'มติแบนสารพิษ' การเคลื่อนไหว ในความยืดเยื้อและผลประโยชน์ต่อรอง


เพิ่มเพื่อน    

  ก็เป็นไปตามคาดกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ให้มีการแบนสารเคมีพิษ ได้แก่ พาราควอต,  คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพราะเมื่อฝ่ายการเมือง โดยรัฐมนตรีผู้กุมนโยบายในสามกระทรวงหลัก  คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข แสดงท่าทีขึงขังให้มีการแบนสารเคมีพิษดังกล่าว

                โดยรัฐมนตรีบางกระทรวงถึงกับเอาเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเดิมพัน หากไม่สามารถผลักดันให้มีการแบนสารพิษทั้งสามชนิดภายในวันที่ 1 ธันวาคม แล้วกรรมการวัตถุอันตรายที่หลายคนเป็นข้าราชการประจำ ในสามกระทรวงดังกล่าว มีหรือจะกล้าแข็งขืน และที่สำคัญเป็นที่ชัดเจนว่ากระแสสังคม เสียงประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแบนสารพิษเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่เดิมเคยมีมติไม่ให้มีการแบนสารพิษทั้งสามชนิดนี้ จึงต้องเปลี่ยนไปอย่างที่เห็นด้วยเพราะฝืนกระแสสังคมไม่ไหว

                ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มติของที่ประชุม คณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันอังคารที่ 22 ตุลาคม ที่มี  ภานุวัฒน์ ตรียางกูรศรี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหน้าที่ประธาน เสียงส่วนใหญ่จึงมีมติให้มีการแบนสารพิษทั้งสามชนิด โดยห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามใช้ ด้วยผลการออกเสียงที่ออกมาคือ

                1.พาราควอต แบน 21 เสียง จำกัดการใช้ 5 เสียง

                2.คลอร์ไพริฟอส แบน 22 เสียง จำกัดการใช้ 4 เสียง

                3.ไกลโฟเซต แบน 19 เสียง จำกัดการใช้ 7 เสียง

                แม้ผลการออกเสียงจะแสดงให้เห็นว่า มีกรรมการบางคนที่ยังคงยืนยันไม่ให้มีการแบนสารพิษ แต่เมื่อเสียงข้างมากเอาด้วยกับการแบนสารพิษ ผลการออกเสียงจึงเป็นอย่างที่เห็น บนความยินดีของคนจำนวนไม่น้อย แม้รู้ดีว่ายังอาจจะมีความพยายามขัดขวางมติดังกล่าว โดยใช้บางช่องทางเพื่อหวังยื้อการแบนสารพิษ เช่น การร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้มติของกรรมการมีผล และรับไปพิจารณาคำร้อง เผื่อว่าศาลอาจจะมีมติให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะฝืนกระแสสังคม ที่ต้องการให้มีการแบนสารพิษทั้งสามชนิด เพราะด้วยข้อมูลทางการแพทย์, วิชาการ, การเกษตร ฯ ที่ฝ่ายผู้สนับสนุนการแบนสารพิษนำมาเสนอต่อสังคม ถึงตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าหนักแน่นกว่าฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีการแบน แม้ฝ่ายดังกล่าวจะพยายามอ้างถึงผลกระทบต่อเกษตรกร ที่ว่าหากมีการแบนแล้วจะทำให้เกษตรกรประสบปัญหาการใช้สารเคมีทำการเกษตร โดยเฉพาะหากต้องใช้สารอื่นที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่า อันจะทำให้ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่เมื่อกรมวิชาการเกษตรยืนยันว่า ถึงมีการแบนพาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ก็สามารถแนะนำสารทดแทนชนิดอื่นๆ ให้เกษตรกรได้ จึงทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนการแบนก็ยังเชื่อว่า ถึงอย่างไรเรื่องนี้ชัยชนะต้องเป็นของประชาชนแน่นอน

                ทั้งนี้ มติดังกล่าวของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ถือเป็นการจบการทำงานโดยไม่มีเสียงก่นด่าไล่หลัง และน่าจะเป็นการประชุมนัดสุดท้ายแล้ว เพราะคณะกรรมการชุดปัจจุบันจะต้องพ้นสภาพไม่เกินวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคมนี้ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกันใหม่ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2562 ฉบับแก้ไข ที่มีการประกาศใช้เมื่อ 30  เมษายน 2562 โดยโครงสร้างคณะกรรมการเดิมที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือรองปลัดฯ ที่ปลัดกระทรวงมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็จะเปลี่ยนมาเป็น รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธานแทน นั่นหมายถึงว่าตั้งแต่ 28 ต.ค.นี้เป็นต้นไป สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมก็จะมาเป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายแทน

                บรรยากาศหลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติดังกล่าว "อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทย" พรรคการเมืองต้นสังกัดของ "มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ที่ยืนยันต้องมีการแบนสารพิษ" ได้พูดถึงมติดังกล่าวไว้ว่า

                “สิ่งที่ดีใจคือ เราได้เห็นว่าประเทศไทยยังมีข้าราชการและนักวิชาการที่มีคุณธรรม และมีสำนึกต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคณะกรรมการที่ลงมติแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด”

