เครือข่ายคนจนรวมพลังรณรงค์ ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ คึกคัก ยื่นข้อเรียกร้องแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบท


เพิ่มเพื่อน    

กรุงเทพฯ / เครือข่ายสลัม 4 ภาคและขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมจัดงานรณรงค์ ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2562’ มีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน  ยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งในเมืองและชนบท  ขณะที่สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์ตลอดเดือนตุลาคมนี้  ชูประเด็น ‘บ้านมั่นคง บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง’  โดยจะมีพิธีเปิดงานวันที่ 10 ตุลาคมนี้ที่สถาบันพัฒนาองค์ชุมชนฯ  มีรองนายกฯ จุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์ เป็นประธาน พร้อมผู้แทนชุมชนและนานาชาติ 350 คนเข้าร่วมงาน

 

วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปี  องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ (World Habitat  Day)  เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต 

 

ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม  ในประเทศไทยมีการรณรงค์เคลื่อนไหวของภาคประชาชน  โดย  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ฯลฯ  นำประชาชนที่เดือดร้อนทั่วประเทศที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินประมาณ 2,000 คน  ตั้งขบวนจากหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเพื่อเดินทางมายื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยจุดแรกยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. 

 

น.ส.สมบุญ คงคา  ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค  ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องให้แก่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.  มีเนื้อหาว่า  กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น  มีผู้ไร้ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยจำนวนมาก จึงต้องการให้กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญต่อประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัย  และต้องการให้รัฐบาลทำตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

 

 “ข้อเรียกร้องที่ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค เรียกร้องต่อกรุงเทพมหานคร  คือ  1.ต้องการให้กรุงเทพมหานครออกแบบบ้านคนจนที่ใช้ปลูกสร้างในโครงการบ้านมั่นคง  ในราคาหลังละไม่เกิน 150,000 บาท  เพื่อให้คนจนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  และจัดให้มีการลงทะเบียนชุมชนที่มีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ 100 หลังที่อยู่ในโครงการบ้านมั่นคง”  ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าว

 

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน  ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวหลังจากรับหนังสือข้อเรียกร้องว่า  กรุงเทพมหานครพร้อมให้การดูแลและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนทุกด้านทุกกลุ่ม  สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นมาตนจะนำไปศึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่าสามารถให้ความช่วยเหลือได้มากน้อยเพียงใด  และจะนัดหารือกับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาคเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้แทนองค์การสหประชาติ  สำนักงานประเทศไทย

 

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมชนได้เคลื่อนขบวนมายื่นหนังสือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงคมนาคม   สำนักงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย  และรัฐบาลไทยบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล  ถนนราชดำเนินนอก   โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับหนังสือ  พร้อมด้วยนางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และนายสมชาติ  ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

 

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของเครือข่ายสลัม 4 ภาคมีประเด็นสำคัญ   เช่น  1.ชุมชนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบทางรถไฟ  จำนวน 260 ชุมชนทั่วประเทศ  ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับโดยให้ชุมชนเช่าอย่างถูกต้อง  ให้ยุติการดำเนินคดีกับชุมชน  และให้ รฟท.จัดหางบประมาณสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ที่ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลรวม 9 ประเด็น  เช่น  ด้านสิทธิและเสรีภาพ   ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.และคำสั่งคณะปฏิวัติทุกฉบับที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชน  ด้านการกระจายอำนาจ  ให้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

 นายเทวัญ  ลิปตพัลลภ  รมต.ประจำสำนักนายกฯ รับข้อเรียกร้อง

 

นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม  กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ตามข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.โฉนดชุมชน, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, มาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินที่เหมาะสมกับการทำเกษตรถูกใช้ไปดำเนินการผิดประเภท   สิทธิในการจัดการดูแลทรัพยากรที่ดินโดยชุมชน  ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน  ออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนยึดครองประเทศ  ฯลฯ

 

การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนจนเมือง  รัฐบาลต้องมีนโยบายในการนำที่ดินรัฐประเภทต่างๆ มาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัย รองรับคนจนเมืองในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน   รัฐต้องมีนโยบายอุดหนุนช่วยเหลือด้านงบประมาณในการจัดที่อยู่อาศัย และพัฒนาสาธารณูปโภคกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเมือง

 

นโยบายด้านรัฐสวัสดิการ ด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน  การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  ดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 2 ต่อปี  เว้นแต่หากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เช่น กลุ่มเฉพาะแบบชุมชนแออัด หรือคนไร้บ้าน  ให้มีแนวทางการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเฉพาะนั้นๆ  จัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในพื้นที่   ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง  ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการเคลื่อนไหวและรณรงค์ในวันนี้แล้ว  เครือข่าย ‘สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ’ (สอช.) และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกตลอดเดือนตุลาคมนี้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ  โดยจะมีการจัดเวทีให้ความรู้  สร้างความเข้าใจ  เพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  รวมทั้งยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ

 

นางอร่ามศรี  จันทร์สุขศรี  ผู้แทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ   กล่าวว่า  การจัดงานรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้  สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ร่วมกับเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะจัดกิจกรรมรณรงค์ในหัวข้อ   “บ้านมั่นคง บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง” หรือ “Collective Housing”  โดยมีเป้าหมายเพื่อ 

1. นำเสนอรูปธรรมความสำเร็จในการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยต่อระดับนโยบายและสาธารณะ 

2.รณรงค์สร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  ทั้งในเมืองและชนบท  ให้สังคมได้ตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  และเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

3.ผลักดันนโยบายในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกับหน่วยงานเจ้าของที่ดิน  

4. สนับสนุนแนวคิด Collective Housing

และ 5. ยกระดับและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งเมืองและชนบท  ระหว่างผู้นำขบวนองค์กรชุมชนไทยกับผู้นำต่างประเทศ   หน่วยงานและฝ่ายนโยบาย

 นายสมชาติ ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช.พูดคุยกับผู้ชุมนุมวันที่อยู่อาศัยโลกข้างทำเนียบรัฐบาล

 

ทั้งนี้จะมีการจัดงานทั้งในระดับส่วนกลางและภูมิภาคตลอดเดือนตุลาคมนี้  เช่น  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กรุงเทพฯ  ภาคกลางและตะวันตกที่ จ.เพชรบุรี  ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย   ภาคอีสานที่ จ.กาฬสินธุ์และขอนแก่น  ภาคตะวันออกที่ จ.ชลบุรี   ภาคใต้ที่ จ.กระบี่   ฯลฯ  โดยจะมีการนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในประเด็นต่างๆ  เช่น  การจัดตั้งกองทุนที่ดิน  บ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก.  การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนบ้านมั่นคง การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่งและการอนุรักษ์ทรัพยกรชายฝั่งทะเล  ฯลฯ

 

โดยจะมีการเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก  ‘บ้านมั่นคง : บ้านโดยชุมชน  ทุกคนร่วมกันสร้าง (Collective Housing)’   ในวันที่  10  ตุลาคมนี้   ระหว่างเวลา  8.00-16.30 น.  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์  รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  เป็นประธานในการเปิดงาน   และมีการสัมมนา Collective Housing ของผู้นำชุมชนในประเทศไทยกับผู้นำจากยุโรป  อเมริกา ลาตินอเมริกา แอฟริกา   และเอเชีย  13 ประเทศ  เช่น  เมี้ยนม่าร์   กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์  อินเดีย  ฯลฯ  มีผู้เข้าร่วมประมาณ 350 คน

                          


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"