หงุดหงิดแก้รธน.60 ‘ประยุทธ์’ถามไทยกลุ่มไหนเรียกร้อง/‘ปชป.-ภท.’กั๊กฟังปชช.


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" เมินฝ่ายค้านชงถือธงนำแก้รัฐธรรมนูญ บอกมีธงเดียวคือทำตาม กม. ถามอ้างสังคมเรียกร้องกลุ่มไหนใช่คนไทยทั้งประเทศหรือเปล่า "อนุทิน" ย้ำ "ภท." ไม่ถ่วงแก้ รธน. แต่ต้องเพื่อประโยชน์ประชาชนไม่ใช่นักการเมือง "ปชป." ข้องใจเจตนาพวกเดินสายปลุกระดม ปชช. "อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา" ถาม "อนค.-พท." จะแก้ รธน.มาตรา 1 ล้มราชอาณาจักรไทยหรือไม่ 

    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 1 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงจุดยืนของรัฐบาลต่อแนวคิดการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีอะไรเลย ยังไม่รู้ว่าจะตอบอะไร ก็เป็นเรื่องของขั้นตอน ซึ่งเคยบอกแล้วว่าการแก้ปัญหาก็ต้องไปแก้ไขในมาตรา 265 ที่เขียนไว้ ซึ่งฝ่ายที่ต้องการให้แก้ ก็ขอให้แก้ในมาตรา 265 ที่เป็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามขั้นตอน 
    "เรื่องนี้ต้องไปว่าตามขั้นตอน ถ้าทำได้ก็ทำกันไป ผมไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น แต่ต้องไปดูว่าจะต้องมีการทำประชามติด้วยหรือเปล่า ซึ่งทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนและมีระยะเวลาที่กำหนดอยู่  ส่วนเรื่อง กมธ.ก็ว่ากันไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ถามว่า ฝ่ายค้านต้องการให้นายกฯ ถือธงนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่มีธง ธงของตนคือจะทำอะไรก็ตามต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามขั้นตอนและรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เพิ่งมีผลบังคับใช้ได้ไม่นาน ถ้าจะแก้ไขก็ต้องทำตามขั้นตอน
    พอถามว่า เหตุที่ฝ่ายค้านต้องการให้นายกฯ ถือธงนำ เพราะสังคมมองว่าจะสามารถขอความร่วมมือจาก ส.ว.ในสภาได้  นายกฯ ย้อนถามว่า สังคมไหน ถ้าใครทำได้ก็ไปทำมา ตนคงไม่ไปนำธงอะไรทั้งสิ้น 
    "ที่พูดว่าสังคมต้องการ บางครั้งก็ต้องถามกลับว่าเป็นสังคมของกลุ่มไหน หรือประชาชนที่ว่าเป็นประชาชนกลุ่มไหน หรือพรรคการเมืองไหน ใช่คนทั้งประเทศหรือเปล่า ไปหามา" นายกฯ กล่าว
    ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธว่ายังไม่ทราบเรื่องที่ 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและมอบธงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน 
    "ธงดังกล่าวมีกฎหมายรองรับหรือไม่ ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับก็ไม่น่าจะผูกมัดอะไร ส่วนที่ฝ่ายค้านเดินสายรณรงค์ปลุกระดมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ว่ากันไป แล้วแต่ประชาชน" พล.อ.ประวิตรกล่าว
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวเรื่องฝ่ายค้านเดินสายรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องไปดูฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ซึ่งในส่วนของพรรคภูมิใจไทยจะเน้นในเรื่องของทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และประเทศชาติได้อะไร หากเป็นไปตามทั้งสองอย่างนี้พรรคภูมิใจไทยก็ไม่มีปัญหาที่จะแก้ไข แต่จะต้องดูเสียงส่วนใหญ่ด้วย 
    "ยืนยันเราจะไม่เป็นตัวถ่วง ซึ่งอันไหนที่เป็นประโยชน์รัฐบาลก็ต้องรับฟัง สิ่งไหนที่เป็นอุปสรรคก็ต้องมานั่งพูดคุยกัน" นายอนุทินกล่าว
ย้ำแก้ รธน.ต้องเพื่อ ปชช.
