เส้นทางอพยพ"เหยี่ยวนกเขา" การเดินทางที่ยาวกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางโลก


เพิ่มเพื่อน    

 

.เส้นทางอพยพเหยี่ยว ภาพโดยสวทช. - มจธ.


ที่เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร นับเป็นแหล่งดูเหยี่ยวและนกอพยพดีที่สุด 1 ใน 5 ของโลก เนื่องจากเป็นจุดที่เหยี่ยวอพยพนับแสนตัวบินผ่านทุกปี และสามารถมองเหยี่ยวในระยะใกล้ที่สุด เพราะเป็นเส้นทางอพยพหลักของนกนานาชนิด โดยเฉพาะนกล่าเหยื่ออย่างเหยี่ยว ซึ่งมักจะอพยพโดยยึดแผ่นดินเป็นหลัก โดยเขาดินสอ ตั้งอยู่บนแหลมมลายูในส่วนที่แผ่นดินบีบแคบลงมา ทำให้เหยี่ยวอพยพต้องเข้ามารวมกัน เพื่อผ่านช่องแคบนี้ไปให้ได้  


นายชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลการนับจำนวนและจำแนกชนิด พร้อมทั้งติดห่วงขาเหยี่ยวและนกอินทรีที่อพยพผ่านเขาดินสอในช่วงเดือน ก.ย.ถึง พ.ย. ตั้งแต่ปี 2553 มีรายงานการพบเหยี่ยวและนกอินทรีอย่างน้อย 38 ชนิด โดยชนิดที่พบมากที่สุด คือ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ซึ่งบางปีมีรายงานการพบทั้ง 2 ชนิดรวมกันมากกว่า 5 แสนตัว นอกจากนี้ข้อมูลการศึกษายังทำให้รู้ว่าเหยี่ยวชนิดไหนจะอพยพช่วงใด และมีจำนวนเท่าไร โดยตั้งแต่กลางเดือนส.ค.จะเริ่มพบเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นอพยพ และตามด้วยเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวผึ้ง ซึ่งจะมีจำนวนหนาแน่นมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนก.ย. ถึงสัปดาห์แรกของต้นเดือนต.ค. นอกจากนี้ยังพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำอพยพผ่านบริเวณนี้จำนวนหลายหมื่นตัวต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนต.ค. และสามารถเห็นได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้บริเวณพื้นที่เขาดินสอยังพบกลุ่มเหยี่ยวนกเขามากที่สุดในโลกจำนวน 6 ชนิดด้วย โดยนักท่องเที่ยวสามารถพบเหยี่ยวได้ในระยะใกล้ชิดไม่เกิน 10-15 เมตร


อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการศึกษาชนิดพันธุ์ของนกที่บินอพยพมาที่เขาดินสอ แต่ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ กล่าวว่า สิ่งที่ไม่เคยรู้ คือ เหยี่ยวอพยพแต่ละสายพันธุ์มาจากไหน เช่น เหยี่ยวนกเขาชิครา ยังไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัดว่ามาจากที่ใด หรือแม้แต่เหยี่ยวชนิดย่อยในภูมิภาคต่างๆ นั้น มีสายพันธุ์อะไรบ้าง การอพยพของเหยี่ยวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า  หลังจากอพยพมายังพื้นที่เขาดินสอแล้ว จะบินไปที่ใดต่อ  


ด้วยเหตุนี้ทำให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ได้มีการใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ติดตามเส้นทางอพยพ ของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน และพันธุ์ญี่ปุ่น ครั้งแรกของประเทศไทย และครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เขาดินสอ เพื่อติดตามเส้นทางอพยพ ซึ่งดำเนินการมาได้ 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2559


นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช.เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการติดตามเส้นทางเหยี่ยวอพยพ เนื่องจากเหยี่ยวเป็นสัตว์ที่อพยพเป็นระยะทางไกลผ่านหลายประเทศในทวีปเอเชีย โดยเริ่มต้นจากรัสเซีย ผ่านไทยจนถึงจุดแวะพักในฤดูหนาวที่ประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้นำเทคโนโลยีเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อทำการติดตามการอพยพและระบุตำแหน่งของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำในระยะ 0.5-1.5 กิโลเมตร และสามารถติดตามเส้นทางการอพยพและตำแหน่งของเหยี่ยวได้  

