คมนาคมสั่งหั่นค่าจอดเครื่องเช่าเหมาลำ 50% กระตุ้นท่องเที่ยว


เพิ่มเพื่อน    

29 ต.ค.2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ ทอท. ไปลดค่าจอดเครื่องบินและใช้สนามบิน (Landing &​Parking Fare) ให้กับสายการบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวไฮซีซั่น 3 เดือนนับจากนี้ เพื่อกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวม หากพบว่าสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้จะขยายเวลามาตรการดังกล่าวออกไปอีก

อย่างไรก็ตามด้านสล็อตการบินที่หนาแน่นในสนามบินหลักนั้นจะหารือกับสายการบินที่สนใจให้นำเครื่องไปลงจอดที่สนามบินภูมิภาคซึ่งใกล้เคียงกับสนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่และเชียงราย จากนั้นทอท.จะจัดรถชัตเติ้ลบัสหรือรถทัวร์เข้าไปรับส่งผู้โดยสารระหว่างสนามบินปลายทาง-สนามบินหลัก ดังนั้นการลดราคา 50% ในครั้งนี้จะครอบคลุมทุกสนามบินในประเทศไทย ถือเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยเพิ่มยอดการท่องเที่ยวในเมืองรองของประเทศได้อีกด้วย เพราะมีโอกาสที่ผู้โดยสารจะแวะท่องเที่ยวระหว่างทางมากขึ้นไม่ไปกระจุกตัวแค่ที่สนามบินหลัก

นอกจากนี้ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม เข้าไปดำเนินการดูแลเรื่องของตารางบิน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหากรณีสายการบินได้ขอตารางบิน (Slot) ในประเทศไทย แต่เมื่อได้รับการจัดสรรเวลาแล้ว กลับไม่ทำการบินตามตารางซึ่งเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ถึง 20%ของตารางบิน เน้นพิจารณาเรื่องของค่าปรับ เช่นเครื่องบิน 1 ลำมีค่าธรรมเนียมที่ทอท.จะได้ประมาณ 40,000 บาท หากไม่ดำเนินการตามตารางบินจะต้องเสียค่ามัดจำ 50%เพื่อให้มีการบริหารจัดการเที่ยวบิน และทอท.ไม่เสียโอกาสเพราะขณะนี้มีหลายสายการบินมีความต้องการที่จะบินในประเทศ

นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงปัญหาผู้โดยสารล้นสนามบินว่าปัจจุบัน ทอท.ต้องบริหารงานด้วยความสุ่มเสี่ยง เพราะปริมาณผู้โดยสารเกินขีดการรองรับไปแล้ว 40%  จากขีดการรองรับ 101 ล้านคนต่อปี แต่พบว่ามีผู้โดยสารถึง 141 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็น สนามบินนเชียงใหม่รองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคน แต่มีผู้โดยสาร 11.32 ล้านคน ท่าอากาศยานภูเก็ตรองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน แต่มีผู้โดยสาร 17.85 ล้านคน ท่าอากศยานหาดใหญ่รองรับผู้โดยสาร 2.5 ล้านคน แต่มีผู้โดยสารกว่า 4 ล้านคน ท่าอากาศสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน แต่มีผู้โดยสารกว่า 64 ล้านคน ท่าอากาศยานดอนเมืองรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน แต่มีผู้โดยสารกว่า 41 ล้านคน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ. เชียงรายรองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคน แต่มีผู้โดยสาร 2.95 ล้านคน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าส่วนกระแสข่าววว่า ทอท.จะมีการยุบท่าอากาศยานหาดใหญ่และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนนั้น นายไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จะไม่มีการยุบสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย-สนามบินหาดใหญ่ ตามที่มีการนำเสนอข่าวของสื่อบางฉบับ และมีการจัดทำแผนการพัฒนาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องไปสอบถามผู้ให้ข่าวว่า ทำไมถึงไปนำเสนออย่างนั้น เพราะสนามบินนั้นต้องพัฒนากันเป็นระยะยาว อีกทั้งสนามบินหลักของไทยประสบปัญหาผู้โดยสารล้นแล้ว การยุบสนามบินไม่ใกล้เคียงกับวิธีแก้ปัญหาเลย 

อย่างไรก็ตามสำหรับแผนการส่งมอบ 4 สนามบินภูมิภาค ได้แก่ อุดรธานี กระบี่ ตากและบุรีรัมย์นั้นยังยืนยันว่าอยู่ในขั้นตอน ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบยกให้ ทอท.บริหารเองทั้งหมด หรือการจ้างสัญญาให้ ทอท.มาบริหาร ก่อนเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป 

นอกจากนี้ยังให้ทอท. ดูเรื่องประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะเรื่อง มาตรการยกเว้นออกวีซ่าขอรับการตรวจลงตราณช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือ Visa on Arrival (VOA) ให้ทอท.ทำหน้าที่ประสานให้เป็นอีวีซ่า e-Visa ระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ และตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวได้รวดเร็วและมีความปลอดภัย โดยให้ประสานเรื่องข้อมูลด้านความมั่นคงและข้อมูลด้านอาชญากรรม รวมถึงการให้บริการของท่าอากาศยานทั้งหมดเช่น โถงคอย, ห้องน้ำและร้านอาหาร ที่ต้องมีทางเลือกให้กับผู้โดยสาร

