ปัดฝุ่นแท่ง พงส.-สมัครใจย้าย สตช.เร่งแก้ปัญหาฆ่าตัวตาย


เพิ่มเพื่อน    

          หัวใจของตำรวจคือ “พนักงานสอบสวน” เป็นกระดุมเม็ดแรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา  ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนในกระบวนการเบื้องต้น แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมากระดุมเม็ดแรกกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่ง คสช.ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 ก.พ.2559 ยกเลิกหลักการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตำแหน่งพนักงานสอบสวน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2547  หรือ “ยุบแท่งพนักงานสอบสวน”

                 คำสั่ง ม.44 ให้ผู้กำกับสายงานสอบสวน ผู้เชี่ยวชาญด้านงานสอบสวนหายไปจากสถานีตำรวจหลายร้อยอัตรา ถูกนำไปแขวนตามกองบัญชาการ (บช.) กองบังคับการ (บก.) ต่างๆ กลายเป็นพนักงานสอบสวนว่างงาน บางส่วนย้ายไปอยู่งานสืบสวน (สส.) งานป้องกันปราบปราม (ปป.) งานจราจร (จร.) จึงเกิดปัญหาขาดแคลนพนักงานสอบสวนอย่างมาก ซึ่งปกติตำแหน่งพนักงานสอบสวนก็ขาดอยู่แล้ว จึงเป็นปัญหาใหญ่ เสมือนมะเร็งลุกลามไปทั่วร่าง

                ซึ่งเดิมที “แท่งพนักงานสอบสวน” การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในสายงานสอบสวน พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 2547 ระบุไว้ว่า “ตั้งแต่รองสารวัตรถึงผู้บังคับการ ในแต่ละขั้นจะต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติ คุณภาพ และปริมาณ รวมถึงอายุงาน ซึ่งหากครบถ้วนก็จะต้องสอบภาคทฤษฎี จึงจะได้เลื่อนตำแหน่ง” ทำให้พนักงานสอบสวนที่เติบโตมามีความเชี่ยวชาญ ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามแก้ไขปัญหาให้ผู้ที่มีคุณวุฒิเนติบัณฑิตหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกสายที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์สมัครหรือโอนย้ายเป็นพนักงานสอบสวน ก็ไม่มีใครอยากมา ยิ่งแก้เหมือนยิ่งยุ่ง

                ตอกย้ำความล้มเหลว สำนักงานกำลังพลให้เกลี่ย รอง สว.ป.ที่เกินกรอบตำแหน่ง รอง สวป.ที่วิเคราะห์ได้ไปเป็นตำแหน่ง รอง สว.สอบสวน 3,500 ตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความเหมาะสมกับปริมาณงานของแต่ละสถานี จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เมื่อคลิป ภาพถ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจ รอง สวป.จับฉลากเพื่อหนีงานสอบสวน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าพนักงานสอบสวนที่เป็นตำแหน่งเฉพาะทางจะถึงคราต้องจับฉลากยัดเยียดให้เป็น จนเป็นขี้ปากของคนในแวดวงราชการด้วยกัน

                คำสั่งดังกล่าวเป็นเหมือน “คำสั่งตาย” เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับ รอง.สวป.ที่ถูกโยกย้ายมาเป็นพนักงานสอบสวนทำ “อัตวินิบาตกรรม” ศพแล้วศพเล่า ด้วยความไม่เชี่ยวชาญในสายงานสอบสวน ข้อกฎหมาย บางคนแทบไม่เคยทำสำนวนมาก่อน กรรมตกไปถึงครอบครัว เสาหลักต้องมีอันเป็นไป เช่นเดียวกันกับครอบครัว “สุชาติพงษ์” เมื่อ ร.ต.อ.พิเชษฐ์ สุชาติพงษ์ รอง สว.สอบสวน สภ.บ้านมาบอำมฤต จ.ชุมพร ยิงตัวตาย เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผลการสอบสวนหาสาเหตุ พบเหตุมาจากถูกย้ายมาจาก รอง สวป. เกิดความเครียดเพราะไม่เคยทำงานด้านสอบสวนมาก่อน ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ยังไม่เป็น

                ขณะที่รายล่าสุด วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ร.ต.อ.สุพจน์ สุขเกษม รอง สว.สอบสวน สภ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร ใช้อาวุธประจำกายยิงตัวเองเสียชีวิตคาเครื่องแบบหน้าเสาธงโรงพัก ภรรยาชี้เกิดความเครียดหลังจากถูกโยกย้ายจากงานปราบปรามมาอยู่งานสอบสวน จากที่เป็นคนร่าเริง รักครอบครัว กลับเป็นคนละคน เงียบ เก็บตัวบ่นให้ฟัง “เป็นงานไม่ถนัด พิมพ์ดีดก็ไม่ค่อยจะเป็น” แต่กลับถูกย้ายมาเป็นพนักงานสอบสวน

