ว่าด้วยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เพื่อไทย ว่าด้วยสองผู้ยิ่งใหญ่และคนตรงกลาง


เพิ่มเพื่อน    

              จากความคาดหวังพรรคเพื่อไทยจับมือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ดัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชิงชัยในสนามเมืองกรุง วิเคราะห์ อ่านเกมไปถึงคู่ต่อสู้ทางการเมือง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ในภาวะเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ จะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทั้งคู่เข้าชิงชัยกันแน่

                คำนวณสมการความคิด คะแนนความนิยมของชัชชาติ ผู้สมัครในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตจากอนาคตใหม่ใน กทม.ที่แตะระดับหลักล้านคะแนน ฐานเสียงเพื่อไทยที่ยังคงเหนียวแน่น แฟนพันธุ์แท้ก็มีอยู่ไม่น้อย หากผู้สมัครเจ๋ง นโยบายแจ๋ว บวกกับกระแสไม่เอาคนจากพรรคสืบทอดอำนาจ ชัยชนะจะไปไหนเสีย

                แต่ไปๆ มาๆ เพื่อไทยเกิดภาวะหักเหลี่ยมเฉือนคมกันเอง ที่ลามไปถึงดีลอนาคตใหม่ สัญญาใจฉบับเดิมอาจพลอยต้องพับเก็บไว้ นำไปทบทวนถึงความเป็นไปได้ที่จะส่ง-ไม่ส่ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคอนาคตใหม่

                นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกถึงกรณีออกแถลงการณ์ชี้แจงพรรคยังไม่มีมติในเรื่องการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จนถูกมองว่าเกิดความขัดแย้งในพรรคว่า

                ‘เรื่องนี้ไม่มีความขัดแย้ง เพียงเป็นห่วงว่าเกิดความสับสนในเรื่องการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะทางพรรคยังไม่เคยมีมติ ส่วนที่ทางภาค กทม.มีการประชุมกันมาตลอด แต่ไม่เคยให้ข่าว ครั้งนี้กลับมีการแถลงข่าวออกมา จึงกลัวว่าจะสับสน จึงต้องออกแถลงการณ์ว่ายังไม่มีมติของพรรค ที่ภาค กทม.หารือก็ว่ากันไป การออกแถลงการณ์ของผมไม่มีความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย และตนไม่เคยงัดกับใคร 

                ขณะที่สุดารัตน์พูดในเรื่องเดียวกันว่า ‘มติภาค กทม.เป็นเรื่องที่ทำตามระบบของพรรค เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับอนาคตของเขาและพันธสัญญาที่ ส.ก.และ ส.ข.มีต่อคนกรุงเทพฯ จึงตั้งความหวังว่าจะมีผู้ใหญ่ของพรรคไปลงสมัคร แต่เมื่อไม่ได้เป็นไปตามนั้น ภาค กทม.จึงหารือว่าจะทำอย่างไร และมีความคิดเห็นไปตามระบบของพรรค คือมติที่จะส่งให้ผู้บริหารพรรคพิจารณา และที่หัวหน้าพรรคแถลงการณ์ออกมาไม่ได้พูดผิดอะไร เป็นเรื่องที่ท่านบอกว่าพรรคยังไม่ได้มีมติและพรรคยังไม่มีมติจริง เหมือนที่ตนให้สัมภาษณ์ไปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เมื่อมันไม่ได้เป็นไปตามความคาดคิดของเรา พรรคก็ต้องหารืออีกครั้งร่วมกับ 7 พรรค ยังมีเวลาไม่ได้รีบร้อน ไม่ใช่อะไรที่เป็นปัญหา’

                ถ้อยคำจากสองผู้มีอำนาจในพรรค สื่อสารผ่านสื่อ จนถูกนำไปตีความ ขบเหลี่ยมขบวนการทางความคิด

                อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางสถิติ บทเรียนในอดีต พ.ศ.2547 ปวีณา หงสกุล ผู้สมัครในนามอิสระ แต่ในช่วงโค้งสุดท้าย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายกฯ และหัวหน้าพรรคไทยรักไทยช่วยหาเสียง พ.ศ.2551 ‘ประภัสร์ จงสงวน’ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคพลังประชาชน พ.ศ.2552 การเลือกตั้งแทนผู้ว่าฯ คนเก่าที่ลาออก ‘นายยุรนันท์ ภมรมนตรี’ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2556 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคเพื่อไทย

                ไม่ว่าจะเป็นยุค ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ยังสะกดคำว่าชัยชนะไม่เจอ

                ว่ากันว่า ชัชชาติ ผู้สมัครอิสระ ในนามของกลุ่มกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม (Better Bangkok) ได้ระดมทีมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน รวมถึงสมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่สังกัดค่ายระดมความเห็น บวกกับพลังเครือข่ายจุฬาฯ คอนเน็กชั่น แท็กทีมชัชชาติ พร้อมให้การสนับสนุนในทุกด้าน บวกกับความที่เจ้าตัวอยากจะขอ Change สลัดภาพผู้สมัครในนามพรรค ให้เกิดความเป็นอิสระในการทำงาน นโยบายและแนวคิดที่จะเปิดออกมา น่าจะโดนใจ ตอบโจทย์คนกรุงเทพฯ ได้ดีกว่า สิ่งนี้ต่างหากที่น่าจะทำให้ได้รับชัยชนะ

                ว่ากันอีกว่า ชัชชาติครุ่นคิดในแนวคิดนี้มานาน ก่อนที่จะประกาศตัว (ขอ) ลงอิสระ ได้บินไปเมืองนอกขอไฟเขียวจากผู้มีอำนาจ นำมาสู่การประกาศตัวลงอิสระ รวมไปถึงบิ๊กๆ แกนนำในพรรค ที่รับรู้สัญญาณไฟเขียว ไม่เพียงไม่มีทีท่าคัดค้าน แต่เมื่อได้ฟังแนวคิดนี้ ยังยกมือสนับสนุนแนวทางนี้อย่างเต็มที่

                ทว่าภาค กทม.ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค เป็นผู้ที่ ทรงอิทธิพลในความคิด กลับมองคนละมุม ยังมองในมุมมองพรรค ความเป็นพรรค พันธสัญญาที่ชาวบ้านส่งผ่านมาถึง ส.ส. ขอให้พรรคส่งผู้สมัครในนามพรรคลงต่อสู้น่าจะดีกว่า โดยอาศัยความนิยมของผู้สมัคร ซึ่งก็คือชัชชาติ บวกกับนโยบายจากส่วนกลางและ กทม.เอาไปใส่ ก็ใช่ว่าจะมองไม่เห็นหนทางที่จะชนะ

                แต่ไม่ว่าอย่างไร คำสัมภาษณ์สมาชิกในภาค กทม. ท่าทีของสมาชิกที่ส่งสัญญาณแสดงออกมา ทำให้ถูกมองไปในทิศทางไม่ต้องมีชัชชาติ สุดท้ายภาค กทม.จัดประชุม เคาะเป็นมติภาค กทม. พร้อมดันคนลงสมัครแข่งเหมือนเดิม กลายเป็นภาวะงัดกันทางแนวความคิด ไม่ถึงกับหัก ไม่ถึงกับแตก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงรอยแยกทางความคิดเช่นกัน

                เมื่ออีกฝั่งก็พยายามถือสัญญาณไฟเขียวทางไกล ประเมินบนฐานข้อมูล ชุดความคิดอีกแบบ แต่อีกฝ่ายก็มีชุดความคิดเป็นของตัวเอง ถือมติพันธสัญญา เดิมพันแพ้ชนะไม่รู้ แต่ในแง่ศักดิ์ศรี-ความเป็นพรรค จำต้องมีผู้สมัครในนามเพื่อไทย

                บทสรุป มติสัญญาฉบับสุดท้าย ไม่ว่าจะดึงชัชชาติกลับมาเป็นผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทยได้ หรือปล่อยชัชชาติเป็นอิสระ เพื่อไทยก็ส่งคนของตัวเองแข่งขัน จะออกหน้าไหน ก็มีคนเจ็บ (ปวด) ใจทั้งนั้น. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"