หมั่นออกกำลังกาย เทคนิคใช้ชีวิตแบบกาย-ใจแข็งแรง


เพิ่มเพื่อน    

(การออกกำลังกายเป็นหมู่คณะจะช่วยทำให้สนุกสนาน และมีระเบียบวินัยในการออกกำลังกายมากขึ้น)

    เมื่อเข้าสู่หลัก 6 สิ่งที่คนวัยนี้เลี่ยงไม่ได้คือ 5 โรคเรื้อรังอย่าง โรคเวียนศีรษะ โรคกระดูกพรุน โรคข้อเข่าเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า และผู้สูงวัยแต่ละคนนั้นอาจหนีไม่พ้นป่วยเป็น 1 ใน 2 โรคดังกล่าว เนื่องจากร่างกายของคนวัยนี้ย่อมเสื่อมไปตามวัย ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันโรคให้กับคุณตาคุณยายได้ ในงานเสวนา “การใช้ชีวิตแบบสูงวัย กาย ใจ แข็งแรง” ที่จัดขึ้นภายใต้กิจกรรม “โครงการ สูงวัยยืนหนึ่ง แค่ขยับเท่ากับบริจาค” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สิรินธร และตัวแทนผู้สูงอายุสุขภาพดีจากเลควิวสอร์ตคลับ ได้นำประสบการณ์ส่วนตัวในการออกกำลังกายมาบอกเล่าเพื่อเป็นแรงบันดาลให้กับคนหลัก 6 ได้หันมาออกกำลังกาย เพราะกีฬาถือเป็นยาวิเศษที่ช่วยป้องกันโรคได้ดีที่สุด

(สปันนา ศิริศรีกุล)

    พยาบาล สปันนา ศิริศรีกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สิรินธร บอกว่า เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุนั้นมักหนีไม่พ้น 2 โรคประจำตัวในจำนวน 5 โรค ได้แก่ โรคเวียนศีรษะ โรคกระดูกพรุน โรคข้อเข่าเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า ดังนั้นการหันมาออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันทั้ง 5 โรคที่กล่าวมา และยังป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเพิ่มเข้ามาได้อย่าง โรคเบาหวาน และโรคอ้วนไขมันเกิน 
    ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุคนนั้นมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อย่างโรคความดันโลหิตสูง ก็ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม เช่น ไม่ออกกำลังกายแรงๆ และเต้นแรงๆ เพราะอาจทำให้อาการป่วยกำเริบได้ แต่แนะนำว่าให้เอกเซอร์ไซส์เบาๆ อย่างการเดิน หรือการยืดเหยียด เพราะจะช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย และทำให้ความดันโลหิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ คนสูงอายุยังสามารถออกกำลังกายด้วยการเดินสายพานในยิม เพื่อลดความดันโลหิตได้เช่นกัน เพราะอันที่จริงแล้วการเอกเซอร์ไซส์นั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นยาที่ป้องกันโรคมากว่า

(ณัฐกานต์ จันทร (ขวา), คุณนิวัฒน์ จันทร (ซ้าย))

