นับถอยหลัง ก่อนตัดสินคดีดัง “จรัญ” ย้ำ วิจารณ์คำวินิจฉัยได้


เพิ่มเพื่อน    

 

        หลายฝ่ายกำลังจับตาว่า สุดท้ายแล้วอนาคตทางการเมืองของ "เสี่ยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่" จะได้กลับมาเป็น ส.ส.อย่างเต็มตัว หรือจะต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. จากผลพวงคดีถือหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดลงมติและฟังคำวินิจฉัยกลางในวันพุธที่ 20 พ.ย.นี้

                ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเกิดอะไรขึ้นกับธนาธร เช่น ผลการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญไม่เป็นคุณกับธนาธร มันย่อมมีผลทางการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคที่ติดค้างเงินกู้ธนาธรอยู่ร่วม 191 ล้านบาท หลังยืมมาใช้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง และที่ทำการพรรคปัจจุบัน ณ ตึกไทยซัมมิท ก็ยังเป็นทรัพย์สินของกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจของธนาธร

                ดังนั้น หากวันที่ 20 พ.ย. ธนาธรไม่รอด แล้วตามด้วยการที่ กกต.จะนำผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ไปขยายผลยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อให้ศาลตัดสิทธิ์การเมืองธนาธร ฐานรู้อยู่แล้วว่าถือครองหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้ง แต่ยังลงเลือกตั้ง ซึ่งหากธนาธรไม่รอดในชั้นนี้ ก็อาจต้องติดโทษแบนยาว แต่ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลย หากวันที่ 20 พ.ย. ศาล รธน.ยกคำร้องของ กกต. หากเป็นแบบนี้ธนาธรก็ได้กลับมาเป็น ส.ส.เต็มตัวอีกครั้ง จึงต้องรอฟังผลคำตัดสินของศาล รธน. ในวันที่ 20 พ.ย.นี้กันต่อไป

                ขณะเดียวกัน ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบันก็ยังมีอีกหลายคำร้องสำคัญที่รอให้ลงมติ-วินิจฉัย เช่น คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ผู้ร้องคือ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งตอนนี้ทั้งฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้ถูกร้องคือพรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาล รธน.เรียบร้อยแล้ว หรือคดีถือครองหุ้นสื่อก่อนการเลือกตั้ง ที่ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านถูกยื่นร้องกันหลายสิบคน ก็คาดว่าคดีความทั้งหมดน่าจะรู้ผลกันในอนาคตอันใกล้ ช้าสุดคงไม่เกินปลายปีนี้

                เพราะมีข่าวว่า ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบันก็พยายามเร่งทำคำวินิจฉัยกันให้เสร็จ เนื่องจากในเดือน พ.ย.นี้ วุฒิสภาก็เตรียมลงมติ เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ รายชื่อว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ จำนวน 5 คน ที่จะเป็นเสียงข้างมาก เข้ามาทำหน้าที่แทนตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบัน 5 คน ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้ระหว่างนี้อยู่ในช่วงรอการเปลี่ยนผ่าน

                ทำให้คดีความสำคัญๆ ต่างๆ ที่ค้างอยู่ในศาล รธน.ก็ใกล้งวด รู้ผลคำวินิจฉัย เข้ามาทุกทีแล้ว เพราะตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบัน 5 คน ก็ต้องเร่งเคลียร์กันให้เสร็จ ทำคดีที่คั่งค้างให้หมดทุกคำร้อง ก่อนที่ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ 5 คนเข้ามา ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาได้ หากตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่เข้ามา 5 คน โดยที่ไม่เคยได้พิจารณาคำร้องมาก่อน จะทำให้เกิดปัญหาในการลงมติและเขียนคำวินิจฉัยได้

                คดีความการเมืองที่คั่งค้างดังกล่าว โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ เช่น คดีของธนาธร, คดียุบพรรคอนาคตใหม่, คดีรัฐมนตรี และ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อ ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่า ผลแห่งคดีไม่ว่าจะออกมาทางไหน ย่อมมีทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล รธน.ที่จะตามมาแน่นอน

                จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่อยู่ในตำแหน่งมาถึง 11 ปีกว่า นับจากเข้าทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2551 และกำลังจะพ้นจากการเป็นตุลาการศาล รธน.ในอนาคตอันใกล้ กล่าวถึงกรณีการพิจารณาสำนวนคดีของศาล รธน.ในบางคดีที่ผู้ถูกร้องเป็นคนที่มีมวลชน มีผู้สนับสนุนอยู่เยอะ หากศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยอะไรออกมา ก็ต้องมีแรงกดดัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดยจรัญย้ำว่า การทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่มีแรงกดดันอะไรมากนัก ปัญหาอยู่เพียงว่า เราทำได้ถูก-ตรงไหม ข้อเท็จจริงตรงกับความจริงไหม ตรงนี้ยาก แล้วข้อกฎหมายเป็นไปเพื่อประเทศชาติและประชาชนหรือไม่

                ถ้ามั่นใจ ทำเลยไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคดีไหน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคนหรือใคร จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ร่ำรวยขนาดไหน มีมวลชนมากขนาดไหน  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันเราผ่านมาหมดแล้ว