                ทั้งนี้ก่อนหน้าจะมีมติดังกล่าว ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการลงมติไม่กี่ชั่วโมง กลุ่มเรียกร้องให้มีการแบนสารพิษ และกลุ่มคัดค้านที่ยืนยันไม่ต้องการให้แบนสารพิษ มีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการที่ทั้งสองฝั่งต่างพยายามให้ข้อมูลผ่านเครือข่ายสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับประชาชน

                อาทิ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ นายแพทย์และนักวิชาการชื่อดังที่ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแบนสารพิษดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

                ศ.นพ. ธีระวัฒน์ ได้นำเสนอข้อมูลทางการแพทย์เรื่อง “ผลความเสียหายของสารเคมีพิษต่อระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนหน้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติดังกล่าวหนึ่งวัน ข้อความตอนหนึ่งว่า

                "การคิดในเชิงระบบต้องนำข้อที่ให้ผลดีและให้ผลร้ายนำมาพิจารณาการกล่าวอ้างของบางคน ที่ว่าการแบนทำให้ผลผลิตลดลง คนไทยจะขาดอาหาร ทั้งๆ ที่ทราบผลร้าย น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติทางสมองในกระบวนการการพิจารณาข้อมูล ความมีเหตุมีผล ร่วมกับการที่ขาดความรับผิดชอบต่ออาชีพการงานของตนเองและต่อสังคม

                สารเคมีพิษฆ่าแมลงในกลุ่มของออแกโนฟอสเฟต ทำร้ายคนมาเนิ่นนาน พอๆ กับพาราควอต

                สาเหตุของการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยพวกเราที่เคยดูคนไข้คงจำได้ติดตา น้ำลายฟูมปาก รูม่านตาหดเล็ก ท้องเสีย หลอดลมตีบหายใจลำบาก ถ้าผ่านเฟสแรกไปได้อาจตามต่อด้วยระยะที่สองที่เราเรียกว่า intermediate syndrome มีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หายใจไม่ได้และกล้ามเนื้อคออัมพาต ยกคอไม่ขึ้น ตอนที่ดูคนป่วยรายนั้น เป็นตอนที่ Senanayake รายงานในปี 1987 ในวารสาร นิวอิงแลนด์ พอดีผู้ป่วยต้องติดอยู่ในเครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน และคนป่วยในลักษณะอย่างนี้ตามต่อไปด้วยความผิดปกติของเส้นประสาท

                พวกเราที่เป็นหมอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขพบผลลัพธ์อันตรายของสารเคมีพิษเหล่านี้ เฝ้ารักษา และเห็นกับตาถึงการเสียชีวิต ความทรมานของผู้ป่วยและครอบครัว ยิ่งสืบสาวราวเรื่องหาสาเหตุก็จะได้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ถึงการโหมประโคมใช้สารเคมีพิษเหล่านี้อย่างไร้ความรับผิดชอบ

                ผลกระทบที่ไม่ได้เห็นคาตาในระยะเฉียบพลันค่อยๆ โผล่ออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

                โรคทางสมอง พาร์กินสัน ซึ่งได้มีโอกาสไปฟังบรรยายขณะอยู่ที่ รพ.จอห์นส ฮอปกินส์ จากผู้ที่เริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ในที่สุดแล้วโลกเราจะต้องประสบกับคนป่วยที่เป็นพาร์กินสันมากขึ้นเรื่อยๆ จากการใช้พาราควอต เพราะมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับสารเคมีที่มีคนสังเคราะห์มาใช้เป็นยาเสพติด ซึ่งเมื่อได้รับไปจะเกิดเป็นพาร์กินสันเฉียบพลัน และในเวลาไม่นานต่อมามีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่า พาราควอตเองนั้น ผ่านผนังหลอดเลือดเข้าสมองได้ และจากอีกกลไกที่ก่อให้เกิดการอักเสบในลำไส้และเหนี่ยวนำให้เซลล์ในผนังลำไส้สร้างโปรตีนบิดเกลียวเคลื่อนไปตามเส้นประสาทเข้าสู่สมองและก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน ซึ่งกลไกในลำไส้เช่นนี้เป็นกลไกร่วม ไม่ใช่แต่เพียงพาราควอตตัวเดียว แต่รวมถึงสารเคมีพิษตัวอื่นๆ ทั้งหลาย และทำให้อธิบายได้ว่าทำไมสารเคมีเหล่านี้ถึงก่อให้เกิดโรคทางสมอง ทางระบบประสาทและทางไขสันหลังได้คล้ายคลึงกัน และโดยที่มีกลไกถึงแม้ว่าจะต่างตำแหน่งกัน แต่ทำให้ระบบป้องกันตัวของร่างกายเสียไป และไปกระตุ้นระบบพิษในร่างกายให้ทวีคูณขึ้นรวมกระทั่งถึงการก่อมะเร็ง"

                กระแสหนุนให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว จนนำมาสู่มติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย จุดสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ทรงพลัง สร้างแนวร่วมจากหลายภาคส่วนได้มาก ต้องยอมรับว่าข้อมูลทางการแพทย์คือปัจจัยสำคัญที่สุด ที่ทำให้การเคลื่อนไหวประสบผลสำเร็จ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"