เรื่องเล่ารายทาง กทม.-หลวงพระบาง


เพิ่มเพื่อน    

                                               

                รถไฟขบวน 107 จากหัวลำโพงเข้าเทียบชานชาลาที่ 1 สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ เวลา 05.35 น. ช้ากว่ากำหนด 20 นาที แต่นั่นก็เพราะเจ้าม้าเหล็กออกจากต้นทางช้าไปในเวลาเท่าๆ กัน จึงถือว่ามันยังรักษาเวลาในการวิ่งได้ดี

                 การเดินทางรอบนี้มีเมืองเป้าหมายตามแผนการคร่าวๆ คือ กทม. - น่าน - หลวงพระบาง - หนองเขียว - เดียนเบียนฟู - ซาปา - คุนหมิง - ฉ่งชิ่ง - กุ้ยหยาง - กุ้ยหลิน - หนานหนิง - ไฮฟอง - ฮานอย - นิญบิ่ญ - วิญ - ฮาติ่ญ - ด่งฮา - สะหวันนะเขต - ปากเซ - อุบลราชธานี - กทม.


รถสองแถวสายน่าน-ปัว แม้ใครไม่สโลว์ไลฟ์ก็ต้องทำใจให้ไม่รีบ

                 ถ้าไม่นับไทยดูไปก็คล้ายกับว่าตั้งใจจะมาทัวร์ประเทศคอมมิวนิสต์ ทั้งหมดจะเดินทางโดยยานพาหนะล้อเหล็ก ล้อยาง และอาจจะมีทางน้ำผสมบ้าง ที่เลี่ยงทางอากาศก็เพื่อแก้ตัวจากทริปก่อนหน้านี้ ซึ่งผมตั้งใจจะออกจากเวียดนามกลางที่เมืองด่งฮาโดยรถบัสเพื่อเข้าสู่ลาวแล้วกลับเมืองไทยตามเส้นทางตอนท้ายๆ ที่จะเหมือนกับการเดินทางเที่ยวนี้

                 ผมได้โทรศัพท์ไปยังกรมอาเซียนเพื่อสอบถามข้อมูลกรณีเจ้าหน้าที่ (คนไทย) ประจำเคาน์เตอร์เช็กอินสายการบินต้นทุนต่ำของเวียดนามเจ้าหนึ่งอ้างว่า ไม่สามารถออกบอร์ดิงพาสให้กับผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำได้ หากไม่มีตั๋วหรือเอกสารยืนยันที่จะออกจากเวียดนามตามกำหนดฟรีวีซ่า ซึ่งเป็นข้อตกลงในกลุ่มชาติอาเซียน โดยคนไทยสามารถท่องเที่ยวในเวียดนามได้เป็นเวลา 30 วัน (หรือไม่ก็ต้องขอวีซ่าจากสถานทูตเวียดนามเสียก่อน) ทำให้ผมต้องซื้อตั๋วเครื่องบินกลับก่อนเช็กอิน (บินไปดานัง)

                เจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์เช็กอินคนเดิมระบุว่า เป็นข้อกำหนดที่ใช้กับทุกประเทศในกลุ่มชาติอาเซียน หากบินเข้าประเทศใดต้องมีตั๋วออกจากประเทศนั้นไปแสดงตอนเช็กอินเสมอ ทว่าเจ้าหน้าที่กรมอาเซียนที่รับสายปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง แล้วแนะนำให้ผมโทร.ไปตรวจสอบกับสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยโดยตรง แต่เมื่อได้ทราบความจริงว่าไม่ได้เป็นกฎร่วมของกลุ่มประเทศอาเซียน ผมก็พอแค่นั้น ยังคงเป็นไปได้ที่เวียดนามมีระเบียบนี้อยู่จริง ปริศนายังคงอยู่ต่อไป


อีกหนึ่งตัวเลือกในการเดินทางจากน่านสู่ปัว แต่เมล์ส้มไปถึงตำบลปอน อำเภอทุ่งช้างเลยทีเดียว เกือบๆ ชายแดนไทย-ลาว

