ไทยจับมืออาเซียนไม่ยอมสหรัฐประกาศลั่นใน WTO ต้องได้แต้มต่อทางการค้า


เพิ่มเพื่อน    

28 ต.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้รับรายงานจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ไวโป) ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ถึงกรณีที่สหรัฐฯได้เสนอต่อดับบลิวทีโอให้ยกเลิกการให้การปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment หรือ เอส แอนด์ ดีที) ซึ่งเป็นการให้แต้มต่อทางการค้า แก่สมาชิกกำลังพัฒนา ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ไทยและอาเซียน ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อดับบลิวทีโอ ยืนยันว่า สมาชิกประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด ยังจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษและแตกต่างจากสมาชิกประเทศพัฒนาแล้วเช่นเดิม

ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่มีความสามารถในการแข่งขัน หรือมีศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของดับบลิวทีโอที่น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น การลดภาษีนำเข้าสินค้า การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การลดการอุดหนุน ฯลฯ ที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการปฏิบัติตาม และเวลาปรับตัว ที่นานกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับการกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ สหรัฐฯ ได้เสนอให้ดับบลิวทีโอ ยกเลิกการให้เอส แอนด์ ดีที แก่ประเทศกำลังพัฒนา ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี เพราะมองว่า ควรให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เหมาะสม ไม่ใช่ให้กับทุกประเทศที่อ้างตนเป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน เกาหลีใต้ บรูไน สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งสหรัฐฯไม่ถือว่าประเทศเหล่านี้ เป็นประเทศกำลังพัฒนาอีกต่อไป

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังเสนอเงื่อนไขในการประเมินประเทศกำลังพัฒนา ที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดี ได้แก่ เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี), เป็นสมาชิกจี20 ประเทศทรงอำนาจทางเศรษฐกิจ, ได้รับการจัดลำดับจากธนาคารโลกว่ามีรายได้สูง และมีสัดส่วนการค้าสินค้าระหว่างประเทศไม่น้อยกว่า  0.5% ของการค้าโลก ซึ่งไทยเข้าหลักเกณฑ์นี้ เพราะมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศสูงกิน 0.5% ขณะเดียวกัน ยังมีอีก 34 ประเทศที่เข้าตามเงื่อนไขข้อต่างๆ

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเร่งรัดให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ประกาศรายชื่อประเทศกำลังพัฒนา ที่ไม่เหมาะสมจะได้รับประโยชน์จากเอส แอนด์ ดีที รวมถึงอาจเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่อสมาชิกให้ยอมรับการยกเลิกใช้เอส แอนด์ ดีที โดยอาจกดดันเป็นรายประเทศด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี)  ล่าสุดหลายประเทศสละสิทธิเอส แอนด์ ดีที แล้ว ทั้งบราซิล ไต้หวัน และสิงคโปร์ ส่วนเกาหลีใต้ มีแนวโน้มสละสิทธิเช่นกัน ซึ่งสร้างความวิตกกังวลแก่ภาคเกษตรของเกาหลีใต้มาก

สำหรับไทย และอีก 34 ประเทศ หากสหรัฐฯผลักดันให้ดับบลิวทีโอเลิกใช้เอส แอนด์ ดีทีได้ ก็จะไม่ได้แต้มต่อทางการค้าอีกต่อไป จากปัจจุบัน ที่ได้แต้มต่อในเรื่องการเปิดตลาด การลดภาษี การอุดหนุนสินค้าเกษตร การอุดหนุนประมง และจะส่งผลให้ทั้ง 35 ประเทศ มีสถานะในการเจรจาทางการค้าเท่าเทียมประเทศพัฒนาแล้ว และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของดับบลิวทีโอเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว แม้ไม่มีศักยภาพดำเนินการได้อย่างเท่าเทียมกันก็ตาม ดังนั้น ไทยต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว และจับตาการประกาศรายชื่อประเทศที่ไม่สมควรได้รับสิทธิของสหรัฐฯ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติของสหรัฐฯกับประเทศที่ไม่สมควรได้รับสิทธิ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"