"ศรีอัมพร" ชี้ไทยต้องทบทวนบทบาทการเมืองระหว่างประเทศ หลังถูกสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพี


เพิ่มเพื่อน    


วันที่ 27 ต.ค.นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ให้ความเห็นกรณีประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย 571 รายการ มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมีผลอีก 6 เดือนข้างหน้า ว่า มีข้อน่าสังเกตว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการในด้านการค้า ด้วยการลดสิทธิประโยชน์ หรือเพิ่มกำแพงภาษีแก่ประเทศคู่ค้าของสหรัฐ ด้วยเหตุหลายประการคือ

 1. หากสหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบทางการค้า โดยไม่ต้องคำนึงถึงการแข่งขันทางการค้าเสรี โดยเห็นว่า หากสหรัฐถูกเอาเปรียบทางการค้า ก็ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐด้วย

 2. หากมีการห้ามนำเข้าซึ่งสินค้าที่สหรัฐฯ ผลิต ไม่ว่าเขาหรือคู่ค้าขายจะมีเหตุผลเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย หรือสารที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เช่นเรื่องบุหรี่ ยาสูบ สารอันตราย อย่างเช่นสารปราบศัตรูพืช ก็ดี หรือบรรดายาต่างๆ ที่สหรัฐรับรอง และเป็นผู้ผลิตเอง คู่ค้าขายสั่งห้ามนำเข้าซึ่งสินค้าประเภทนี้ เนื่องจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมของคู่ค้า สหรัฐจะไม่ฟังและถือว่า ประเทศคู่ค้ากีดกันทางการค้าเขาจะใช้วิธีตอบโต้ หรือที่เรียกว่า retaliate (ตอบโต้) กับประเทศคู่ค้าในทันที

3. การใช้ข้ออ้างเรื่อง Human rights (สิทธิมนุษยชน) หรือที่เรียกว่า การอ้างประเทศคู่ค้ามีการปกครองประเภทไม่เป็นประชาธิปไตย การละเมิดคุกคามประชาชน ปัญหาลิขสิทธิ์โดยละเมิด หรือละเลยต่อหลักนิติธรรม หรือที่เรียกว่าการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานเด็กโดยไม่มีการคุ้มครองแรงงานที่ดี ก็มักจะเป็นข้ออ้างที่สหรัฐอเมริกาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันทางการค้าด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากรหรือการเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเช่นนี้

4. สหรัฐจะใช้ข้ออ้างเรื่องที่ประเทศคู่ค้ามีพฤติกรรมในการสนับสนุนผู้ก่อการร้าย หรือมีส่วนร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายในการปฏิบัติการ การคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของการเดินทางระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้าหรือ sanction (คว่ำบาตร) ทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า การปิดล้อมทางการค้าและธุรกรรม

5. การเอาใจออกห่างจากอิทธิพลของสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่นประเทศตุรกี ที่ไม่ยอมซื้ออาวุธสงครามจากประเทศสหรัฐอเมริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่กลับไปซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศเช่น s300 และ s500 จากประเทศรัสเซีย ทำให้สหรัฐไม่พอใจและมีคำสั่งปิดล้อมทางการค้าและทางธุรกรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ที่สหรัฐยอมยกเลิกการปิดล้อมทางการค้าและธุรกรรมนี้ ก็เนื่องจากการต่อรองให้คงฐานทัพอากาศของสหรัฐอยู่ในดินแดนของตุรกี

6. การที่มีประเทศคู่ค้าไปทำสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านหรือเข้าไปแทรกแซง ถือหางความขัดแย้งของประเทศ ที่มีปัญหาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สหรัฐจะใช้มาตรการปิดล้อมทางการค้าและธุรกรรมจัดการกับประเทศคู่ค้าที่ยังขืนดื้อดึง ไม่ทำตามนโยบายของสหรัฐ เช่นประเทศรัสเซีย


ซึ่งเมื่อมาพิจารณาเหตุที่เกิดในประเทศไทยขณะนี้ ที่สหรัฐใช้มาตรการจีเอสพี หรือสิทธิพิเศษทางศุลกากรแก่ประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นมิตรประเทศแรกๆ เพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ดังกล่าว ทำให้สหรัฐมีอิทธิพลทางการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งการตัดสิทธิพิเศษทางด้านศุลกากร หรือจีเอสพี จะทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นอันเนื่องจากเสียภาษีเต็มอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่วนใหญ่สินค้าของไทยที่ส่งไปสหรัฐอเมริกามักจะเป็นสินค้าเกษตรกรรม ผลที่เกิดคือ ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำราคาลดลง เนื่องจากต้องมีต้นทุนทางภาษีศุลกากรสูง รายได้เกษตรกรก็จะมีผลกระทบคือราคาพืชผลตกต่ำ พ่อค้าผู้ส่งออกก็มีกำไรน้อย เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกปัจจัยหนึ่ง