                จากสถานีเด่นชัยมีรถสองแถวให้บริการเข้าไปยังตัวเมืองแพร่ ผมอาศัยปลั๊กและไฟฟ้าของสถานีรถไฟเด่นชัยชาร์จแบตโทรศัพท์อยู่จนฟ้าสว่าง ทำให้รถสองแถวคันที่ผมนั่งไปมีผู้โดยสารร่วมทางไปด้วยอีกแค่ 1 คน

                หญิงสาวคนนี้มาจากกรุงเทพฯ โดยสารรถไฟเที่ยวเดียวกับผม มีเพียงกระเป๋าคล้ายย่ามสำหรับใส่เสื้อผ้า และอีกใบใส่ขาตั้งกล้องและอุปกรณ์บางอย่าง ออกไปทางอินดี้ มีบุคลิกคล้ายๆ เด็กทำค่ายอาสาฯ เข้าใจว่าเธอรอให้ฟ้าสว่างเพื่อที่จะถ่ายรูปด้านหน้าของสถานีรถไฟ ผมเห็นเธอใช้ขาตั้งกล้องอย่างจริงจังกับรูปนี้ เมื่อทราบว่าเธอกำลังจะเดินทางไปดอยเสมอดาว จังหวัดน่าน ก็เลยยิงคำถามว่า “เป็นนักเขียนใช่หรือไม่?”

                ผมสันนิษฐานไม่ผิด แต่ไม่คิดว่าเธอจะเป็นนักเขียนระดับออกหนังสือมาแล้วสาม-สี่เล่ม จำพวกเดินทางท่องเที่ยวและข้อคิดในการใช้ชีวิตของสาววัยที่เพิ่งจบมหาลัยไม่นาน ผมขอโทษที่ไม่รู้จักเมื่อเธอบอกนามปากกา แก้ต่างให้กับความไม่รู้ไปเสียว่า “ช่วงหลังไม่ค่อยได้เข้าร้านหนังสือ” อย่างไรก็ตาม อีกสันนิษฐานหนึ่งของผมก็ยังไม่ผิด เธอมีงานประจำทำอยู่ด้วย แน่นอนว่าข้อนี้ทายง่ายกว่าข้อแรก 

                มีผู้โดยสารขึ้นมาอีก 4 คนระหว่างทาง ทั้งหมดลงพร้อมกันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเทศบาลเมืองแพร่ จ่ายค่าโดยสาร 50 บาทแล้วเดินไปดูที่ช่องขายตั๋วของวินทัวร์ รถบัสที่จะเดินทางไปยังจังหวัดน่านยังไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ ป้ายด้านบนระบุว่า รถเที่ยวแรกออก 11 โมง ตอนนี้ยังไม่ถึง 7 โมงครึ่งด้วยซ้ำ หันไปเห็นเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่โต เจ้าหน้าที่มาทำงานตั้งแต่เช้าให้ข้อมูลว่าเวลานี้ไปน่านด้วยรถตู้สะดวกที่สุด  แต่อาจต้องรออีกราวๆ ครึ่งชั่วโมง ผมได้ตั๋วมาในราคา 94 บาท กินมื้อเช้า ใช้บริการห้องน้ำที่สะอาดสะอ้านดีกว่ามาตรฐานของสถานีขนส่งทั่วไป แล้วรถตู้ก็ออกเดินทางก่อนเวลาในตั๋ว 07.50 น. นิดหน่อย เพราะผู้โดยสารเต็มพิกัดแล้ว

                เมื่อคืนในรถไฟชั้นสองเตียงบนหลับยากเต็มที เช้านี้ผมจึงไม่ดื่มกาแฟ เพราะตั้งใจจะหลับในรถตู้ แต่แล้วก็มีเด็กชายวัยประมาณ 5 ขวบมานั่งข้างๆ แนะนำตัวอย่างน่ารักน่าเอ็นดูว่า “สวัสดีครับ ผมชื่อ...พี่ชื่ออะไรครับ?”


