มนัญญาพร้อมแจงมะกัน แฉกลัวกระทบพืชGMO!


เพิ่มเพื่อน    

 ไบโอไทยแฉ "มอนซานโต้" เจ้าพ่อจีเอ็มโอดิ้นหนัก  หลังไทยแบนสารเคมีพิษ 3 ชนิด กลัวกระทบนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีมาไทย มูลค่า 5.1 หมื่นล้านบาท เพราะสหรัฐยังใช้สารไกลโฟเซตอยู่ เกษตรฯ เผยต้องใช้งบ 3 พันล้านทำลายสารอันตราย 

    หลังสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาการแบนสารไกลโฟเซต 1 ใน 3 สารเคมีทางการเกษตร โดยให้พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อ้างว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย
    ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม เพจเฟซบุ๊ก BIOTHAI ของมูลนิธิชีววิถี แฉว่านอกเหนือจากเหตุผลที่ไบโอไทยวิเคราะห์การที่รัฐบาลสหรัฐคัดค้านการแบนไกลโฟเซตว่าเกิดขึ้นเนื่องจากความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ไกลโฟเซตกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมของบริษัท มอนซานโต-ไบเออร์ ซึ่งมีอิทธิพลสูงในรัฐบาลสหรัฐแล้ว เนื้อหาในหนังสือของ USDA ที่ส่งมายังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 7 คนในรัฐบาลยังระบุว่า การแบนไกลโฟเซตจะกระทบกับการส่งออกสินค้าสหรัฐมายังประเทศไทย โดยระบุว่าจะกระทบกับการส่งออกข้าวสาลี ถั่วเหลือง และองุ่น เป็นต้น
         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 นั้น ในข้อ 4 ระบุว่า
       "ข้อ 4 อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศนี้"
         ดังนั้น การประกาศให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายอาจจะกระทบกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสหรัฐที่มีการใช้ไกลโฟเซตมายังประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากสหรัฐยังมิได้แบนไกลโฟเซต และมีการใช้ไกลโฟเซตปริมาณมหาศาลเนื่องจากการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานราวด์อัพในสหรัฐ และผลการตรวจพบว่าถั่วเหลือง ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์หลายชนิดปนเปื้อนไกลโฟเซตในระดับต่างๆ จนรัฐบาลสหรัฐประกาศเพิ่มค่า MRL ของไกลโฟเซตหลายเท่า เพื่อให้ระดับการตกค้างในผลผลิตไม่ผิดกฎหมายในสหรัฐเอง
         ในหนังสือของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า การแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐประมาณ 51,000 ล้านบาท/ปี ในขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐมีมูลค่า 73,194,348,000 บาท 
         ในกรณีรัฐบาลสหรัฐนั้น เมื่อ EPA ประกาศแบนคาร์โบฟูราน หรือชื่อการค้าที่คนไทยรู้จักดี "ฟูราดาน" ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่คือบริษัทสหรัฐ FMC นั้น รัฐบาลสหรัฐแม้จะยกเลิกค่า MRL สำหรับผลิตผล/ผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศของตน (ซึ่งหมายถึงจะมีสารพิษดังกล่าวตกค้างในสินค้าไม่ได้) แต่ก็อนุญาตให้ผลผลิตนำเข้าที่ส่งจากต่างประเทศมายังสหรัฐสามารถมีฟูราดานตกค้างได้ แต่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทสหรัฐเอง ที่จะสามารถส่งคาร์โบฟูรานไปขายยังประเทศอื่นได้อย่างชอบธรรม แม้ประเทศตนจะแบนสารดังกล่าวแล้วก็ตาม
         อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้วก็ตาม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 แต่ตามบัญชีท้ายคำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 ในบัญชี 1 ยังมิได้รวมไกลโฟเซตอยู่ในรายชื่อแต่ประการใด
         ผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐจึงยังมิได้เกิดขึ้นแต่ประการใด ทั้งนี้ โดยไม่ต้องกล่าวถึงว่าที่ผ่านมาประเทศไทยแทบมิได้มีการตรวจสารพิษตกค้างในธัญพืชสำคัญ ทั้งข้าวสาลี และถั่วเหลืองที่นำเข้ามาจากสหรัฐเลยก็ตาม
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ว่า จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจง 
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข  กล่าวว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไปแล้ว และกระทรวงสาธารณสุขยืนยันตามมติเดิม ไม่ก้าวก่ายกระทรวงอื่นๆ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้เป็นกฎหมายของแต่ละประเทศก็ไม่ควรก้าวก่ายกัน
    ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดแล้ว เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการปรับเปลี่ยน จากเดิมเคยใช้พาราควอตและไกลโฟเซตเป็นสารป้องกันกำจัดวัชพืช ส่วนคลอร์ไพริฟอสใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช 
    สำหรับการกำจัดสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอส ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ปรับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า จำหน่าย และครอบครอง เมื่อกรมวิชาการเกษตรสำรวจปริมาณคงเหลือชัดเจนแล้ว เมื่อประกาศยกเลิกใช้ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายมีผลบังคับใช้ กรมวิชาการเกษตรต้องอายัดทั้งหมด เพื่อทำลายต่อไป การทำลายวัตถุอันตราย 3 ชนิด เบื้องต้นพบว่ามีปริมาณคงค้างรวม 29,869.58 ตัน จะต้องหาวิธีทำลายปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีการทำลายสารเคมีวัตถุอันตรายจำนวนมากเช่นนี้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรคาดว่ากว่าจะทำลายได้หมดจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
    แหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตรรายงานว่า กรมวิชาการเกษตรพิจารณาความเหมาะสมในการบริหารจัดการที่ยังคงเหลืออยู่ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากการสำรวจปริมาณคงเหลือของสาร 3 ชนิด เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่า พาราควอตยังมีในประเทศไทย 13,063.69 ตัน, ไกลโฟเซต 15,110.93 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 1,694.86 ตัน รวมทั้งสิ้น 29,869.58 ตัน โดยรัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการทำลายตันละ 100,000 บาท ดังนั้น จะต้องใช้งบประมาณในการทำลายเกือบ 3,000 ล้านบาท
    น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ทราบสหรัฐมีเหตุผลอะไร แต่เรื่องสุขภาพ สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ เป็นเรื่องที่ต้องดูแลไม่ให้คนไทยบริโภคสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ บางครั้งต้องขอให้แยกส่วนกัน หากสหรัฐสอบถามมา เราก็พร้อมชี้แจง เพราะนานาประเทศที่แบนสารเหล่านี้มีเหตุผลของแต่ละประเทศ ส่วนเรื่องความหนักใจหรือไม่ เมื่อทำอะไรไปแล้ว จะไม่คิด ไม่หนักใจเลย การเป็นผู้บริหารที่ต้องดูแลทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเกษตรกรและภาคเอกชน ไม่มีคำว่าแพ้หรือชนะ แต่ต้องเดินไปด้วยกัน ด้วยการพูดคุยและสร้างความเข้าใจกัน
    “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การขัดแย้งกับผู้บริโภค น่าจะเหมือนขัดแย้งกับเซลล์ขายยาแล้วในตอนนี้ แต่ก็ไม่รู้จะไปไกล่เกลี่ยหรือเจรจากับใคร เพราะทำในเส้นทางของตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าใครต้องการจะพูดคุยด้วย ก็พร้อมเปิดห้องเจรจากัน” น.ส.มนัญญากล่าว
    ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า วิธีการใช้ของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ไม่รู้สึกหนักใจที่การกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพราะกระทรวงทรัพย์ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องสารเคมีภาคการเกษตรต้องให้นายเฉลิมชัย เชื่อว่าน่าจะมีสารทดแทนอยู่แล้ว
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เผยว่า ยังเป็นห่วงว่าสินค้าบางตัวที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐ เช่น แป้งสาลี องุ่น หากยังใช้สารเหล่านั้นอยู่จะสามารถนำเข้ามายังประเทศไทยได้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งได้ให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาในฐานะ หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่แล้ว และขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่มีการส่งหนังสือใดๆ ตอบกลับไปยังสหรัฐแต่อย่างใด
    นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่กรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นข้าราชการระดับสูงของกรมและกระทรวงต่างๆ ลงความเห็นยกเลิกใช้สารเคมีการเกษตร 3 ชนิด โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่ลงความเห็น เพราะถูกอำนาจที่เหนือกว่าครอบงำ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเกษตรกร แต่อาจทำให้เกิดความล่มสลายของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตร เช่น การผลิตน้ำตาล การแปรรูปมันสำปะหลัง การผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยเสียหายอย่างร้ายแรง
    นายสุกรรณ์ แสงวรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคมนี้ ผู้แทนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด และไม้ผล จะไปร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส, พาราควอต และไกลโฟเซต เดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น อีกทั้งยังไม่มีมาตรการรองรับ ทั้งการหาสารทางเลือกที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกัน การสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลกำจัดวัชพืช และแรงงานที่จะใช้จัดการแปลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"