มูลค่า ‘พระเครื่อง-ของขลัง’ สูงเวอร์ เผย ‘ช่องโหว่’ มาตรการป้องกัน ‘โกง’


เพิ่มเพื่อน    

 สุดท้ายอาจทำได้แค่ “เฝ้าระวัง” อย่างที่ "วรวิทย์ สุขบุญ" เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุ สำหรับกรณีที่ "ศรีสุวรรณ จรรยา" เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ "คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังไทยรักไทย และ "มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศิวิไลย์ กรณีแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ

                สืบเนื่องมาจากนายคฑาเทพแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ว่า ถือครอง “โคตรเหล็กไหล” มูลค่า 700 ล้านบาท และ “มหาเหล็กไหล” มูลค่า 300 ล้านบาท รวม 2 อัน สูงถึง 1,000 ล้านบาท

                ขณะที่ "มงคลกิตติ์" แสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ว่า มีทรัพย์สิน​ 192,902,325 บาท​ และมีหนี้สิน​ 19,168,813 บาท​ ซึ่งพบว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นพระเครื่อง รวมมูลค่า 147,650,000 บาท

                มูลค่าพระเครื่องที่ มงคลกิตติ์ แจกแจงระบุว่า มีกริ่งปวเรศทองคำ หนัก 3 บาท มูลค่า 50,000,000 บาท พระร่วงหลังรางปืน จ.สุโขทัย เลี่ยมทองคำ 2 บาท มูลค่า 12,000,000 บาท พระสมเด็จไกเซอร์ เลี่ยมทองคำ 2 บาท มูลค่า 30,000,000 บาท พระพุทธชินราชใบเสมา เลี่ยมทองคำ 2 บาท มูลค่า 2,540,000 บาท พระสมเด็จวัดระฆัง เลี่ยมทองคำ 1 บาท มูลค่า 40,020,000 บาท พระรอดลำพูน เลี่ยมทองคำ 1 บาท มูลค่า 10,020,000 บาท พระคงลำพูน เลี่ยมทองคำ 1 บาท มูลค่า 320,000 บาท พระลือหน้ามงคล เลี่ยมทองคำ 1 บาท มูลค่า 420,000 บาท พระยอดธง มูลค่า 2,000,000 บาท พระพิฆเนศโบราณ เลี่ยมทองคำ 1 บาท มูลค่า 320,000 บาท ครุฑทองคำ ทองคำ 0.5 บาท มูลค่า 10,000 บาท

                ขณะนี้สังคมคลางแคลงสงสัยอยู่มี 2 ประเด็น คือ พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง ของ คฑาเทพ และ มงคลกิตติ์ เป็นของจริงหรือไม่ และมูลค่าสูงเกินจริงหรือไม่

        อย่างกรณี “โคตรเหล็กไหล” และ “มหาเหล็กไหล” หากตัดมูลค่าของเครื่องราง-ของขลัง ชนิดดังกล่าวออก นายคฑาเทพจะมีทรัพย์สินเหลือเพียง 112,531,135 บาทเท่านั้น

                เช่นเดียวกับพระเครื่องของนายมงคลกิตติ์ ที่เซียนพระมองว่า บางองค์เป็น “ของปลอม” และราคาที่แท้จริงในตลาดพระไม่สูงดังที่มีการแจ้งไว้ และหากตัดมูลค่าพระเครื่องออกไป 147,650,000 บาท เขาจะเหลือทรัพย์สินเพียง 45,252,325 บาท จากบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งเอาไว้ว่า มี 192,902,325 บาท​

                 หลายคนตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานาว่า การแจ้งเอาไว้ลักษณะนี้เป็นการฟอกเงิน หรือปั่นราคาหรือไม่ และสนับสนุนให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ

         อย่างไรก็ตาม ถือเป็นกรณีใหม่ของ ป.ป.ช. แม้การยื่นทรัพย์สินประเภทพระเครื่องจะมีขึ้นมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมานั้นส่วนใหญ่บุคคลที่มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มักนิยมที่จะระบุตรงมูลค่าว่า “ประเมินราคาไม่ได้” กับ ราคาตอนที่ได้มา ส่วนใหญ่จะอิงราคาตลาดพระ หรือราคาตอนได้มา

        ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบพระเครื่องแต่ละองค์ว่า องค์ใดเป็นของแท้ ของจริง เพราะถือว่าผู้ยื่นได้แสดงมาแล้วว่า มีทรัพย์สินใดบ้าง

                 แต่พลันที่เกิดกรณีของนายคฑาเทพ และนายมงคลกิตติ์ จะเป็น “การบ้าน” ชิ้นใหม่ของ ป.ป.ช.แน่นอน เพราะอาจเป็นช่องให้มีการฟอกเงินและปั่นราคาอย่างที่สังคมกังวล

                 ทว่า การจะเอาผิดทั้ง 2 คนว่า แสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จนั้น อาจจะยากในทางปฏิบัติ เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.ในปัจจุบันไม่ได้บัญญัติ หรือมีบรรทัดฐานกรณียื่นทรัพย์สินราคา “โอเวอร์” เอาไว้

                 ในอดีตเคยมีคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และศาลฎีกาพิพากษา นายนิพัทธ พุกกะณะสุต อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และยึดทรัพย์ จำนวน 49 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยเงินจำนวนดังกล่าว นายนิพัทธเคยชี้แจงที่มาของเงินว่า ส่วนหนึ่งขายเหรียญรัชกาลที่ 5 ได้ 30 ล้านบาท แต่ ป.ป.ช.ไม่เชื่อ เพราะราคาสูงเกินจริง

                 หากแต่คดีนี้ไม่ได้ตั้งต้นว่า สูงเกินจริง แต่เกิดจากกรณี นิพัทธ ถูกร้องเรียนว่า เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนจนชนะการประมูลสัญญาพัฒนาที่ราชพัสดุ ก่อนจะพบว่ามีเงินฝากในบัญชีงอกเข้ามา 49 ล้านบาท ซึ่ง นิพัทธ อ้างว่ามาจากการขายที่ดิน และขายเหรียญรัชกาลที่ 5 มูลค่า 30 ล้านบาท

                 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สามารถตรวจสอบได้ โดย วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เคยให้ความเห็นไว้ว่า ก่อนอื่นจะต้องตรวจสอบก่อนว่า เป็น “ของจริง” หรือไม่ และไปดูว่าราคาสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วย

                 ขณะที่ท่าที ป.ป.ช.ดูเหมือนว่า แนวโน้มอาจจะทำได้แค่ “เฝ้าระวัง” ไปก่อน และไปหามาตรการล้อมคอกกันต่อจากนี้แทน

        แต่จะเริ่มทำเลยหรือไม่ ต้องติดตาม เพราะการสร้างมาตรการเรื่องนี้ อาจจะสร้าง “งานเพิ่ม” ให้กับ ป.ป.ช. เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีหน้าที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินคนอื่นๆ ต่างยื่นทรัพย์สินประเภทพระเครื่อง และเครื่องรางของขลังเอาไว้จำนวนมาก ที่สำคัญเรื่องมูลค่าบางครั้งเป็นเรื่องของความพึงพอใจ

        มันจึงอาจยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"