นั่งรถสองแถวผ่านใจกลางเมืองน่าน

                แทนที่จะเรียกลุง เขาเรียกผมว่า “พี่” แม่ของเด็กน้อยอยู่แถวถัดไปด้านหลัง เธอนั่งติดหน้าต่างทางด้านซ้ายมือ อายุไม่เกิน 20 ปีอย่างแน่นอน คะเนให้ชัดลงไป น่าจะอยู่ในช่วง 17-18 เท่านั้น เด็กคนนี้ช่างน่าให้รางวัล ประเทศชาติของเราในอนาคตจะต้องโชติช่วงชัชวาลยิ่งกว่าค้นพบน้ำมันในอ่าวไทยอย่างแน่นอนหากยังมีเด็กวิสัยทัศน์เยี่ยมเช่นนี้ ว่าแล้วเด็กน้อยบนเบาะกลางก็เอาหัวลงนอนบนขาของผมที่นั่งริมหน้าต่างด้านขวา ขาชี้ไปทางด้านหนุ่มใส่หน้ากากอนามัยริมหน้าต่างทางซ้าย ผมยิ้มยินดีเข้าไปอีกที่เด็กน้อยให้ความไว้ใจนอนหนุนตัก การเดินทางเที่ยวนี้เริ่มต้นได้ดีเหลือเกิน เด็กน้อยจะหลับ ผมก็จะหลับ เป็นภาพฝันอันงดงามในรถตู้แพร่-น่าน เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

                หลังภาพฝันนั้นผ่านไปไม่ถึง 5 วินาที เด็กน้อยขยับตัว พลิกหัวพลิกหาง เอาเท้าชี้ขึ้นไปบนเบาะส่วนที่ควรจะวางศีรษะ สลับกับเขี่ยขาหนุ่มหน้ากากอนามัย ในปากของเด็กน้อยเคี้ยวหมากฝรั่ง เขามักจะคายใส่มือแล้วใช้มืออีกข้างจับเล่นย้ายไปมา เอาเข้าปากใหม่ แล้วเช็ดมือกับกางเกงของผม เบื่อนอนชี้ขาบนเก้าอี้เด็กน้อยก็ลุกไปเกาะเบาะข้างหน้าที่สาวนักเขียนนั่งอยู่ เพลินขึ้นมาก็จับผมเธอเล่น รวมถึงเอื้อมไปแตะบ่าคนทางด้านซ้ายและขวา บางทีก็ลงไปกลิ้งเล่นบริเวณพื้น

                เด็กชายขยับเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อนตรงพื้นที่หรรษาแคบๆ ของเขา แต่ส่วนมากแล้วก็ข้องแวะอยู่กับตัวผม เขาไม่หยุดนิ่งเกิน 3 วินาที เหมือนว่าเคลื่อนไหวไปแบบธรรมชาติ โดยไม่รู้ตัว บางทีเขาอาจเป็นเด็กสมาธิสั้น แต่จะจริงหรือ ผมไม่มีความรู้พอที่จะอ่านบุคลิกลักษณะของเด็กสมาธิสั้นออก ทว่ามีจุดน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ หลังจากทักทายแนะนำตัวอย่างน่าเอ็นดูแล้วเขาก็ไม่พูดออกมาเลยอีกแม้แต่ประโยคเดียว

                ผมหันไปที่แม่รุ่นเยาว์ของเด็กชาย บอกเธอว่า “แลกที่นั่งกันไหม จะได้ดูลูก” เธอหันไปมองสามีที่นั่งเบาะหลังสุดเหมือนเชิงถามว่าเอาไงกับข้อเสนอ เบาะหลังสุดนี้นั่งได้ 2 คน ลูกชายอีกคนนอนหลับอยู่กับพ่อ ผมเอี้ยวไปมองฝ่ายพ่อได้ไม่ถนัด เพราะเขานั่งริมหน้าต่างฝั่งขวาเหมือนกันกับผม จึงบอกไม่ได้ว่าเขารุ่นราวคราวใด