แอนดรูว์ เจ เพียร์ซ นักวิจัยมจธ


ด้านนายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ (Mr. Andrew J. Pierce) ผู้เชี่ยวชาญ สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้วิจัย ได้เปิดเผยว่า เหยี่ยวจัดเป็นผู้ล่าชั้นสูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร จึงถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่เหยี่ยวหลายชนิดกำลังถูกคุกคามเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อาศัย ดังนั้นการศึกษาลักษณะพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และฤดูหนาวรวมถึงเส้นทางการอพยพ และจุดแวะพักระหว่างทางจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ ซึ่งในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะมีเหยี่ยวอพยพนับแสนๆ ตัว หนีหนาวจากพื้นที่ผสมพันธุ์ ของประเทศรัสเซียและจีน มายังพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว ช่วงเดือนส.ค.-พ.ย.ในเขตร้อนทางตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


โดยการใช้เส้นทางอพยพ 2 เส้นทางด้วยกัน คือ 1. เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านมหาสมุทร เริ่มจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขตไซบีเรีย ลงมาตามแนวฝั่งตะวันออกของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ จนถึงประเทศอินโดนีเซีย และ 2.เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านแผ่นดินใหญ่ โดยจะเริ่มจากเขตไซบีเรีย และจีน ลงมาตามแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย และหมู่เกาะของอินโดนีเซีย


ทั้งนี้ เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออก เป็นเส้นทางอพยพของเหยี่ยวที่มีข้อมูลและการศึกษาน้อยที่สุด ดังนั้นทีมวิจัยมจธ. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ ร่วมกันศึกษาเส้นทางของเหยี่ยวและนกอพยพ โดยการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเข้ามาช่วย ภายใต้การสนับสนุนของ สวทช. ซึ่งพบว่าการอพยพและจุดแวะพักที่สำคัญของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด คือเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น ที่มีการอพยพผ่านประเทศไทยบริเวณเขาดินสอ จำนวนนับล้านตัวทุกปี เนื่องจาก เขาดินสอตั้งอยู่บนพื้นที่ที่แคบที่สุดของทวีปเอเชีย ในคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย (คอคอดกระ) ใกล้ชายฝั่งทะเลและมีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ 200-350 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สามารถพบเห็นเหยี่ยวจำนวนมากรวมตัวอพยพผ่านบริเวณนี้

เหยี่ยวอพยพติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมลักษณะสะพายกระเป๋า ภาพโดย DESMOND ALLEN


นายแอนดรูว์ กล่าวต่อว่า ทีมวิจัยได้ทำการจับเหยี่ยวนกเขาที่อพยพผ่านบริเวณเขาดินสอ ระหว่างเดือนก.ย.-ต.ค.ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหยี่ยวอพยพผ่านเขาดินสอมากที่สุดของปี ในปีพ.ศ. 2559 และ 2560 โดยการใช้ตาข่ายแบบพรางตาจับนกเพื่อทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 4% ของน้ำหนักตัวของเหยี่ยว โดยติดที่ตัวเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัว และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 4 ตัว ในลักษณะสะพายหลัง ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับเหยี่ยว


วิธีการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ ผู้เชี่ยวชาญจะคัดเลือกเหยี่ยวตัวเมีย ที่มีน้ำหนัก 140 กรัมขึ้นไป และต้องเป็นเหยี่ยวที่โตเต็มวัยนำมาวัดสัดส่วน ใส่ห่วงที่ขา และนำเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดกับสายสะพายแบบพิเศษที่ผสมเส้นใยเชฟรอน เพื่อทำให้สายแข็งแรง ดึงธรรมดาไม่ขาด ต้องใช้วัสดุพิเศษตัด ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งระหว่างการติดตั้งเครื่องจะต้องหาวัสดุมาคุมหัวนกไว้ เพื่อไม่ให้นกตื่นกลัวหรือตกใจ และให้นกอยู่นิ่งเพื่อให้สามารถทำงานได้ ขณะที่สวมสายสะพายให้นกต้องปรับสายสะพายให้พอดีกับลำตัวนก เพื่อไม่ให้นกรู้สึกไม่สบายตัว หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต เหมือนนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็ค ให้เครื่องส่งสัญญาณติดตัวไปเหมือนกระเป๋าเดินทาง โดยเครื่องส่งสัญญาณนี้สามารถส่งสัญญาณได้นาน 10 ชั่วโมง แล้วต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ชาร์จ 48 ชั่วโมง หรือสองวัน เพื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง


“หลังจากติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมให้กับเหยี่ยวนกเขาทั้ง 8 ตัว ทำให้ทราบว่า เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน ก็จะอพยพลงใต้ไปยังบริเวณเกาะสุมาตรา ฝั่งตะวันออกของเกาะ Nusa Tenggara และ ประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว โดยจะใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 70-80 วัน และเมื่อถึงช่วงเดือนก.พ.-พ.ค.เหยี่ยวจะอพยพกลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีน นอกจากนี้ข้อมูลจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัวที่ทีมวิจัยติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณฯ มีเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่สามารถจับสัญญาณการอพยพผ่านเขาดินสอได้อีกครั้ง  ในปีพ.ศ. 2561 ทำให้รู้เส้นทางการอพยพที่สมบูรณ์ของเหยี่ยวชนิดนี้ ซึ่งใช้ระยะทางในการอพยพทั้งสิ้น 14,532 กม. ซึ่งมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก และ 9,710 กม.” นักวิจัยเผย  


นักวิจัยกล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นนั้น ทีมวิจัยสามารถติดตามสัญญาณไปถึงพื้นที่ของเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวและใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 130-170 วัน ก่อนที่จะอพยพกลับขึ้นทางเหนือ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทีมวิจัยสามารถรับสัญญาณจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นได้เพียง 1 ตัว ในช่วงอพยพกลับเท่านั้น โดยเหยี่ยวตัวนี้เดินทางออกจากพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวบนเกาะ Bangka ประเทศอินโดนีเซีย ไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในเขตอามูร์ (Amur) ทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป  ทำให้สรุปรวมระยะทางอพยพได้ทั้งสิ้น 7,699 กม. ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 50 วัน นอกจากนั้นแล้วทำให้ทราบอีกว่าพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวหรือจุดหยุดพักที่สำคัญของเหยี่ยวทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นพื้นที่ที่มีมนุษย์เข้ามาใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพาราและพืชสกุลอะเคเซีย

ขณะติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม ภาพโดย DESMOND ALLEN


อย่างไรก็ตาม นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิดโดยใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม นางสาวรงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มจธ. ยังกล่าวเสริมว่า การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเบื้องต้น เพื่อเก็บข้อมูลเส้นทางของเหยี่ยวนกเขาอพยพ ซึ่งหากมีการเก็บข้อมูลเช่นนี้ต่อเนื่อง ก็จะสามารถนำมาเปรียบเทียบเส้นทาง และได้พบชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้นหากเส้นทางในแต่ละปีมีความชัดเจน แล้วเกิดมีเหยี่ยวนกเขาหายไปจากจุดใดจุดหนึ่งซ้ำๆ ก็อาจทำให้นักอนุรักษ์ หรือเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบ เพราะอาจเกิดการล่าเกิดขึ้นที่บริเวณดังกล่าวก็ได้ ขณะนี้ ทีมวิจัยได้มีการติดต่อกับทีมวิจัยต่างประเทศ เพื่อร่วมกันแบ่งปันข้อมูลและศึกษาวิจัยและต่อยอดในการอนุรักษ์แหล่งหากินและแหล่งทำรังวางไข่ตลอดเส้นทางการอพยพของเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิด


ด้านนางรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สวทช.กล่าวว่า ตัวนกที่บินผ่านเส้นทางนี้ค่อนข้างทรหดอดทนมาก เพราะว่าต้องพบกับอะไรหลายอย่าง เช่น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การทำลายที่อยู่อาศัย หมอกควัน แต่ก็ถือว่าการดำเนินการวิจัยครั้งนี้เป็นขั้นเริ่มต้น เพราะต่อไปจะมีการพัฒนาด้าน AI เข้ามาช่วยนับหน้าเหยี่ยว เวลาเหยี่ยวบินผ่าน ก็ต้องลองดูว่าจะทำได้ไหม แล้วก็จะเปลี่ยนสัญญาณดาวเทียม GPS เป็นสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้บริเวณที่อับสัญญาณดีขึ้น และจะติดสัญญาณที่ตัวเหยี่ยวเพิ่มมากขึ้นจาก 8 ตัว ซึ่งทำให้ด้รู้ถึงความผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะติดเพิ่มทั้งสองพันธุ์พันธุ์ละ20ตัว เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น จะได้ทราบว่า บินตรงไปยังที่ใดบ้าง เพราะจะทำให้เราอนุรักษ์เส้นทางและแนวทางเกี่ยวกับเหยี่ยวนกเขาได้ตรงจุด และตอนนี้สามารถติดตามเส้นทางการอพยพและตำแหน่งของเหยี่ยวได้ โดยการดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์  www.argos-system.org ผ่านแอปพลิเคชัน CLS view บนมือถือ ซึ่งถือว่ามีความสะดวกและรวดเร็ว นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในด้านการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวได้


 สวทช.และทีมวิจัยมจธ. พร้อมด้วยมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"