    “หลักของการออกกำลังกายในคนสูงอายุที่ถูกต้องนั้น อันดับแรกแนะนำว่าคนหลัก 6 ควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจหาโรคแอบแฝง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และเพื่อตรวจเช็กโรคหัวใจ เนื่องจากบางครั้งผู้สูงวัยจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคดังกล่าว ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยคัดกรองโรคได้ ส่วนหลักการดูแลสุขภาพรองลงมา ได้แก่ การออกกำลังกาย แต่ทั้งนี้ต้องเลือกให้เหมาะกับสุขภาพอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
    พูดง่ายๆ ว่าให้ออกกำลังกายในลักษณะของการช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกาย เช่น การเดิน การยืดเหยียดร่างกาย เพราะการที่ผู้สูงอายุไม่ออกกำลัง นั่นจะทำให้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ เนื่องจากการสูบฉีดและไหลเวียนโลหิตไม่ดี และในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากภาวะไหลเวียนโลหิตไม่ดีก็จะทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย นั่นอาจทำให้เกิดเป็นแผลและหายยาก นอกจากนี้ การออกกำลังกายที่ดีไม่เพียงต้องเหมาะสม แต่ต้องเป็นสิ่งที่เราชอบ ตั้งแต่การเดิน การยืดเหยียด การเล่นโยคะ หรือการวิ่งจ๊อกกิ้งอย่างช้าๆ ที่สำคัญการออกกำลังกายเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะก็จะทำให้เกิดความสนุกสนาน ที่สำคัญต้องไม่ออกกำลังกายแบบแข่งขันกัน เพราะจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้”
    ด้าน นิวัฒน์ จันทร ตัวแทนผู้สูงอายุสุขภาพดีที่เลือกออกกำลังกายในสปอร์ตคลับ วัย 67 ปี บอกว่า “จุดเริ่มต้นของการออกกำลังกาย เริ่มจากเมื่อตัวเองเข้าสู่วัยเกษียณ จากเมื่อก่อนที่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาออกกำลัง กระทั่งเมื่อมีเวลาว่างจากการหยุดพักทำงาน จึงเริ่มหันมาออกกำลัง เนื่องจากมองว่าการขยับร่างกายนั้นจะทำให้เราแข็งแรง และลดค่าใช้จ่ายที่ต้องไปพบหมอได้ จึงเริ่มมองหาสปอร์ตคลับเพื่อสุขภาพ ส่วนหนึ่งเพราะทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก และพอมีงบประมาณส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมสุขภาพจนถึงทุกวันนี้
    “ส่วนหนึ่งที่เลือกออกกำลังกายโดยเข้าสปอร์ตคลับ เพราะการออกกำลังคนเดียว อย่างการวิ่งในหมู่บ้าน จะทำให้เราขาดเพื่อน และขาดระเบียบวินัยในการออกกำลังกาย และนั่นทำให้รู้สึกท้อจนไม่อยากออกกำลังไปเอง ดังนั้นการที่เราไปเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับจะทำให้เรามีเพื่อน มีระเบียบวินัยในการขยับร่างกาย นั่นจึงทำให้เกิดความสม่ำเสมอ
    แต่สำหรับผู้ที่จะเลือกกำลังกายในหมู่บ้านด้วยตัวเองก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องมีระเบียบวินัยและต้องทำอย่างสม่ำเสมอ สำหรับประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้น ประเด็นสำคัญเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปหาหมอเมื่อเราป่วย ดังนั้นถ้าเราหมั่นออกกำลัง เราสามารถนำเงินที่จะไปพบแพทย์มาเป็นค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวจะดีกว่า หรือเก็บออมไว้รับประทานเพื่อสุขภาพดีๆ อีกทั้งการออกกำลังกายทำให้เรามีเพื่อนมากขึ้น นั่นจึงทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน”
    ปิดท้ายกันที่ ณัฐกานต์ จันทร ตัวแทนผู้สูงอายุสุขภาพดีจากเลควิวสปอร์ตคลับ คู่สามีภรรยา ที่เลือกมาออกกำลังกายร่วมกัน บอกว่า “การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันตัวเองไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพประจำปีเท่านั้น เพื่อดูว่ามีความผิดปกติอะไรในชีวิตหรือไม่ ทุกวันนี้ก็จะออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนวันละ 100 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการขยับร่างกายอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ ส่วนจุดเริ่มต้นในการหันมาออกกำลังกายคู่กับสามี รวมถึงลูกๆ ด้วยนั้น เพราะไม่อยากนำเงินค่ารักษาพยาบาลไปให้หมอ จึงมองว่าการนำงบประมาณส่วนนี้ให้หมดไปกับการออกกำลังจะดีที่สุด จากการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้ตัวเองไม่มีโรคประจำตัว อีกทั้งไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเป็นการป้องโรคที่ดีที่สุด”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"