อาคารไม้สักทองทั้งหลังของธนาคารกสิกรไทย สาขาปัว อีกแลนด์มาร์คใหม่อำเภอปัว

                ไม่มีเสียงตอบจากคุณพ่อ คุณแม่ก็หันกลับไปมองภาพนอกหน้าต่างตามเดิมของเธอต่อไป ใครจะรู้ว่าบางทีนอกหน้าต่างนั้นอาจปรากฏภาพเธอใช้ชีวิตวัยเยาว์อยู่ในสถานศึกษา หรือกำลังหัวเราะครื้นเครงอยู่กับเพื่อนหนุ่มสาววัยเดียวกัน

                “นั่งดีๆ สิลูก” คือประโยคที่นานๆ ครั้งจะออกมาจากปากของเธอ

                เมื่อเด็กชายอีกคนตื่นขึ้นก็เดินมาหาพี่ชาย ทั้งคู่ใส่เสื้อเหมือนกันเป๊ะ แต่คนละขนาด คนน้องไม่พูดออกมาเป็นคำ แต่ร้องโหยหวนเป็นเสียงสูงแสบเสียดแก้วหูตอนที่ไม่พอใจพี่ชาย กลับไปนอนต่อ แล้วออกมาร้องโหยหวนอีกสอง-สามรอบ

                จากสถานีขนส่งแพร่ถึงสถานีขนส่งเวียงสา ระยะทาง 135 กิโลเมตร รถใช้เวลาวิ่งเกือบ 2 ชั่วโมง ผมไม่มีจังหวะแม้แต่จะหลับตา พอครอบครัวนี้ลงจากรถ โชเฟอร์หนุ่มเข้ามาพูดกับผมว่า “สุดๆ เลย บ่ได้หลับได้นอนเลยเนาะ” แสดงว่าเขามองดูความเป็นไปผ่านกระจกมองหลังอยู่ตลอด

                ระยะทางที่เหลืออีก 25 กิโลเมตร ผมหลับตลอดทาง และต้องตื่นขึ้นอย่างไม่เต็มใจที่สถานีขนส่งจังหวัดน่าน ลงรถตู้แล้วเดินเข้าไปถามเรื่องรถบัสจากน่านไปหลวงพระบาง ได้รับคำตอบว่ามีวันละเที่ยว (เช่นเดียวกับรถบัส หลวงพระบาง-น่าน) ขึ้นได้ 2 จุดคือที่นี่เวลา 8 โมงตรง และที่สถานีขนส่งอำเภอทุ่งช้างประมาณ 9 โมงนิดๆ ผมตั้งใจจะเดินทางวันมะรืน เจ้าหน้าที่บอกว่าค่อยมาซื้อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อล่วงหน้า รถไม่เต็มแน่นอน 


ยามเย็นหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลปัว แหล่งดินเนอร์ง่ายๆ สบายกระเป๋า

                จุดหมายต่อไปของผมในวันนี้คือ อำเภอปัว อยู่ห่างออกไป 60 กิโลเมตร มีรถบัสสีส้มและสองแถวสีฟ้าให้เลือกใช้บริการ ผมอยากนั่งรถบัสสีส้ม แต่ดันออกทีหลังรถสองแถวไปตั้งเกือบชั่วโมง ค่าโดยสารสองแถวแค่ 50 บาท ใช้เวลาวิ่งเกือบ 2 ชั่วโมง ก็ถึงตลาดอำเภอปัว มีธนาคารกสิกรไทยสาขาปัว อาคารไม้สักทองทั้งหลังของคุณบัณฑูร ล่ำซำ ตั้งโดดเด่นที่สุดในย่านนี้