                แต่ในทางกลับกัน “โฆษก ตร.” ทำได้แต่เพียงกวาดขยะซุกในใต้พรม แจงสาเหตุการฆ่าตัวตายอาจมาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาส่วนตัว ปัญหาหนี้สินของแต่ละบุคคล ความเครียด โรคส่วนตัว แต่ปฏิเสธได้ไม่เต็มปากยอมรับการถูกโยกย้ายอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ทาง ตร.พยายามแก้ไขกำชับให้ผู้บังคับบัญชาสอดส่องดูแลลูกน้อง หรือถ้าใครมีปัญหาที่อาจเกิดจากความเครียด ภาวะซึมเศร้า สามารถปรึกษากับแพทย์ รพ.ตำรวจ ที่เปิดสายด่วนให้คำปรึกษา

                ขณะที่ พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน ยื่นหนังสือด่วนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้รีบแก้ปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเพื่อดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน ก่อนที่จะเกิดความสูญเสียรายต่อไป

                งานนี้ถ้า “หัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก” “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่นั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 ได้เชิญตัวแทนพนักงานสอบสวนทั่วประเทศจำนวน  300 คน ร่วมการสัมมนา "การพัฒนางานบริหารบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวน" เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาและข้อเสนอแนะ ทั้งกระบวนการสรรหาบุคลากรเพื่อทำหน้าที่พนักงานสอบสวนทุกระดับ, การฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานสอบสวน, ระบบสนับสนุนงานสอบสวนและการสร้างแรงจูงใจ, การหมุนเวียนพนักงานสอบสวนไปทำหน้าที่อื่น เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของพนักงานสอบสวน

                 “บิ๊กแป๊ะ” ยอมรับว่าประเด็นการ “ฆ่าตัวตาย” เป็นส่วนหนึ่งในการหารือ และที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายผู้มาเป็นพนักงานสอบสวน “ผิดฝาผิดตัว” พร้อมเตรียมปัดฝุ่น "แท่งพนักงานสอบสวน” รับปัญหาเกิดตรงไหนต้องแก้ตรงนั้น โดยหมอบหมายให้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบ แก้ปัญหา 3 ระยะ “เร่งด่วน-กลาง-ยาว" การ “โยกย้าย พงส.” จึงเป็นโจทย์ข้อแรกที่ต้องหาคำตอบให้ถูก

                1 ต.ค.62 พล.ต.อ.จักรทิพย์มีหนังสือวิทยุในราชการด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 ก.ย. ถึง ผบช.น. ภ.1-9 ก. ปส. สตม. และ สกพ. จตช. รองผบ.ตร. และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ใจความว่า 1.ตร.จัดการสัมมนาการพัฒนาการบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวนในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย. เพื่อระดมความคิดเห็นจากข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานในสายงานสอบสวน ซึ่งได้ผลสรุปหลายประการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานของ ตร.

                2.เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของ ตร. ในระยะเร่งด่วนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงให้ทุกหน่วยสำรวจรายชื่อข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรสายงานสอบสวนในสังกัด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากสายงานอื่น รวมทั้งสอบถามข้าราชการตำรวจดังกล่าวว่ามีผู้ใดสมัครใจขอรับการแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งนอกสายงาน โดยให้ส่งบัญชีรายชื่อพร้อมบันทึกสมัครใจขอรับการแต่งตั้งมายัง ตร. ภายในวันที่ 10 ต.ค.2562

                 นับว่ายังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ ผบ.ตร. ลงมาดูแลปัญหาด้วยตัวเอง แต่ต้องเกาให้ถูกที่คัน เพราะนี่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเร่งด่วนเพิ่มออกซิเจนให้มีลมหายใจต่อ ส่วนการปัดฝุ่นแท่งพนักงานสอบสวนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคุยกันอีกยาวๆ เพราะกว่าพนักงานสอบสวนจะมีโครงสร้างของเขาเอง มีการศึกษาคิดวิเคราะห์ใช้เวลาอยู่หลายปี แต่มาล้มครืนเพียงคำสั่ง ม.44 พนักงานสอบสวนให้คุณให้โทษทางอาญาได้ บุคคลที่จะมายืนอยู่ตรงนี้คือเปรียบเหมือน “หัวใจ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หัวใจต้องเข้มแข็ง ร่างกายต้องแข็งแกร่ง วัดใจหมอ “แป๊ะ” จะให้ยาถูกอาการหรือเพียงเลี้ยงไข้พอให้มีลมหายใจ.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"