ถูกอัยการยื่นฟ้อง ฐานร่วมกันชุมนุมบุกรุกไปยังโรงแรมรอยัลคลิฟ บีช พัทยา จนทำให้การประชุมอาเซียนซัมมิตเมื่อปี 2552 ต้องล้มเลิกกลางคัน ซึ่งคดีดังกล่าวศาลจังหวัดพัทยาได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาไปเมื่อ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา แต่วันดังกล่าวมีเพียง ศักดา นพสิทธิ์ อดีตแกนนำ นปช.ชลบุรี มาฟังคำพิพากษาคนเดียว ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาก็พิพากษาจำคุก 4 ปีในความผิดฐานร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนตามประมวลกฎหมายอาญาฯ ส่วนจำเลยคนอื่นไม่ได้มา ศาลจึงออกหมายจับและนัดจำเลยคนอื่นฯ มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาอีกครั้ง 31 ต.ค.นี้

                โดยคดีแกนนำ นปช.บุกพังการประชุมอาเซียนซัมมิตฯ มีอดีตแกนนำ นปช.-นักการเมืองดังหลายคนถูกฟ้องเป็นจำเลย เช่น นิสิต สินธุไพร-วรชัย เหมะ-อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง รวมถึง พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร พลังประชารัฐ ส.ส.หนึ่งเดียวจากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งก็ไม่แน่ว่าถึงวันที่ 31 ต.ค. จะมีจำเลยมาครบหรือไม่?

                ทั้งหมดคือชะตากรรมของอดีตแกนนำ นปช. ที่บางคนก็ได้มีเวลาพักหายใจ ยังได้ต่อเวลาลุ้นคดีออกไปอีกสัก 3-4 เดือน ขณะที่บางคนแม้ได้ต่อเวลาออกไป แต่ก็ทำใจยอมรับสภาพกันแล้ว ว่าอะไรก็จะเกิด มันก็ต้องเกิด.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"