                จากนั้นเดินไปยังคิวรถสองแถวอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอปัว มีรถสองแถวจอดอยู่สาม-สี่คัน แต่ไม่มีรถที่ขึ้นไปยังอุทยานตามคิว ที่เห็นอยู่ล้วนเป็นรถที่ต้องเหมาทั้งสิ้น คันหนึ่งให้คำตอบว่ารถโดยสารประจำทางอาจจะไม่มีแล้ว ทั้งที่ยังเป็นเวลาเที่ยงวัน ระยะทางขึ้นดอยภูคาแค่ 25 กิโลเมตรเท่านั้น ใช้เวลาวิ่งไม่ถึง 1 ชั่วโมง ผมเชื่อว่าในช่วงหยุดยาวต่อเนื่องสาม-สี่วันนี้ ทำให้บรรดารถสองแถวหันมารับผู้โดยสารเป็นหมู่คณะหรือแบบเหมาแทนเพื่อความคุ้มค่ากว่าเคย

                ผมโทร.สอบถามกับทางอุทยานว่ามีที่พักว่างหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าเต็ม ยกเว้นนำเต็นท์ขึ้นไปกางเอง ผมขอถามเพิ่มว่าบ้านน้ำดั้นที่อยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติดอยภูคามีที่พักให้บริการบ้างหรือไม่ ความจริงนี่คือสถานที่ปลายทางแท้จริงของวันนี้ ผมเคยมาออกค่ายอาสาฯ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ช่วงปลายของการเรียนมหาวิทยาลัย จากนั้นก็เคยมาเยี่ยมหมู่บ้านแห่งนี้ก่อนจะเริ่มทำงาน เจ้าหน้าที่ปลายสายตอบว่าในหมู่บ้านไม่มีที่พัก

                ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะพักที่อุทยานแล้วค่อยไปเดินเล่นที่หมู่บ้าน เผื่อฟลุกว่าจะมีใครจำได้ หากไม่มีใครจำได้ เย็นๆ ก็เดินกลับอุทยาน เมื่อไม่มีที่พักก็เลยไม่จำเป็นต้องถามราคารถเหมา หากขึ้นไปแล้วรถต้องคอยให้เรารีบกลับก็จะรู้สึกกดดัน จึงต้องขอกลับมาใหม่รอบหน้า โดยยังไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่


มินิบัสเส้นทางน่าน-หลวงพระบาง ระยะทาง 373 กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งประมาณ 10 ชั่วโมง

                ผมกินมื้อเที่ยงแล้วหาที่พักในตัวอำเภอ ฝนตกลงมาพอดีจึงหลับได้ยาวหลายชั่วโมง ตื่นมาก็ออกไปหามื้อค่ำหน้าตลาดสดเทศบาลตำบล เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนเคยมีสวนอาหาร หรือเรียกง่ายๆ ว่าร้านเหล้าอยู่ 1 ร้าน แต่ปีนี้ไม่เห็นมีเลยสักร้าน ตัดสินใจกลับที่พักแล้วนอนหลับลงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก    

                ตื่นเช้าวันต่อมาก็รีบอาบน้ำ เช็กเอาต์ คืนกุญแจเดินไปยังจุดขึ้นรถเมล์ไปอำเภอทุ่งช้าง ผมโทร.หาเจ้าหน้าที่ประจำฝ่ายเดินรถน่าน-หลวงพระบางตั้งแต่เมื่อวาน เพื่อจะขอให้จอดรับที่อำเภอปัว ได้ความว่าไม่สามารถจอดรับผู้โดยสารระหว่างทาง เพราะมีระเบียบห้าม อีกทั้งต้องใช้พาสปอร์ตในการซื้อตั๋วและกรอกข้อมูล ลุงมอเตอร์ไซค์รับจ้างบอกว่ารถตู้ที่ไปทุ่งช้างเพิ่งจะผ่านไป รถบัสสีส้มจะมาประมาณ 10 โมง (น่าจะเป็นคันที่มาจากสถานีขนส่งน่าน) โอกาสเดียวคือรอรถตู้คันถัดไป คาดว่าจะมาตอน 8 โมงนิดๆ ลุงให้ข้อมูลผมแล้วก็มีผู้โดยสารมาเรียกใช้บริการ