โดยสหรัฐใช้เหตุผลประการแรกที่เป็นข้ออ้างในการยกเลิกสิทธิพิเศษในด้านภาษีศุลกากรของไทยก็คือ การที่รัฐไม่สามารถที่จะควบคุมเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ให้ได้ตามมาตรฐานของกฎหมายไทย และว่าด้วยมาตรฐานของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและสวัสดิภาพแรงงาน แม้ประเทศไทยจะพยายามลดข้อบกพร่องและเพิ่มมาตรการต่างๆ ไม่ว่าด้วยทางกฎหมาย และการใช้บุคลากรของรัฐ เพื่อปกป้องและคุ้มครองแรงงาน ให้ได้มาตรฐานสากลก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีนายจ้างบางคนหรือบางกลุ่ม ก็ยังมีพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยก็ดีหรือแรงงานต่างชาติก็ดี ก็มีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มในจ้างประเภทนี้ 

เราต้องยอมรับว่า แรงงานไทยก็ดีและแรงงานต่างชาติที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทยยังมีความอ่อนแอในการต่อรอง เนื่องจากนายจ้างเป็นผู้มีฐานะทางการเงินดี ย่อมได้เปรียบในการกำหนดเงื่อนไขหรือกำหนดค่าจ้างให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยใช้วิธีว่าหากไม่ยอมทำตามเงื่อนไข ที่ไหนแจ้งเสนอก็จะไม่รับเข้าทำงาน ทำให้ลูกจ้างที่ด้อยโอกาสและเสียเปรียบในการต่อรองต้องยอมรับเงื่อนไขสภาพการจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐานของกฎหมายและมาตรฐานสากล ความร้ายแรงประเภทนี้ใกล้เคียงกับการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานทาส ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ดี ประเทศต่างๆ ที่อยู่ในสังคมโลกรังเกียจ การที่รัฐใดรัฐหนึ่งไม่สามารถคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานและสภาพการจ้างได้และสภาพการจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน 

ประการต่อไปก็คือ การที่รัฐบาลหุนหันพลันแล่น ในการตัดสินใจแก้ปัญหาโดยไม่รอบคอบ และไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นตัวอย่างการยกเลิกการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด อันเกิดจากการเรียกร้องของบุคคลที่เรียกกันว่า Activist (นักเคลื่อนไหว) นักวิชาการหรือ NGO บางกลุ่มบางพวก ที่เรียกร้องและมีเสียงดัง การที่รัฐตื่นตกใจ ไม่ว่าด้วย ความหวังดีหรือด้วยเหตุผลการเมืองบางประการ จึงรีบยกเลิกสารกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว โดยมิได้พินิจพิจารณาและวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ทั้งยังไม่คำนึงถึงผลกระทบเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ตนไม่ได้ต่อต้านการเลิกการใช้สารดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลดีต่อคนไทย แต่ควรกระทำอย่างรอบคอบ มีการหารือกับกลุ่มการค้าในภูมิภาค

เมื่อมีข้อทักท้วงจากสหรัฐอเมริกาในเรื่องการยกเลิกสารดังกล่าว ก็ปรากฏว่า คนของรัฐบาลเองกับไปต่อล้อต่อเถียง และพูดในทำนองท้าทายและไม่ให้เกียรติต่อประเทศคู่ค้า ถึงขนาดมีคำพูดว่า ถ้าสารเคมีดังกล่าวไม่เป็นอันตราย ก็ให้ขายในประเทศของตัวเองก็แล้วกัน การคำพูดในลักษณะไม่ระมัดระวัง มารยาททางการเมืองระหว่างประเทศเช่นนี้ ก็อาจมีผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าที่คิดได้ และสิ่งนี้ก็อาจเป็นชนวนเล็กๆ ที่จุดให้เกิดปัญหาการยกเลิกสิทธิพิเศษทางด้านศุลกากรแก่สินค้าไทย ความเสียหายทางการค้าของไทยไม่ใช่สิ่งที่เราจะไม่ต้องคำนึงถึงหรือไม่แยแส 

อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกไปยังสหรัฐก็ยังถือว่าเป็นตลาดใหญ่ ที่ประเทศไทยจะต้องพึ่งพา เนื่องจากเศรษฐกิจ 70% ของประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกของสินค้าส่งออก การสูญเสียการส่งออกไปยังตลาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ยากแก่การแก้ไขอยู่แล้ว หากจะต้องแสวงหาตลาดการค้าใหม่นั้นเป็นความยุ่งยากที่ซับซ้อนยิ่งกว่าการรักษาหรือคงไว้ซึ่งตลาดส่งออกเดิมเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่เชื่อก็ไปถามกระทรวงพาณิชย์ดูก็คงจะทราบคำตอบดี บทบาทของรัฐบาลไทยที่ต้องระมัดระวังก็คือ การรักษาดุลแห่งอำนาจให้มีความมั่นคงที่สุด แล้วไม่ควรไปฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไป มิฉะนั้นเขาก็จะใช้วิธีการกีดกันทางการค้ามาบีบบังคับทางเศรษฐกิจแก่เรา 

เราจะให้เหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าถ้าประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งเกิดหมั่นไส้หรือแสดงความรังเกียจเรา เราก็ไม่ต้องคบค้าสมาคมด้วย แต่เราคงได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งที่เราไว้ใจ คำตอบก็คือคงไม่เป็นผลดีแก่ประเทศเรา เพราะประเทศมหาอำนาจเพียงกลุ่มเดียวก็ไม่อาจดูแลหรือช่วยเหลือประเทศเราได้ เราต้องพึ่งพาตนเอง อย่าไปพึ่งพาประเทศอื่น ปัญหาการถูกตัดจีเอสพีของสินค้าไทยไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่สัญญาณอันตรายครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางทางด้านความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ ที่มีความอ่อนแอลงเป็นอย่างมากในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ และปัญหานี้คงไม่ใช่ปัญหาสุดท้ายที่เราจะถูกกีดกันทางการค้า จึงไม่แน่ว่าต่อไปข้างหน้า เราจะถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นหรือไม่อย่างไร ปัจจัยที่เกิดก็คงเป็นปัญหาวนเวียนซ้ำซากอยู่เช่นนี้ 

ที่สำคัญก็คือปัญหาในเรื่องการแสดงออกโดยไม่คำนึงถึงมารยาททางการเมืองและมารยาทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือละเลย หรือคิดว่าการพูดอย่างสนุกปากจะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ความสัมพันธ์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เรามีบทเรียนหลายครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องการเผาธงชาติเพื่อประท้วงก็ดีการใช้ถ้อยคำด่าว่าเจ้าหน้าที่หรือเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ที่เราไม่พอใจก็ดี การที่ผู้ใหญ่ใช้ถ้อยคำตำหนิชนชาติอื่นที่มาท่องเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุจนเกิดกระแสตีกลับ ด้วยความเกลียดชังคำพูดจาที่ไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดปัญหาการท่องเที่ยว หรือคำพูดจาของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ก่อให้เกิดปัญหาความเกลียดชังระหว่างประเทศ จนเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนการดำเนินนโยบายต่างประเทศก็ดี การแสดงออกถึงการเอารัดเอาเปรียบทางการค้าก็ดี แต่ไม่รู้จักระมัดระวังการพูดจาตอบโต้กับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าด้วยการค้าความสัมพันธ์ หรือความขัดแย้งก็ดี ล้วนแต่เป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่อาจก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่เศรษฐกิจของประเทศไทย หากเกิดเหตุขึ้นก็ยากแก่การแก้ไข หรือปรับความสัมพันธ์ให้กลับคืนดีดังเดิมได้ 

"บทเรียนที่เกิดนี้ ขอให้เป็นอุทาหรณ์ที่คนไทยรัฐบาลไทยต้องระมัดระวังได้ทันท่วงทีและการแสดงออกให้ปรากฏแก่สังคมโลก ว่าอย่าได้ใช้อำเภอใจ หรือความวู่วามในการแก้ปัญหาของประเทศ ตลอดจนการพูดจาของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดปัญหาซ้ำซากเช่นนี้แก่ประเทศอีก การที่สหรัฐสั่งตัดจีเอสพีของประเทศไทย ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทนั้น น่าจะเป็นสัญญาณที่ประเทศไทยจะต้องหันมาฉุกคิด และทบทวนบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศและการค้าของไทย ว่ามีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ หรือทำให้ขัดอกขัดใจแก่ประเทศสหรัฐฯ บ้าง ก็ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำไป เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป” นายศรีอัมพร กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"