ขีดเส้น15 ต.ค.นี้ CP เซ็นสัญญารถไฟเชื่อมสามสนามบิน ไม่มาสั่งริบเงินประกัน และดึง BTS เสียบ


เพิ่มเพื่อน    

24 ก.ย. 2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี (กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม) เป็นประธานการประชุมพิจารณาในเรื่องกรอบการหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ว่า ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. เป็นประธาน จัดการประชุมวันที่ 27 ก.ย. 2562 เวลา 16.00 น. และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) พิจารณาที่จะมีการประชุมในวันที่ 30 ก.ย.นี้ พร้อมทำหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) หรือผู้ยื่นข้อเสนอมาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ตุลาคม 2562

ทั้งนี้ ถ้า CPH มาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ให้ดำเนินการตามสัญญาการก่อสร้างกรอบระยะเวลา 5 ปี ในส่วนที่ติดปัญหาเรื่องของการส่งมอบพื้นที่นั้น สามารถแจ้งคู่สัญญา เพื่อขอขยายระเวลาออกไปได้ ขณะที่กรณีที่ CPH ไม่มาลงนามสัญญาตามวันที่กำหนดไว้ จะถูกริบหลักประกันซองมูลค่า 2,000 ล้านบาทตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยจะพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ พร้อมทั้งขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) เนื่องจากโครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ของประเทศ จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 คือกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่มีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS มาเจรจาต่อไป ขณะเดียวกัน หากมีการเจรจากับรายที่ 2 แล้วสามารถตกลง พร้อมลงนามสัญญาได้นั้น CPH จะต้องชดเชยราคาส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น จากราคาของ CPH และ BTS ที่เสนอราคาต่างกัน

“ในที่ประชุมดังกล่าวนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request For Proposal หรือ RFP) ทั้งหมดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์และพร้อมที่จะลงนามในสัญญา เพราะฉะนั้นถ้าทำตาม RFP ควรจะลงนามได้แล้ว ซึ่งเอกสาร RFP ก็ศึกษามาก่อนที่จะยื่นราคาอยู่แล้ว เพราะมีเงื่อนเวลาที่การยืนยันราคาของทั้ง 2 ราย จะครบกำหนดในวันที่ 7 พ.ย. 2562 ถ้าไม่ทำตามกรอบเวลาก่อน 7 พ.ย.นี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯจะต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ทั้งนี้ ไม่ต้องกังวลว่ารัฐมาเอาเปรียบหรือกลั่นแกล้งเอกชน ในส่วนที่เอกชนขอเวลาเพิ่ม 3 สัปดาห์นั้น ได้รับรายงานมาว่า ติดเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ และการหาแหล่งเงินกู้” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนั้น ถือเป็นโครงการลงทุนที่สำคัญในพื้นที่ EEC ซึ่งกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลจะดูและให้การดำเนินการประเทศต้องได้ประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าโครงการดังกล่าว จะไม่มีเรื่องของค่าโง่อย่างแน่นอน สำหรับประเด็นเรื่องการเวนคืนที่ดินที่จะต้องออกหนังสือเริ่มต้นทำงาน (Notice To Proceed : NTP) ของโครงการให้เอกชนหลังจากการลงนาม 1 ปีนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตามรายละเอียดในเอกสาร RFP ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณใด สามารถยื่นเสนอขอขยายกรอบระยะเวลาออกไปได้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในการประชุมดังกล่าวในวันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น ประกอบด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC), นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และนายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"