    ซักว่าถึงเวลาที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ หัวหน้าพรรค ภท.กล่าวว่า ตนเน้นในเรื่องการทำงานให้ประชาชน ไม่ได้ไปกังวลกับเรื่องที่จะต้องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวถ่วง ซึ่งจะต้องมาพูดคุยกัน แต่ในช่วงหาเสียงพรรคภูมิใจไทยไม่ได้หาเสียงในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    “ถ้าแก้ไขแล้วประชาชนได้ประโยชน์ใครๆ ก็อยากแก้ แต่ถ้าแก้แล้วไปเพิ่มอำนาจให้นักการเมือง  หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เป็นเพียงเพิ่มความสะดวกให้กับนักการเมือง ก็ไม่ต้องกระตือรือร้นที่จะไปทำอย่างนั้น” หัวหน้าพรรค ภท.กล่าว
    ถามถึงกรณี 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและมอบธงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน นายอนุทินกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว ในส่วนของฝ่ายค้านก็ถือเป็นผู้แทนของประชาชน ถ้าเขาจะมายื่นก็เป็นสิทธิของเขา
    ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ขัดข้องในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลเองก็มีนโยบายอยู่แล้ว แต่จะแก้ประเด็นไหนค่อยมาดูกัน และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพูดคุยกัน 
    "การเดินสายของฝ่ายค้านในขณะนี้ต้องไปดูว่าเขาไปพูดในประเด็นไหน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพูดให้ชัดว่าแก้ไขประเด็นไหน ต้องเห็นพ้องกันถึงจะแก้ได้" นายนิพนธ์กล่าว
    รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า การที่ฝ่ายค้านจะมอบธงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน ก็ต้องดูเจตนาของฝ่ายค้านด้วยว่าเขาหวังที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือหวังที่จะใช้เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นประเด็นการเมือง ซึ่งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลก็เขียนไว้ในนโยบายชัดเจนอยู่แล้วว่าสนับสนุนการแก้ไข การศึกษา ส่วนจะกำหนดว่ามีประเด็นใดบ้างนั้น ก็ต้องมาพูดคุยกัน เพราะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่จะไปชี้ได้ว่าต้องเอาอย่างนั้นอย่างนี้ 
    "เราต้องฟังเสียงของประชาชน ซึ่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลพูดชัดเจนในการแถลงนโยบายว่าจะมีการศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ" รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว 
    ถามถึงการที่ฝ่ายค้านเดินสายปลุกระดมประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทบต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลหรือไม่ นายนิพนธ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล และคิดว่าประชาชนแยกแยะได้ และรัฐบาลก็ไม่ได้ละเลย เพราะเรื่องนี้ก็อยู่ในสภาอยู่แล้ว และมีสมาชิกเสนอญัตติไว้ในสภา รอที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเท่านั้น ฉะนั้นเรื่องต่างๆ ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้แถลงไว้ต่อประชาชน
    ซักว่าส่วนตัวมองเรื่องนี้น่าจะมีนัยซ่อนเร้นอะไรของฝ่ายค้านหรือไม่ นายนิพนธ์กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าถ้าไม่มีนัยซ่อนเร้นอะไรก็สามารถนำมาพูดคุยกันในสภาได้อยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้ทุกคนทราบดีว่าแต่ละพรรคเสนอญัตติไปในสภาแล้ว รอการพิจารณาเท่านั้น เปิดสภาเมื่อไหร่เรื่องนี้คงได้พิจารณากัน ดังนั้นการที่จะไปเคลื่อนไหวอะไรกันข้างนอกในทางการเมือง มีสิทธิ์ทำ แต่เจตนามันคืออะไร