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่าอัตราค่าจอดเครื่องบินและใช้สนามบิน (Landing &​Parking Fare) อยู่ที่ราว 10,000-60,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องและช่วงเวลาในการใช้บริการ ขณะที่ยอดเที่ยวบินเช่าเหมาลำนั้นช่วงเวลาที่ยังไม่หนาแน่นคือช่วงกลางคืน 00.00-05.00 น. โดยสนามบินหลัก 2 แห่งมีสล็อตเที่ยวบินสำหรับ Charter Flight รวมกัน 170 เที่ยวบิน/วัน แบ่งเป็น สนามบินสุวรรณภูมิ 80-100 เที่ยวบิน/วัน และ ดอนเมือง 70 เที่ยวบิน/วัน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักคือนักท่องเที่ยวชาวยุโรปตะวันออกและชาวจีน สอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่นิยมใช้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำมากขึ้นในการเดินทางมายังประเทศไทย

เมื่อเวลา 14.00 น.นายศักดิ์สยาม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้ บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)ว่ามอบหมายให้ ไปตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วย สายการบินไทย ,บริษัท วิทยุการบินฯ(บวท.) ,บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ(ทอท.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อบูรณาการในการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พยายามให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยให้กรอบเวลา 3 เดือนในการดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จ 

สำหรับแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้านบาทนั้นตนได้สั่งการให้เร่งสรุปแผนภายใน 6 เดือน หรือเร็วกว่านั้นเพราะเครื่องบินมีผลต่อการสร้างรายได้และลดการขาดทุน ตลอดจนเป็นเครื่องมือหลักในการแข่งขันกับคู่แข่ง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการบินไทยจะกลับมาเป็นเบอร์ 1 ในประเทศไทยได้ เชื่อมั่นว่าผู้บริหารชุดปัจจุบันมีความสามารถในการปฏิรูปองค์กรเพื่อเป็นสายการบินแห่งชาติที่มั่นคงอีกครั้ง

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ส่วนด้านความคืบหน้าศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทในพื้นที่อู่ตะเภานั้นขณะนี้ได้หารือกับ Airbus ได้รับความคืบหน้าไปมากแล้ว เช่นเดียวกับสัญญา RFP ที่มีการเสนอบอร์ดอีอีซีให้พิจารณาแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญากับ Airbus ได้ภายในสิ้นปีนี้

 นอกจากนี้ได้มีการมอบนโยบายให้การบินไทยไปทบทวนเกี่ยวกับเรื่องบุคลากรว่าในปัจจุบันบุคลากรที่มีอยู่ได้มีการปฎิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่และมีอะไรบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดผลประกอบการที่มีประสิทธิภาพและลดปัญหาค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ รวมถึงให้ไปพิจารณาเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ หรือสิ่งของต่างๆที่ใช้ในเครื่องบิน ว่ามีปริมาณการใช้เท่าไหร่บางอย่างสามารถเรียกคืนเพื่อให้สามารถลดต้นทุนในการประกอบกิจการได้และให้ไปพิจารณาในส่วนของการให้บริการที่มีศักยภาพหลายเรื่องที่จะต้องมีการนำไปสู่การปฎิบัติให้ได้ 

อย่างไรก็ตามขณะที่การจัดหาอากาศยานนั้นก็ได้ให้การบินไทยฯไปพิจารณาใน 2 ส่วนแบ่งเป็น 1.อากาศยานที่มีอยู่แล้วมีสถานะภาพเป็นอย่างไรมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่หากไม่เพียงพอจะต้องหาวิธีการบริหารจัดการให้สามารถนำเครื่องบินกลับมาทำรายได้ให้ได้ 2.วิธีการบริหารที่ขณะนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้แต่จะต้องทำแผนการใช้ให้สอดคล้องกับแผนบุคลากรด้วย

สำหรับสาเหตุที่แผนจัดซื้อเครื่องบินล่าช้านั้นเนื่องจากการบินไทยต้องกลับมาพิจารณาขีดศักยภาพในการใช้หนี้สิน เนื่องจากการซื้อเครื่องบินใหม่ต้องทำการกู้เงินจำนวนมาก ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องตัวเลขหนี้สินสะสมในปัจจุบันรวมถึงเรื่องเงินทุนในมือ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตามได้ฝากความมั่นใจไปให้กับผู้ถือหุ้นว่าขณะนี้การบินไทยยังคงมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับตัวเลขสภาพคล่องของบริษัทยังคงมีสุขภาพดี ส่วนคำถามที่ว่าทำไมผู้โดยสารเพิ่มและมีอัตราบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยว (Cabin Factor) มากกว่า 80% แต่รายได้ไม่เติบโตไปด้วย เพราะค่าตั๋วโดยสารนั้นแข่งขันกันมากจึงขายตั๋วได้ราคาต่ำลงเพราะต้องลดราคามาสู้กับคู่แข่ง

นายเอกนิติกล่าวอีกว่าการบินไทยต้องกลับมารื้อแผนเส้นทางบินในมือทั้งหมดเพื่อศักยภาพในการหารายได้ โดยเฉพาะตลาดเส้นทางบินเอเซียซึ่งอดีตเคยเชื่อว่าจะเป็นตลาดที่แข็งแกร่ง แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น เรื่องสงครามการค้าและการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งเส้นทางบินกรุงเทพ-ญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักถูกแย่งผู้โดยสารไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"