                จรัญ-ตุลาการศาล รธน. ยืนยันด้วยว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการประกาศข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ซึ่งในข้อ 10 กำหนดให้ห้ามบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายตามคำสั่งศาล หรือวิจารณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาล โดยไม่สุจริตหรือใช้ถ้อยคำ หรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี ปลุกปั่น ยุยง หรืออาฆาตมาดร้ายนั้น ในข้อเท็จจริงแล้ว ข้อกำหนดบอกว่าไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์โดยไม่สุจริต ก็แปลว่า หากวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ก็ทำได้ และก็ทำกันทั่วโลก

                ผมก็ทำมาตลอด ผมก็วิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาทั้งศาลปกครอง ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็วิพากษ์วิจารณ์ แต่ผมทำโดยสุจริต ผมไม่ได้ทำไปเพื่อให้ร้าย หรือทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อศาล เราจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อศาลไม่ได้ เพราะจะทำให้ศาลทำหน้าที่ไม่ได้ ประโยชน์ที่จะเคยเกิดกับประชาชนจะเสียหมด

                ก็ยึดหลัก 1.ขอให้ทำโดยเจตนาสุจริต 2.อย่าบิดเบือน 3.ต้องตรวจสอบอย่าให้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง หากศาลตัดสินโดยใช้หลักนี้ เหตุผลนี้ แต่คุณไม่นำมาเสนอ โดยข้ามไป หรือบางทีข้อมูลที่เสนอผิดเลย ข้อมูลตรงข้ามกับคำพิพากษาเลย แบบนี้ไม่ได้ อย่างนี้เสียหาย ไม่ใช่กับตัวบุคคล ต่อศาล แต่เสียหายต่อระบบงานยุติธรรมของประเทศ ต้องเช็ก ต้องอ่านคำพิพากษาด้วย อย่าวิพากษ์วิจารณ์บนข่าวที่เป็น secondary source ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์เขา ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย ต้องตรวจสอบลงไปที่ primary source คำพิพากษาของเขา ต้องอ่านและวิเคราะห์

                4.ต้องวิพากษ์วิจารณ์ในเชิง constructive ไม่ใช่ destructive การวิพากษ์วิจารณ์มี 2 แนว คือ วิพากษ์วิจารณ์เพื่อชี้จุดอ่อน ข้อด้อย ข้อผิดพลาดเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนา หรือ constructive ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์แบบชี้นำความโกรธความเกลียดชัง เช่น “แบบนี้เลว ต่อไปอย่าไปเชื่อมัน” แบบนี้ไม่ได้ประโยชน์กับใคร อย่าทำเลย คุณทำไปเพื่ออะไร อย่าว่าแต่ศาลเลย พี่น้องเรา เพื่อนเรา เราวิพากษ์วิจารณ์แล้วบอกเขาว่า “ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะมันผิด อย่าทำมันอันตราย ควรทำอีกแบบดีกว่า” ไม่ใช่มาบอกว่า “อย่าไปคบคนนั้น มันเลว พวกเราอย่าไปคบ“ จะเห็นได้ว่ามันคนละแบบกันเลย

                และประการสุดท้าย ควรทำอย่างสุภาพชน ไม่ใช่ด่า เพราะคำด่าไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนถูกด่า ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนด่า แต่กลับจะเป็นโทษต่อคนด่า และไม่เป็นประโยชน์ต่อคนที่ได้ยินคำด่า เช่น ด่าว่าเป็นศาลแกงการู คำออสเตรเลีย แบบนี้ไม่ได้ เขาไม่ยอมหรอก หรือมาบอก ”ไอ้ศาลอยุติธรรม” “ไอ้ศาลรับใบสั่ง” “ศาลหน้าด้าน” แบบนี้ วิพากษ์วิจารณ์หรือ นี่คือคำด่า คำดูหมิ่น ขนาดชาวบ้าน คุณจะไปดูหมิ่นเขายังไม่ได้เลย ยังผิดกฎหมายอาญาเลย ซึ่งมันไม่มีประโยชน์กับใครเลย

                เมื่อถามถึงว่า ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะในสังคมโซเชียลมีเดีย จรัญให้ความเห็นว่า ดีกว่าคำชม คำชมไม่ค่อยได้ประโยชน์ แต่คำติติง วิพากษ์วิจารณ์ แม้กระทั่งคำด่า ว่าร้าย มีประโยชน์สำหรับเรา เพราะมันจะทำให้เราสะท้อนกลับมาดูตัวเอง ว่าทำไมภาพเราในกระจกเงา ทำไมเป็นแบบนั้น ให้เราดูตัวเราว่า เราเลวแบบนั้นหรือเปล่า ถ้าจริงแม้แต่น้อย ต้องขอบคุณเขาเลย เขาชี้ขุมทรัพย์ให้เรา เพราะมันมีประโยชน์ ทำให้เราได้ปรับปรุงตัว

                ยิ่งหากเขาติในเชิงสร้างสรรค์ ยิ่งต้องกราบเลย ส่วนคำชม ผ่านหูแล้วให้ผ่านไป ไม่มีประโยชน์อะไร อย่าหลงละเมอเพ้อพกไปกับคำสรรเสริญเยินยอ ไม่มีประโยชน์ ถ้าเรามั่นใจว่าเราทำถูกต้อง ไม่ต้องการคำชม ไม่ต้องการรางวัล

                เป็นท่าทีของตุลาการศาล รธน.ก่อนถึงวันลงมติคดีสำคัญๆ ที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองกันอย่างใกล้ชิด. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"