งานเพื่อสังคมคนวัยหลัก8 หายใจเข้าออกเป็นคุณครู   


เพิ่มเพื่อน    

      ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ถ้าพูดถึงรายการภาษาไทยวันละคำนั้น หลายคนคงรู้จักกันดี โดยเฉพาะผู้บรรยายในรายการ ที่นอกจากใช้ความรู้เกี่ยวกับการสะกด พูดและเขียนคำภาษาไทยอย่างถูกต้องแล้ว การนำเสนอที่เรียบง่ายกระชับ และน้ำเสียงสุภาพชวนฟัง จึงทำให้ชื่อของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ประจำราชบัณฑิตยสถาน เป็นที่รู้จักและพูดถึงมาจนปัจจุบันนี้ แม้ว่าปัจจุบันเจ้าตัวนั้นจะอายุ 82 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังทำงานคลุกคลี อยู่ในแวดวงภาษาไทยอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะหากว่ามีลูกศิษย์ลูกหา หรือใครมาขอให้ช่วยทำงานที่สามารถทำได้ และเกี่ยวข้องกับภาษาไทย ก็ยินดีให้ความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันเจ้าตัวนั้นได้ทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และมีบทบาทหน้าที่เป็นวิทยากรในการจัดอบรมครูภาษาไทยทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ทั้งนี้เจ้าตัวยังแง้มอีกว่าคิวแน่นตลอดทั้ง 7 วัน ทำงานเยอะขนาดนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา ได้เผยเคล็ดลับการดูแลสุขภาพมาบอกกัน   

      อาจารย์กาญจนาบอกว่า “การดูแลสุขภาพนั้นให้ความสำคัญเป็นปกติ เนื่องจากป่วยเป็นโรคหอบหืดได้ประมาณ 3-4 ปี ก็ไปพบแพทย์เป็นประจำ และรักษาตามอาการ และก่อนหน้านั้นก็ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งก็ได้รับการรักษาจากคุณหมอ จนกระทั่งปัจจุบันนั้นอาการดีขึ้นมาเรื่อย จนทุกวันนี้หายดีจากโรคร้ายแล้ว ซึ่งในระหว่างที่ป่วยนั้นก็ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไร ส่วนการรับประทานอาหาร เนื่องจากเป็นคนที่รับประทานค่อนข้างยากก็จะพิถีพิถันอยู่บ้าง เช่น ไม่กินเผ็ด ไม่กินมัน เน้นกินผักผลไม้เป็นประจำ และถ้าวันไหนที่รู้สึกอยากกินขนม ก็จะเลือกกินขนมไทยเป็นหลักค่ะ

        ส่วนการออกกำลังกาย เนื่องจากอายุมากขึ้น คุณหมอจึงแนะนำให้ขยับร่างกายด้วยการยกแข้งยกขา อีกทั้งก่อนหน้านี้ได้ป่วยเป็นเลือดไปเลี้ยงกระดูกสะโพก ทำให้ต้องผ่าตัดเปลี่ยนเหล็กเข้าไปที่สะโพก ดังนั้นจึงต้องหมั่นบริหารร่างกาย ด้วยการเดินอย่างระมัดระวังไม่เร่งรีบมากจนเกินไป และต้องไม่นั่งยองๆ กับพื้น ขณะที่การดูแลจิตใจนั้น เจ้าตัวบอกว่าไม่ได้ทำบุญในรูปแบบของการเข้าวัดฟังเทศน์ แต่จะเลือกปฏิบัติตามหลักศีล 5 หรือยึดถือศีล 5 และทำบุญถวายเงินบริจาคผ้าป่าและกฐินอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมาได้มีโอกาสสร้างวัดและโบสถ์วิหาร ที่ จ.เชียงใหม่ กระทั่งสำเร็จ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ไปทำบุญ ตรงนี้ก็ถือวิธีสร้างความสุขกายสบายใจ ให้กับตัวเองอย่างหนึ่ง”

      ไล่มาถึงเรื่องการทำงานในวัยหลัก 6 กันบ้าง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา บอกให้ฟังว่า ชีวิตของตนเองในช่วงหลังอายุ 60 ปี ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่หากอยู่บ้านนิ่งๆ ก็จะทำให้รู้สึกเบื่อ ดังนั้นการที่คนวัยเก๋าสามารถบริหารจัดการตัวเอง โดยการหากิจกรรมหรืองานที่รักและถนัดทำ ย่อมเป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์ในแง่สุขภาพกายและใจให้กับตัวเอง สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ในฐานะผู้ให้ความรู้กับผู้อื่น

        “ทุกวันนี้ก็ยังทำงานอยู่เหมือนเดิมค่ะ คือยังเป็นงานด้านที่เกี่ยวข้อง กับแวดวงภาษาไทยอยู่ โดยเฉพาะถ้าหากมีใครมาขอให้ช่วยทำงานที่เราสามารถทำได้ และถนัดก็จะยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่ อย่างล่าสุดก็ได้ทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย หน้าที่หลักๆ ก็จะช่วยเขาในแง่ของการเป็นวิทยากร ให้การอบรมครูภาษาไทย ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ก็จะอบรมปีละ 2 ครั้ง แต่ที่ยังทำทุกวัน คืองานที่ราชบัณฑิตยสถาน โดยทำหน้าที่เป็นกรรมการวิชาการ มีทั้งในส่วนของการประชุมเกี่ยวกับคำศัพท์ต่างประเทศ โดยประชุมวันละ 2 ชั่วโมง ซึ่งบางวันประชุม 2 เรื่อง ใช้เวลา 4 ชั่วโมง และทำหน้าที่ในการช่วยแต่งตั้งกรรมการให้เขา สิ่งที่ตัวเองได้จากการทำงาน คือนอกจากทำให้เราไม่เบื่อแล้ว ยังได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ การใช้คำภาษาไทยอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการอ่านเขียนและการสะกดคำให้ตรงตามหลักวรรณยุกต์ของไทย หรือแม้แต่การเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยใส่สระและวรรณยุกต์ให้ตรงตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทยของเราค่ะ”

      ปิดท้ายกันที่ความห่วงใยที่อยากไปยังลูกๆ ทั้ง 3 คน ที่แม้จะแต่งงานมีครอบครัว อีกทั้งมีหลานย่าและหลานยายอย่างละ 2 คน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา เผยว่า “อันที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องห่วงอะไรลูกๆ ค่ะ เพราะทุกคนก็ใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่มีเรื่องร้ายอะไรที่ต้องหลบซ่อน ที่สำคัญครอบครัวก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ได้เดินรอยตาม โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีเป็นอย่างไรค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"