                ใกล้ๆ กัน ป้าคนหนึ่งในชุดวินมอเตอร์ไซค์กวาดขยะอยู่หน้าบ้านบอกว่าใจเย็นๆ นั่งรอก่อน แกถามไถ่ถึงจุดหมายปลายทาง สุดท้ายแกเสนอว่าจะเหมาให้ไปส่งที่สถานีขนส่งทุ่งช้างก็ได้ ผมถามราคา แกตอบ 200 บาท ผมบอกว่าจะขอรอรถตู้จนถึง 8 โมงครึ่ง หากรถตู้ยังไม่มาก็จะไปกับป้า

                ตอนที่ลุงกลับมาจากส่งผู้โดยสาร ป้าก็ยังไม่มีใครเรียกไปไหน เวลา 08.20 น. ผมตัดสินใจถือกระเป๋าไปหาป้า แกเอาใบเล็กยัดไว้ตรงคอมอเตอร์ไซค์ ผมสะพายใบใหญ่ขึ้นหลัง สองล้อเคลื่อนหน้าออกไปอย่างช้าๆ

                ทิวทัศน์ข้างทางเป็นทุ่งนาและมีภูเขาเป็นฉากหลังทั้งสองฝั่ง หมอกยังลอยอ้อยอิ่งอยู่ด้านบน ลมเช้าเย็นสบาย แดดก็ยังไม่มี แม้ป้าจะขับค่อนข้างช้า แต่ก็หาใครแซงแกได้ยากเต็มที คงเพราะว่ายังไม่มีใครมุ่งหน้าไปยังทิศทางอำเภอเฉลิมพระเกียรติหรือด่านชายแดนห้วยโก๋นในเวลานี้ เมื่อไม่มีรถแซงก็แปลว่ารถบัสน่าน-หลวงพระบางยังมาไม่ถึง ความหวังยังเต็มเปี่ยม

                ผ่านอำเภอช้างกลาง เข้าสู่อำเภอทุ่งช้าง ป้าไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บขส.ทุ่งช้างอยู่ตรงไหน ผมบอกว่าไปถึงปั๊มน้ำมันบางจากแล้วน่าจะเห็น และในที่สุดเราก็มาถึง และถึงก่อนรถบัส ป้าขอขึ้นค่ารถเป็น 250 บาท เพราะระยะทางไกลกว่าที่คิดไว้ (ประมาณ 25 กิโลเมตร) ผมก็ยินดี อย่างน้อยป้าพามาทันเวลา

                จุดจอดรถโดยสารอยู่ด้านในของปั๊มน้ำมัน ส่วนสำนักงานขนส่งอยู่ริมถนนเลยไปประมาณ 30 เมตร ผมได้ตั๋วมาแล้ว น่าน-หลวงพระบาง ราคา 660 บาท เข้าร้านกาแฟติดกับปั๊มแล้วถามหาอาหารเช้า พี่สาวเจ้าของร้านบอกว่าไม่ได้ขาย ยืมมอเตอร์ไซค์แกไปซื้อที่เซเว่นก็ได้ พอดีผมเห็นขนมบิสกิตสอดไส้และนมในตู้แช่ของร้านก็เลยบอกว่าเจออาหารเช้าแล้ว สั่งอเมริกาโน่ร้อนมาไม่ทันจะได้ดื่มรถบัสก็วิ่งเข้ามา พี่สาวเจ้าของร้านรีบเทกาแฟใส่แก้วกระดาษ แถมบิสกิตให้ 4 ชิ้น บรรจุในถุงหูหิ้วเสร็จสรรพ เพราะเธอเห็นว่าผมมีกระเป๋าสะพายถึง 2 ใบคงถือยาก

                ขึ้นรถแล้วย้อนกลับมาคิดดู หากผมไม่เลือกใช้บริการป้าวินในเวลาขณะนั้น ก็จะไม่ทันขึ้นรถบัสเที่ยวนี้อย่างแน่นอน.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"