ล็อกเป้าซักฟอก 17-19 ธ.ค. เผยทหารส่งข้อมูลลับให้ฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

                นับถอยหลังใกล้ถึงการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่สอง ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป  รวมเวลาร่วม 4 เดือน คาบเกี่ยวไปถึงเดือน ก.พ.ปีหน้า โดยสมัยประชุมสภารอบนี้มีการเมืองหลายเรื่องร้อนให้ต้องติดตาม เช่น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ต้องทำภายในไม่เกินเดือน ธ.ค.นี้ รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สภาจะตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไข รธน.

               แกนนำ-ตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้ความชัดเจนถึงการทำงานของฝ่ายค้านในสมัยประชุมสภารอบนี้ ระหว่างที่เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับ นสพ.ไทยโพสต์ ณ สำนักงานไทยโพสต์ ในวันก่อตั้งไทยโพสต์เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา

                โดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า สมัยประชุมสภารอบนี้ฝ่ายค้านเห็นว่า หลังจากรัฐบาลได้แถลงนโยบายและเข้ามาทำงานในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ก็ยังทำผลงานได้ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน พบว่ามีข้อบกพร่องมากมาย ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงรัฐมนตรีในหลายกระทรวง ที่แม้จะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่เมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีการตรวจสอบรัฐบาลที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลและการยื่นญัตติต่างๆ โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เริ่มหารือกันถึงเรื่องการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล หรือรัฐมนตรีรายกระทรวง เหตุผลที่จะเกิดขึ้นในช่วงต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่าให้สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ปีละหนึ่งครั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแม้จะมีสิทธิ์อภิปรายได้ปีละหนึ่งครั้ง แล้วฝ่ายค้านจะต้องใช้สิทธิ์อภิปรายให้ครบ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเหตุผลว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ มีความบกพร่องและเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ อย่างไร

                ส่วนการแก้ไข รธน.ที่สภาจะพิจารณาญัตติขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน. ที่ พรรคร่วมฝ่ายค้านและหลายพรรคการเมือง เช่น ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ ก็ร่วมเสนอญัตติให้สภาตั้ง กมธ.ด้วยเช่นกันนั้น หัวหน้าพรรคประชาชาติ-อดีตประธานรัฐสภา กล่าวย้ำว่า หลังจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ออกไปพบปะประชาชนตามภูมิภาคต่างๆ กระแสที่ออกมาเกือบจะเป็นเอกฉันท์ ทุกคนเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีข้อบกพร่องอยู่มากมาย เช่น ระบบการเลือกตั้ง, การแต่งตั้งบุคคลต่างๆ เป็นต้น แต่เราจะไม่พูดเรื่องรายละเอียดเนื้อหาการแก้ไข เพราะอาจมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่เราจะขอแก้ไขในเรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในมาตรา 256 ที่เป็นบทบัญญติว่าด้วยวิธีการแก้ไข รธน. เราเห็นว่ากฎเกณฑ์กติกาที่เขียนไว้ใน รธน.แทบจะไม่ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาได้มีโอกาสแก้ไขเลย จะต้องมีการแก้ไข รธน.มาตรา 256 เพื่อให้สามารถนำไปสู่การแก้ไข รธน.ได้

หัวหน้าพรรคประชาชาติ ย้ำว่าแนวทางที่พูดกันมากพอสมควรก็คือ จะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขเป็น รธน.ฉบับของประชาชนเหมือนเช่น รธน.ปี 2540 โดยเชื่อว่าเมื่อมีการแก้ไขมาตรา 256 ได้สำเร็จ แล้วให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนของเขามาแก้ไข แล้วได้เข้ามาพิจารณา รธน.ที่ผ่านมาทั้งหมดที่มีทั้งดีและไม่ดี ก็คัดสรรเอาอันไหนไม่ดีก็ตัดออกไป เรื่องใดที่ดีก็นำมารวมให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งนี้คือแนวทางที่เราพูดกันไว้คร่าวๆ

               เมื่อถามย้ำว่าจุดยืนของฝ่ายค้านก็คือ แนวทางให้มีการตั้งสภาร่าง รธน.เพื่อยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ทั้งฉบับ หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวตอบว่าใช่ ทำนองนั้น แต่ขณะนี้เรายังไม่อยากพูดล่วงหน้า แต่ก็ทำนองนั้น ที่เราหวังก็คือการแก้ไข รธน.จะสำเร็จได้ต้องมีพลังของประชาชนจำนวนมากมาร่วมผลักดัน