    ขณะที่นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ระบุว่า ข่าว 7 พรรคฝ่ายค้าน ไปรับความคิดเห็นของประชาชนที่จังหวัดปัตตานี โดยได้พูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และมีอาจารย์หญิงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า ควรจะแก้มาตรา 1 ด้วย มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้  คำว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร" มีความหมายอยู่ในตัวว่าต้องมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จี้'อนค.'แก้มาตรา1หรือไม่
    นายชูชาติกล่าวว่า คงจำกันได้ว่าก่อน คสช.เข้ามายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน มวลชนเสื้อแดงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเคยประกาศจะจัดตั้ง สปป.ล้านนา แยกออกจากราชอาณาจักรไทยมาแล้ว เมื่อพิจารณาถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ที่ว่า พรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ก็กล่าวว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะเฮงซวยทุกมาตรา
    "จึงน่าสงสัยว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่จะแก้มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ให้ประเทศไทยมีระบอบการปกครองระบอบไหน และยังมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่" อดีตผู้พิพากษาศาลฎีการะบุ
    วันเดียวกัน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แจกหนังสือเล่มใหม่ที่ได้เขียน ชื่อ "ลงเรือแป๊ะ" ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ ครม.ทุกคน โดยเลขาธิการ ครม.เป็นผู้แนะนำเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวกับ ครม. ขณะที่นายกฯ ได้ระบุสั้นๆ ว่า "ผมก็ไม่รู้ว่าท่านจะเขียน"  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือ "ลงเรือแป๊ะ" เป็นผลงานเขียนเล่มล่าสุดของนายวิษณุ มีเนื้อหาเล่าถึงการทำงานและเรื่องราวต่างๆ ในการดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาล คสช. นับตั้งแต่หลังวันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ส่วนคำว่า "เรือแป๊ะ” นั้น นายวิษณุกล่าวครั้งแรกในการบรรยายให้กับสภานิติบัญญัติเมื่อปี 2557 โดยระบุว่า "ประเทศเรามักเรียกว่ารัฐนาวา นายกฯ เป็นกัปตัน สำนวนไทยโบราณเปรียบเทียบว่า “ลงเรือแป๊ะ ตามใจแป๊ะ” คสช.คือแป๊ะ ฉะนั้นจะทำอะไรก็ช่วยชำเลืองดูแป๊ะหน่อย”
    มีรายงานว่า ในช่วงวันที่ 21-24 ต.ค.2562 พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดการเข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษกจักรพรรดิญี่ปุ่น ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมอบหมาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกฯ แทน และเป็นประธานประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 24 ต.ค.2562
    ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวันที่ 17 ต.ค.นี้ว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งการกำหนดเวลาประชุมวาระแรก ได้ออกระเบียบวาระการประชุมเบื้องต้นไว้  2 วัน คือวันที่ 17-18 ต.ค.นี้ แต่ถ้าเวลาไม่มากพอ ก็สามารถขยายเวลาออกไปอีกเป็นวันที่ 19 ต.ค.ก็ได้ เนื่องจากเราไม่ได้มีสภาที่มาจากการเลือกตั้งมานาน ดังนั้นพยายามจะให้เวลาสมาชิกในการอภิปราย แต่จะต้องหารือกับประธานวิปรัฐบาลและประธานวิปฝ่ายค้านอีกครั้งในการกำหนดเวลาและการอภิปรายของสมาชิก เพราะยังมีเวลาอีกครึ่งเดือน
    ถามว่า จะใช้เวลา 5 วันตามที่ฝ่ายค้านขอมาหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เท่าที่ผ่านมา การพิจารณาในวาระแรกไม่เคยใช้เวลาถึง 5 วัน แต่ในวาระที่สอง อาจใช้เวลาประมาณ 5 วันได้ หากสมาชิกพูดทุกคน คนละ 10 นาที อย่างน้อยก็ใช้เวลา 3-4 วัน แต่พอเวลาจริงๆ ก็อาจมีสมาชิกบางคนขอถอนการแปรญัตติ.    


     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"