ไฟใต้ลุก ยุติธรรมวิกฤติ “ผสานวัฒนธรรม” ชู 4 ข้อดับไฟ


เพิ่มเพื่อน    

 

          งานครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน ปีนี้จัดเต็ม นอกจากการสดุดีวีรชน และกล่าวปาฐกถาประจำปีในช่วงเช้าแล้ว ช่วงบ่ายยังมีการจัดเสวนาโต๊ะกลมวาระประชาชน หัวข้อ “ยุติธรรมวิกฤติ จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ไม่ให้เลือกปฏิบัติ-สองมาตรฐาน” ซึ่งมีบุคคลในแวดวงปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นักการเมือง นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ เข้าร่วมเสวนากันอย่างคับคั่ง

                ประเด็นที่ถูกหยิบยกเป็นหลักจากผู้ร่วมเสวนาที่เห็นได้ชัด  คือ คดีความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการดำเนินคดีชาวบ้านในข้อหารุกป่าหรือที่ดินของรัฐ  ทั้งที่อยู่อาศัยมาก่อน ซึ่งทั้งสองประเด็นล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนคนธรรมดาอย่างมาก และยืดเยื้อจนไม่เห็นทางออกจากวิกฤติได้ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจปัญหาเหล่านี้ และแก้ไขอย่างถูกต้อง เป็นธรรม

                คดีความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในผู้เสวนาที่นำเสนอประเด็นนี้ คือ “พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ” ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เรียกร้องให้ทหารยุติการแทรกแซงการบริหารจัดการปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยกเลิกกฎอัยการศึกที่ให้บุคคลถูกจับกุมตัวไว้ 7 วัน การตรวจสอบ เรียกเข้าค่าย ถูกเก็บดีเอ็นเอขณะเรียกเกณฑ์ทหาร เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ทำอย่างไรให้หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจพิเศษ ทุกคดีสำคัญกับทุกครอบครัว ไม่ใช่ผลคดีต้องเป็นที่พึงพอใจของผู้ใหญ่

                ทั้งนี้ “พรเพ็ญ” ยังเสนอให้บันทึกภาพและเสียงในห้องพิจารณาคดี เพื่อให้ศาลสูงพิจารณาได้ทุกคดี ทั้งยังเป็นห่วงเรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมาน ที่ญาติผู้เสียหายมักถูกดำเนินคดีแจ้งเท็จและถูกลงโทษ เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่จริง ซึ่งยากแก่การพิสูจน์ และมองว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการทดลองการใช้อำนาจพิเศษแล้วสำเร็จ

                สำหรับ “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” (Cross Cultural Foundation) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งติดตามปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด โดยในงานเสวนาครั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้นำเอกสาร “ข้อเสนอด้านนโยบาย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้” ความยาวทั้งหมด 7 หน้า ซึ่งเผยแพร่ในงานเสวนา “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2562 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ มาแจกจ่ายเผยแพร่แก่สื่อมวลชนอีกครั้งด้วย อันมีสาระสำคัญยิ่งต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปเนื้อหาได้ดังนี้

                1.นำพา จชต.กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ นโยบายและมาตรการที่ชัดเจน ได้แก่การใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ยกเลิกนโยบาย “ทหารนำการเมือง” ที่ กอ.รมน. ภาค 4 เป็นหน่วยงานนำการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ ใช้กำลังในการปราบปรามผู้ต้องสงสัย ทำให้เกิดความแปลกแยกระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการ, ทำให้ ศอ.บต.มีความเป็นอิสระ มีผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งเพื่อกระจายอำนาจสู่พื้นที่, ปรับปรุงคณะเจรจาโดยมีพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะ, ยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน, เคารพหลักสิทธิมนุษยชน และยุติการฝึกอาวุธและปฏิบัติการด้านการปล่อยข่าวเท็จ ป้ายสี สร้างมลทิน (Information Operation - IO)

                2.ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ เคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม, หลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ, ยุติการดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม เอาเปรียบผู้ต้องหา, ยกเลิกการออกหมายจับและหมายขังซ้ำซ้อน และให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ

                3.นำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice - TJ) มาใช้ ได้แก่ การตรวจสอบค้นหาความจริงจากคณะกรรมการอิสระ, การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด, นำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด และการปฏิรูปเชิงสถาบัน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน

                4.การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยา ได้แก่ พัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน, พัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล และการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ ทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้

                ข้อเสนอทั้งหมดควรค่าแก่การที่ฝ่ายการเมืองและความมั่นคงจะนำไปพิจารณา เพื่อลดทิฐิและเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ยุติการสูญเสียของทุกฝ่ายที่มีมาตลอดหลายสิบปี เช่นเดียวกับนโยบาย 66/2523 ที่ช่วยให้ประเทศไทยยุติสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ นำสู่สันติภาพและพัฒนาประเทศต่อได้ถึงทุกวันนี้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"