                ด้าน สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านย้ำอยู่เสมอว่าการแก้ไข รธน.ที่จะเกิดขึ้น หมวด 1 กับหมวด 2 เราจะไม่แตะ สิ่งนี้ฝ่ายค้านยืนยันได้  สำหรับเหตุผลที่ต้องมีการแก้ไข รธน.ก็เพราะต้องยอมรับว่า รธน.ฉบับปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ แม้กระทั่งรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เป็นคนร่าง รธน. เป็นคนเขียนขึ้นมา จะเห็นได้ว่าตั้งแต่สมัยยังเป็น คสช.ก็มีการใช้มาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้ รธน.เป็นสิบครั้ง สิ่งนี้คือข้อเท็จจริง แม้กระทั่งหลังการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลก็ยังทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง ดังนั้นหากไม่แก้ไข รธน.ก็จะบริหารประเทศไม่ได้ ประเทศไปไม่ได้ ไม่ใช่ฝ่ายค้านไปไม่ได้ เช่นคนจะกล้ามาลงทุน เขาจะดูว่า รธน.เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ สำคัญมากเรื่องนี้ ถ้าไม่แก้ประเทศไปไม่รอด

               สำหรับประเด็นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นิคม บุญวิเศษ-หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ระบุว่า การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามที่ฝ่ายค้านได้คุยกันคร่าวๆ ช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นกลางๆ เดือนธันวาคม ในช่วงประมาณวันที่ 17-19 ธ.ค. จะเร็วกว่านั้นก็ไม่ได้เพราะจะมีงานสำคัญ แต่หากช้ากว่านี้ก็จะติดปีใหม่ ส่วนการอภิปรายที่อาจมองกันว่าทำไมต้องยื่น ทั้งที่รัฐบาลเพิ่งเข้ามา แต่จริงๆ ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้ทำงานมาแล้วห้าปี เพราะนายกฯ ก็คนเดิม ซึ่งก็เชื่อว่าจะมีงบค้างท่ออยู่ส่วนหนึ่งที่เราต้องดู แต่จะถามว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง ก็คงยังบอกไม่ได้ในตอนนี้ แต่มีแน่นอน อีกอย่างที่เราเป็นห่วงคือรัฐบาลมาครั้งนี้ เขาต้องถอนทุนแน่นอน ซึ่งเรื่องผลงานคิดว่าครึ่งปีแรกผลงานรัฐบาลยังไม่ออกแน่นอน เพราะว่าต้องถอนทุน เพราะลงทุนเยอะ อย่างเรื่องงบประมาณที่เราอภิปรายกัน ก็ชัดเจนว่ามีการซ่อนงบกันเอาไว้ ซึ่งจะว่ากันตอนอภิปราย

                ขณะที่ สงคราม-หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ให้ข้อมูลสำทับว่า หลังเริ่มมีข่าวฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีประชาชนและนักวิชาการส่งข้อมูล แม้กระทั่งข้าราชการและทหารด้วย ส่งข้อมูลมาให้เราเยอะเลย โดยบางเรื่องเราก็ยอมรับว่าเรายังไม่รู้ แต่ปรากฏว่าอินไซเดอร์ส่งข้อมูลมาให้เรา เราลองเช็กดูก็พบว่าเป็นเรื่องจริง

และปิดท้ายที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ย้ำว่า สำหรับเรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ข้อมูลที่เข้ามาแม้ดูเหมือนรัฐบาลจะเพิ่งบริหารประเทศได้ไม่นาน แต่ข้อมูลที่เข้ามา การทุจริตเชิงนโยบายเยอะมาก และการเอื้อพวกพ้องที่เราเห็นว่ารัฐบาลต้องเอาเงินภาษีประชาชน ที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบปีละร่วม 3 ล้านล้านบาท ถ้าเราเห็นร่องรอยตรงนี้ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมมา ซึ่งตอนนี้ ข้อมูลก็เข้ามาเยอะและบางเรื่องเขาน่าจะตอบคำถามไม่ได้

นี่แค่เริ่มวอร์มอัพการเมือง สภายังไม่เปิด แต่ก็พอจับทิศทางได้ว่า สมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรรอบนี้ดุเดือด เข้มข้นแน่นอน.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"